ไม่พบผลการค้นหา
'มัลลิกา' จี้พาณิชย์ชง ครม. สั่งคลังเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี-ข้าวบาเลย์ หลังจากละเว้นมานาน 5 ปี ท้วงนายกฯ หยุดชี้นิ้วสั่งเกษตรกรปรับตัวโดยไม่รู้ขัอเท็จจริง ฟาก กระทรวงพาณิชย์-คลัง-เกษตรฯ หาทางทบทวนอัตราภาษี ลดผลกระทบเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน กล่าวว่า วันนี้เห็นความกระตือรือร้นของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ต่อกรณีที่ประเทศจีนเพิ่มการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศโดยหนึ่งในนั้นคือข้าวส่งออกจากไทย เท่ากับว่ามีการจัดเก็บเป็นร้อยละ 50 โดยศุลกากรจีน 

กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่าง ตามที่ได้เรียกร้องมาตลอดนั่นคือเปรียบเทียบช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมารวมถึงปัจจุบัน ประเทศถูกบริหารโดย 2 รัฐบาลคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ละเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากประเทศอื่น โดยเฉพาะข้าวสาลีและล่าสุดมีการนำเข้าข้าวบาเลย์มาเพิ่มอีก ทั้งหมดเป็นพืชทดแทนข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์

นางมัลลิกา ยืนยันว่า รัฐบาลก่อนหน้านางสาวยิ่งลักษณ์ได้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลีจาดโครเอเชียหรือประเทศอื่นๆ ร้อยละ 27 มาตลอด แต่มายกเลิกในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 เพื่อประโยชน์ขอบคุณเจ้าสัวนายทุนอาหารสัตว์จนถึงปัจจุบันนี้ โดยกลุ่มนายทุนอ้างว่าการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอและล่าสุดปี 2561 ย่ามใจถึงขนาดนำเข้าข้าวบาเล่ย์ โดยไม่มีการรายงานคณะรัฐมนตรีด้วย เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีรับรู้หรือไม่ 

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า เพื่อความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเกษตรกรด้วยความจริงใจ จึงเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้ 1.ต้องจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศตามเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ทั้งนี้ เพื่อเก็บเป็นรายได้แผ่นดินและความเป็นธรรมต่อเกษตรกรในประเทศ 2.จัดเก็บภาษีนำเข้าเพื่อแสดงภาวะความเป็นผู้นำที่มีธรรมาภิบาลเนื่องจากประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ก็มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากประเทศอื่นโดยข้าวสาลีจัดเก็บตั้งร้อยละ 35 และเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นประธานจัดประชุมอาเซียน 3.ส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังนาอย่างเต็มกำลังเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการผลิตอาหารสัตว์และเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร และ หมดข้ออ้างของกลุ่มอาหารสัตว์ 

พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรหยุดชี้นิ้วสั่งไปที่เกษตรกรให้ปรับตัวโดยที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเท่าทันกลุ่มนักธุรกิจเครือเจ้าสัวที่รังแต่จะเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร 

"ตรรกะง่ายๆ คือถ้าต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก หรือเดินหน้าส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาเมื่อปริมาณครบเป็นไปตามต้องการก็ยกเลิกการนำเข้าพืชทดแทนที่จะผลิตอาหารสัตว์ด้วยซ้ำ ยืนยันว่าการจะทำมาหากินในประเทศนี้ ต้องดูแลให้ความเป็นธรรมกับคนภายในประเทศไม่ใช่รังแต่จะนำเข้าพืชประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นที่ถูกกว่าอย่างเดียว" นางมัลลิกา กล่าว

พาณิชย์-คลัง-เกษตร รับมอบนโยบายตามมติ ครม. ทบทวนอัตราอากรนำเข้าข้าวสาลี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เคยกล่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า ไทยได้ผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) ภายใต้ WTO อัตราอากรตามราคา (Ad Valorem +rate) ร้อยละ 27 มาตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาได้มีการลดอัตราอากรข้าวสาลีมาตามลำดับตั้งแต่ ปี 2542, 2546 และ 2550 โดยเมื่อ ม.ค. 2550 ลดอัตราอากรตามสภาพ (specific rate) จาก กิโลกรัม ละ 2.75 บาท เหลือ กิโลกรัมละ 0.1 บาท 

จนกระทั่ง วันที่ 12 ก.ย. 2550 กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการปฏิรูปภาษีศุลกากร ออกประกาศยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลี เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากสินค้าข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร (ใช้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูป และขนมปัง ขนมเค้ก เป็นหลัก) และไม่มีการเพาะปลูกในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ

โดยขณะนั้นยังไม่มีการแยกพิกัดข้าวสาลีที่เป็นอาหารคนกับอาหารสัตว์ จึงเป็นการลดภาษีวัตถุดิบทั้งหมวด ประเทศไทยจึงไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากข้าวสาลีมาตั้งแต่ปี 2550 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2555-2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวมทุกชนิด (สำหรับอาหารคนและสัตว์) ปริมาณ 17.8 ล้านตัน มูลค่ารวม 153,126 ล้านบาท และเฉพาะข้าวสาลี สำหรับผลิตอาหารสัตว์ (พิกัด 10019990000) มีการนำเข้า 11.8 ล้านตัน มูลค่า 91,793 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดย กรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีข้าวสาลี ในอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการศึกษาเพื่อพิจารณาผลดีผลเสียของการขึ้นภาษีนำเข้าให้รอบด้าน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ที่ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ ในการกำหนดอัตราอากรข้าวสาลีที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน ภายใต้พันธกรณีกับ WTO หรือพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและพืชอื่นที่เกี่ยวข้องในประเทศ

ภาพจาก Photo by Christina Warner on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :