ไม่พบผลการค้นหา
นอกจากพวงมาลัย เรือนไมล์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์แล้ว ‘วัตถุเสริมสิริมงคล’ หรือ ‘เครื่องราง’ ในการเดินทาง ก็เข้ามาเป็นส่วนประกอบบนแผงคอนโซลของรถยนต์จำนวนมาก บ้างก็แค่พระเครื่ององค์เดียว บ้างก็หอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่าครึ่งร้อยมาประโคมใส่ให้เอิกเกริก แตกต่างกันออกไปตามแรงศรัทธา และความนิยม

เพื่อคลายความสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิม ที่กลมกลืนกับยานพาหนะรุ่นใหม่แบบไร้รอยต่อ Voice On Being จึงเดินทางไปพูดคุยกับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสอบถามความเป็นมา ความแตกต่าง วิธีใช้งาน และทิศทางในอนาคต

7.jpg
  • คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยานพาหนะมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ 

คมกฤช : ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ความเชื่อเรื่องศาสนาผีมีมานานแล้ว และความเชื่อเรื่องยานพาหนะมีผีสิงสถิตอยู่ ก็เหมือนกันคนโบราณที่นับถือ ‘แม่ย่านาง’ ไม่พูดจาลบหลู่ ไม่ขึ้นไปเหยียบหัวเรือ ตลอดจนผูกผ้าหลากสีแสดงความเคารพ

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 มีการบันทึกว่า พระองค์นำท้าวหิรัญพนาสูร หรือท้าวหิรัญฮู มาวางไว้บนรถยนต์พระที่นั่ง ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกๆ ว่ามีการนำรูปเคารพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปไว้ในรถยนต์

จากนั้น พอชาวบ้านมีรถยนต์มากขึ้นความกลัวอุบัติเหตุก็ผนวกกับความเชื่อเดิมอย่าง ‘แม่ย่านาง’ จึงนิยมนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปไว้บนรถด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปลอดภัยในการเดินทาง 

ประเทศไทยไม่ได้เป็นสังคมเดียวที่นิยมนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสักการะบนยาพาหนะ ไม่ว่าฝั่งตะวันตก ตะวันออก หรือศาสนาไหนๆ ล้วนแต่มีวัฒนธรรมนี้ อย่างศาสนาคริสต์อาจจะป็นรูปนักบุญ ถ้าไปที่อินเดียรถของคนฮินดูรถยนต์มีเทวรูปขนาดเล็กวางไว้เกือบทุกคัน


แม่ย่านางค่อนข้างจะเป็นตัวแทนของความกลัว ซึ่งผิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบันที่กราบไหว้ เพราะต้องการความคุ้มครองหรือเปล่า 

คมกฤช : เดิมเราเป็นวัฒนธรรมผี ความเชื่อเรื่องผีแทรกซึมอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของชีวิต แต่ความศักดิ์สิทธิ์แบบผีจะให้คุณหรือโทษก็ได้ ชาวเรือและคนที่เชื่อเรื่องผีจะไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ ไม่ข้ามไม่เหยียบหัวเรือเ พราะมีความกลัวแฝงอยู่

ปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีลดลง แต่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังพุทธ และพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาที่มาทีหลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์รุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูปของเทวดา หรือพระเครื่องก้าวมาอยู่เบื้องหน้า แต่ระบบความเชื่อต่างกันทำให้ไม่เกิดความกลัวเหมือนศาสนาผีเป็นการสะท้อนว่า ความเชื่อแบบเดิมไม่ได้หายไปแต่เข้มข้นน้อยลง

2.jpg
  • วิชิต เปลี่ยนธนูวงศ์ เจ้าของแผงพระย่านท่าพระจันทร์วัย 68 ปี บอกกับ Voice On Being ว่าพระที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับการบูชาในรถยนต์คือ หลวงพ่อทวด สมเด็จโต และพระพุทธชินราช โดยวิชิตมองว่า วัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจและช่วยให้แคล้วคลาด
3.jpg
  • พระเครื่องที่เจ้าของแผงพระห้อยติดตัว
ถ้าพูดถึงความปลอดภัยในการเดินทาง การห้อยพระกับตัวกัยการวางพระหน้ารถมันต่างกันตรงไหน 

คมกฤช : ในเชิงความเชื่อการห้อยพระเป็นลักษณะของการคุ้มครองส่วนตัว ครอบคลุมเฉพาะเราคนเดียว ถ้านั่งไปด้วยกันไม่รู้ว่าคนอื่นจะรอดไหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนรถสามารถคุ้มครองได้ทั้งคันจะเป็นรถบัส หรือรถเก๋งก็คุ้มครองได้ ระบบความเชื่อแบบผีคือ ต้องมีที่สถิตย์ เมื่อคุณต้องการให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของรถก็ควรจะตั้งอยู่ในรถ 


ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงมีสายเฉพาะทางเช่น พระเครื่องสำหรับการเดินทางต้องเป็นหลวงปู่ทวด หรือหน้าที่การงานต้องเป็นอีกหลวงพ่อจากอีกวัดหนึ่ง

คมกฤช : ระบบการศึกษาของพระสงฆ์สมัยก่อนจะเข้าไปเรียนตามสำนักที่มีความถนัดต่างกัน ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง หรือเขตที่โจรผู้ร้ายชุกชุม ก็จะมีความแพร่หลายของไสยศาสตร์ประเภท ‘คงกระพันชาตรี’ เพราะเกิดการต่อสู้บ่อยครั้ง

ปัจจุบันค่านิยมในการต่อสู้ของลูกผู้ชายเปลี่ยนไป ในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ไสยศาสตร์ยอดฮิตมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือความรัก และความร่ำรวย

การเลือกวัตถุมงคลมาสักการะบนยานพาหนะมักจะเป็นเกจิอาจารย์ที่ถนัดด้านการป้องกัน หรือคงกระพันชาตรี เพราะถ้าเป็นเมตตามหานิยมก็คงจะเป็นฟังก์ชันที่ไม่เข้ากัน 


ทำไมเกจิอาจารย์ในยุคปัจจุบันถึงไม่มีชื่อเสียงด้านไสยศาสตร์ เหมือนสมัยก่อน 

คมกฤช : พุทธศาสนิกชนต้องการเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนามากขึ้น พระที่ทำไสยศาสตร์จึงไม่เป็นที่ยอมรับ และชาวพุทธรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมทำให้พุทธศาสนาแปดเปื้อน และไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีสาระแก่นสาร เกจิอาจารย์ที่ยังมีชื่อเสียงอยู่จึงเป็นรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยวงการพระเครื่อง ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือนอกจากไสยศาสตร์จะลดลงแล้วยังย้ายไปสู่ระบบฆราวาสมากขึ้น 


สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งไว้หน้ารถเกี่ยวข้องกันบทสวดที่ใช้เวลาเดินทางด้วยหรือเปล่า 

คมกฤช : วิธีใช้ไสยศาสตร์จะมีอยู่ 2 ประเภท แบบแรกคือ ใช้ด้วยตัวเอง เช่น การสวดมนตร์คาถา หรืออาคม อีกแบบคือ การใช้ผ่านวัตถุมงคล วิธีการก็มีตั้งแต่วางไว้ในที่ๆ เหมาะสมและมีอุปเท่ห์ หรือวิธีใช้เล็กน้อย ผมคิดว่าคนสมัยก่อนเน้นไปที่การเรียนรู้วิธีใช้ด้วยตนเอง ต่างกับรุ่นใหม่ที่มีความง่ายของระบบตลาด และการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราไม่อยากยุ่งยากกับการใช้ไสยศาสตร์แบบเก่าอีกแล้ว 

5.jpg
  • อดุลยา สมสะอาด พนักงานขับแท็กซี่วัย 60 ปี บอกว่า วัตถุมงคลที่ตนเองนับถือเป็นสายเมตตามหานิยม เช่น รกแมว กบเทวดา หรือพระพิฆเนศ เพื่อให้มีรายได้ และผู้โดยสารที่ดี ส่วนสายอยู่ยงคงกระพันไม่นิยม เพราะส่วนตัวไม่ได้ไปหาเรื่องกับใคร 
6.jpg
  • วัตถุมงคลส่วนหนึ่งในรถยนต์ของอดุลยา
ทั้งที่ไสยศาสตร์เสื่อมความนิยมลง ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งไว้กับรถยังคงอยู่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า

คมกฤช : เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่ระบบความคิดความเชื่อไม่เปลี่ยนตาม เราเจริญก้าวหน้าทางด้านความรู้ แต่ไม่ได้ผลิตความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สร้างกระบวนการวิเคราะห์ ไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์​ ทุกอย่างจะกลับตาลปัตรจากที่เคยเข้าใจ ความเจริญทางวัตถุไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับความเชื่อ แต่ช่วยสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นในอนาคตวัตถุมงคลก็จะยังคงอยู่แบบนี้แหละ


ข้อดี ข้อเสีย ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงจะคล้ายกับศาสนา คือเป็นเรื่องของการยึดเหนี่ยวจิตใจหรือเปล่า

คมกฤช : ถ้ามองเชิงฟังก์ชั่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจจะมีประโยชน์ถ้าสามารถช่วยให้ผู้ที่เคารพมีสติ แต่ถ้าเกิดมีแล้วสบายใจจนไม่โฟกัสกับการเดินทางอาจจะเป็นอันตรายก็ได้ สุดท้ายแล้วมันตอบยากว่ามีประโยชน์ หรือโทษ ความเชื่อของปัจเจกบุคคลเป็นสิทธิ์ในสังคมสมัยใหม่ 


ในสังคมตะวันตกที่ถูกยกให้เป็นตัวแทนของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ศาสนามีอยู่ หรือหายไป

คมกฤช : ปัจจุบันสัดส่วนของคนที่นับถือ และไม่นับถือศาสนาในโลกตะวันตกมีจำนวนพอๆ กัน เพียงแต่โลกที่เป็นประชาธิปไตย หรือสังคมที่ทันสมัยไม่ได้แปลว่าจะต้องปฏิเสธความเชื่อ ตราบใดที่ไม่ได้ลิดรอนสิทธิของผู้อื่น และไม่ผิดกฎหมายก็เป็นสิทธิ์ที่จะเชื่ออย่างไรก็ได้ 

ต่างกับประเทศไทยที่ยังไม่ก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เวลาคิดอะไรที่สุดโต่ง และอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะถูกบีบให้หายไป

วัฒนธรรมอำนาจนิยมในบ้านเราบังคับให้คุณต้องเลือกข้าง คุณเชื่อก็ต้องทำลายคนที่ไม่เชื่อ จนไม่เหลือพื้นที่ให้ยืนร่วมกัน
4.jpg
  • รุ่งฤดี แซ่ตั้ง เเจ้าของแผงเช่าพระที่เปิดมานานกว่า 20 ปี บอกว่า ลูกค้าส่วนมากจะประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ และพนักงานขับรถ รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นก็มาที่ร้านเป็นประจำ และมักจะนำไปปล่อยเช่าออนไลน์อีกต่อหนึ่ง
8.jpg
  • พระเครื่องในแผงเช่าพระของรุ่งฤดี
ชนชั้นกลางกำลังเฟื่องฟูในกิจการวัตถุมงคลหาใช่ชาวรากหญ้า 

คมกฤช : สมัยนี้ชนชั้นกลางเป็นลูกค้าหลักของตลาดวัตถุมงคล ไม่ว่าจะสายฆราวาส หรือสายออนไลน์ ไม่ใช่กลุ่มคนรากหญ้า แม้พวกเขาจะอาศัยอยู่ในชุมชนทางศาสนา และหน้าที่หนึ่งคือ การสืบทอดความเชื่อเหล่านั้นก็ตาม สิ่งนี้คือปรากฏการณ์น่าสนใจ

เมื่อชนชั้นกลางถูกดึงออกมาจากสังคมศาสนา และอยู่แบบปัจเจกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่มั่นคงอะไรสักอย่างเลยแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวช่วย

อย่างที่บอกว่า ไสยศาสตร์แฝงอยู่กับศาสนาผี พวกเราคิดว่ามากันไกลมากจากโลกโบราณ ละไม่ได้พึ่งความเชื่อผีอีกแล้ว ผมกลับเห็นตรงกันข้ามว่า เราน่าจะไปทางผีกันมากกว่าเดิมเสียอีก