ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการมองหลังเลือกตั้ง “ไทย” ยังไร้เสรีภาพทางความคิด ชี้เสนอแก้ไข รธน.มาตรา 1 ทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ซัด ม.279 ยังรับรองประกาศ คำสั่ง คสช. โอนอำนาจไป กอ.รมน. ติงฟ้องร้องเป็นคดีความพบผู้เห็นต่างถูกฟ้องมาตรา 116 เพียบ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ 2560 กับการใช้อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้ง"โดยมี นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปราย 

ด้านนายพนัส กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ตนมองว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามากที่สุด และแก้ไขได้ยาก เพราะมีเงื่อนไขที่ล๊อคไว้แน่น โดยเฉพาะที่ต้องให้ ส.ว.ร่วมโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 85 เสียงขึ้นไป จึงจะผ่านวาระแรก ซึ่งหลายคนก็รู้อยู่แล้วว่า ส.ว.ชุดปัจจุบัน ก็มากลุ่มคนพวกเดียวกันเอง คงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

ขณะที่การใช้อำนาจหลังเลือกตั้ง นายพนัส มองว่าปัญหาดังกล่าว อยู่ที่ มาตรา 279 ที่ยังคงอำนาจ คสช.ทั้งประกาศและคำสั่ง ที่ยังลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวรัฐบาล ที่ไม่สามารถทำได้เลย และหากตราบใดประกาศพวกนี้ยังอยู่ ยกเลิกไม่หมด มีผลบังคับใช้ จึงไม่ต่างอะไรกับสมัยที่ยังมี คสช.อยู่เลย แม้มาตรา 44 จะหมดไป แต่ได้โอนอำนาจทุกอย่างไปให้ กอ.รมน.ทั้งหมด ที่ยังเรียกบุคคลไปรายงานตัวปรับทัศนะคติ ได้เหมือนสมัย คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 116 มาบังคับใช้ โดยการตีความกฏหมาย ในทางขยายความเพื่อดำเนินคดี กับการกระทำที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดด้วย ทั้งนี้โดยมีเจตนาเพื่อเป็นการปิดกั้นการวิพากวิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง  

พร้อมกันนี้ ยังมองว่ากรณีที่พรรคฝ่ายค้านถูกฟ้องร้องมาตรา 116 เพื่อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 นั้น เรื่องนี้ มองว่ามาตรา 1 สามารถแก้ไข ได้ ตัวอย่างเช่น แก้ไขเพิ่มเติมว่า การกำหนดให้มีเขตปกครองพิเศษตามความเหมาะสมทางวัฒนธรรมประเพณี หรือชาติพันธ์วรรณาของภูมิภาค ไม่ถือว่าเป็นการแบ่งแยกราชอาณาจักร 

ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี มองว่า ยังมีการฟ้องผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย รัฐธรรมนูญ มาตรา 116 จากสถิติของไอลอว์รวบรวมไว้ ก่อนและหลังเลือกตั้ง คดีที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่กว่า 20 คดี เป็นที่คดีที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์ คสช. ทั้งนั้น เช่น คดีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องผลกระทบหลังปฏิวัติ หรือคดีนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ที่ไปชุมนุมเรียกร้องคัดค้านการรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกดำเนินคดี พร้อมกันนี้มองว่า เสนอให้แก้ไขกฏหมายไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่เช่นนั้น ส.ส.ที่เสนอให้แก้ไขกฏหมายก็ต้องถูกจับกุมทั้งหมด และการที่ประชาชนลุกขึ้นสู้กับระบอบทหารก็ไม่ใช้เรื่องที่ผิด มาตรา 116 ด้วย 

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่การใช้อำนาจหลังเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป ทั้งการฟ้องร้อง การกล่าวหานักการเมือง ยังมีอยู่เรื่อยๆ หลังการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกที่จะมีคนถูกฟ้องในมาตรา 116 ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่ยังปฏิเสธรับฟังความเห็นจากผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ที่เป็นกลไกลทางการเมืองของกองทัพ และมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายมวลชนเพื่อคงไว้ความเป็นอนุรักษ์นิยมให้ได้ และกลไกลนี้เติบโตเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน มุมมองคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเมืองที่เปลี่ยนไปมาก รวมถึงการใช้โซเซียลมีเดียที่ตอบโต้อย่างรุนแรง เกิดเป็นไวรัล อย่างกรณีของผู้บัญชาการทหารบกที่ออกมาบรรยาย และปัจจุบันรัฐเองไม่ได้ผู้ที่ผูกขาดกับสื่ออีกต่อไป จึงทำให้เกิดการสะท้อนแนวนิดของแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้ที่อนุรักษ์นิยม เริ่มกลับไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว พร้อมทั้งขอบคุณฝ่ายค้านที่ออกมาต่อสู้ ช่วงหลังเลือกตั้งไปแล้ว ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพมาตลอด รวมถึงสื่อมวลชลบางแขนงที่นำเสนอเรื่องสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นด้วย