ไม่พบผลการค้นหา
บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปีล่าสุด ที่มี 'นายพล' สูงถึง 935 คน สร้างคำถามขึ้นมาอีกครั้งว่า กองทัพไทยมีจำนวนนายพลมาเกินไปหรือไม่ นำไปสู่เสียงเรียกร้องจากหลายๆ ฝ่าย ให้ปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนนายพล ให้คงไว้เท่าที่จำเป็น เพราะมีมากไปก็สิ้นเปลืองงบประมาณ

ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปในนายพลกว่าพันคนที่ถูกแต่งตั้งใหม่-โยกย้ายตำแหน่ง มีตำแหน่ง 'ผู้ทรงคุณวุฒิ' 'ผู้ชำนาญการ' 'ที่ปรึกษา' มากถึงร้อยละ 40

ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ รู้กันดีว่า ไม่ใช่ตำแหน่งหลัก แม้บางคนจะถูกขอตัวไปช่วยราชการ แต่โดยมาก หากไม่ได้รับมอบหมายภารกิจอะไรเป็นพิเศษ ก็จะ “ไม่มีงานทำ”

มีการประเมินกันว่า กองทัพไทยมีนายพลอยู่ราว 1,500 นาย โดย 'กว่าครึ่ง' ไม่มีตำแหน่งหลัก ไม่มีงานทำที่ชัดเจน

หากย้อนไปดูช่วงสิบปีหลัง บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร จะมีรายชื่อนายทหารระดับนายพลเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นถึงกว่า 'สองในสาม' แล้ว

ปี 2552 – 568 คน

ปี 2553 – 530 คน

ปี 2554 – 584 คน

ปี 2555 – 811 คน

ปี 2556 – 861 คน

ปี 2557 – 1,092 คน

ปี 2558 – 831 คน

ปี 2559 – 798 คน

ปี 2560 – 990 คน

ปี 2561 – 935 คน

ทั้งๆ ที่ ในแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่ คสช. ตั้งคนขึ้นมาจัดทำเอง และเพิ่งประกาศใช้ต้นปีที่ผ่านมา ก็มีข้อเสนอว่า ให้ลดจำนวนคนภาครัฐทุกประเภทในภาพรวมลงร้อยละ 10 ภายในห้าปี เพื่อให้กำลังคนของภาครัฐมีขนาดที่พอเหมาะ

แต่นายพลของกองทัพ กลับโตสวนทาง

กองทัพบก กองทัพ ทหาร N80B.jpg

หลังจากกองทัพชี้นิ้วไปให้ภาคส่วนต่างๆ ปฏิรูปตัวเองมาสี่ปีเศษ ในโอกาสนี้ หลายฝ่ายจึงชี้นิ้วเรียกร้องให้กองทัพปฏิรูปตัวเองบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่ลดจำนวนนายพลที่มีมากเกินไปเท่านั้น ยังรวมถึงลดขนาดกองทัพ ปรับเปลี่ยนวิธีเกณฑ์ทหาร ลดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น และเพิ่มความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในค่ายทหาร

วาระ 'ปฏิรูปกองทัพ' จึงถูกหยิบขึ้นมาพูดบนกระดานการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในห้วงที่การเลือกตั้งใกล้จะมาถึง

พรรคอนาคตใหม่ หยิบข้อมูลมานำเสนอว่า ปัจจุบันไทยมีทหารประจำการ 3.3 แสนนาย มากกว่าฝรั่งเศส (2.5 แสนนาย) อังกฤษ (1.9 แสนนาย) และเยอรมนี (1.7 แสนนาย) หากลดขนาดกองทัพให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ ก็น่าจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณที่จะให้กระทรวงกลาโหมไปได้ถึง 1.6 แสนล้านบาท สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มเบี้ยคนชราเป็นคนละ 1,600 บาท/คน/เดือน ได้

พรรคเพื่อไทย ถึงขนาดชูเป็น 'ภารกิจเร่งด่วน' หลังเลือกตั้ง 1.จะปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดที่เหมาะสม 2.ทำกองทัพให้ทันสมัยพร้อมรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ 3.ให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่ตรงตามภารกิจ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ใครจะเป็นเจ้าภาพในการเริ่มปฏิรูปกองทัพ? และกองทัพจะยอมให้คนนอกเข้ามาปฏิรูปหรือ?

ที่ผ่านมา กองทัพในยุค คสช.ก็จะอ้างอยู่เสมอๆ ว่า ได้ปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว เช่น เรื่องจำนวนนายพล ก็จะลดลงอย่างชัดเจนในปี 2571 (อีกแค่สิบปีเอง ทำไมรอไมได้?) เรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ทำอย่างโปร่งใสโดยตลอด เรื่องการลดกำลังพลในภาพรวมก็ทำอย่างต่อเนื่อง ทำตั้งแต่โรงเรียนนายร้อยเลยนะ

ส่วนภารกิจที่จะให้กองทัพมีหน้าที่แค่ป้องกันประเทศอย่างเดียว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ยืนยันว่า ทหารไทยเป็น 'ทหารอาชีพ' เพียงแต่ภารกิจของทหารไทย ไม่เหมือนต่างชาติ ที่แค่ป้องกันประเทศ แต่ของเรามีหน้าที่พัฒนาประเทศด้ว

ด้วยคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์นี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ในยุค คสช. จะมีคนจากกองทัพเข้าไปแทรกอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี-แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ผ่านการแต่งตั้ง ส.ว.ที่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผ่านการตั้งคนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ มากมาย ทั้งที่บางชุดไม่ได้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้าน 'ความมั่นคง' เสียด้วยซ้ำ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง จะมีลักษณะเป็น Military Guarded Authoritarianism คือแม้กองทัพจะสั่งคนอื่นให้ซ้ายหัน-ขวาหัน ไม่ได้อีกแล้ว แต่ก็ยังมีบทบาทสูงอยู่

ไม่รวมถึงว่า ลักษณะการเดินเกมการเมืองของพรรคที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง -อย่างพรรคเพื่อไทย ที่เน้นการประนีประนอม มองแต่ประโยชน์ระยะสั้น ไม่กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพราะหวั่นจะเผชิญหน้ากับกองทัพตรงๆ ซึ่งเคยมีตัวอย่างสมัยเป็นรัฐบาลปี 2554-2557 ที่มีคนในพรรคบางส่วนเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มรดกของ คมช. ที่ทำให้กองทัพสามารถแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพกันเอง แต่ที่สุด 'ผู้ใหญ่' ภายในพรรคบางคนก็ไม่เอา เลือกเกี้ยเซี้ย และปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็น ผบ.ทบ. จนเกษียณ

และผลก็ออกมาอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

นี่ขนาดแก้ไขกฎหมายที่ง่ายกว่าปรับลดจำนวนนายพล ลดขนาดกองทัพ หรือเปลี่ยนวิธีเกณฑ์ทหาร เสียด้วยซ้ำ ยังทำไม่ได้-ไม่กล้าทำ

ส่วนตัวจึงไม่คิดว่า ที่ออกมาฮึ่มๆ กันว่าจะปฏิรูปกองทัพ ถึงที่สุดแล้ว จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงมากน้อยแค่ไหน เพราะบางพรรคก็อาจจะได้เสียงน้อยเกินไป ส่วนบางพรรคก็ไม่รู้จะสรุปบทเรียนที่ผ่านมาแค่ไหน หรือยังจะเล่นเกมการเมืองแบบเดิมๆ อาศัยรักษาอำนาจชั่วครั้งชั่วคราวต่อไป

อีกความยากก็คือ การจะรื้อถอนอำนาจกองทัพให้พ้นไปจากการเมืองจริงๆ จะต้องเริ่มด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า มีการวางกลไกไว้ให้แก้ไขยากมากๆ (เอาแค่ต้องอาศัยเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.แต่งตั้งด้วย ก็ยากแล้ว)

บทความนี้จึงเป็นทั้งทั้งการวิเคราะห์และการท้าทาย ให้บรรดานักการเมืองที่สัญญาว่าจะ 'ปฏิรูปกองทัพ' เมื่อเข้าไปมีอำนาจแล้ว ทำตามสัญญาที่ว่าไว้อย่างเต็มที่

ไม่เช่นนั้น ทุกๆ ปี เราก็จะได้แต่มาบ่นเบื่อเมื่อถึงเวลาแต่งตั้งโยกย้าย แล้วเห็นรายชื่อนายพลจำนวนเป็นพัน (ที่กว่าครึ่งไม่มีงานทำ) เห็นข่าวกระทรวงกลาโหมได้งบเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นข่าวทหารเกณฑ์ถูกธำรงวินัยจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ฯลฯ หรือเห็นอีกสารพัดข่าวเชิงลบเกี่ยวกับกองทัพ แล้วรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แต่ก็ทำไม่ได้ 

เพราะตัวแทนที่เราเลือกเข้าไป ทำอะไรน้อยมาก หรือไม่ได้ทำอะไรเลย

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog