ไม่พบผลการค้นหา
“เมื่อเธออ่าน เธอมองเห็น” คุยกับพลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักอ่าน และนักเขียนปิดตา ที่มองเห็นได้ด้วยจินตนาการผ่านหนังสือ

เป็นเรื่องยากจะจินตนาการว่า การอ่านสำคัญกับผู้พิการทางสายตาอย่างไร โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกอุดมด้วยเทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงความรู้ในสื่ออื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย วิทยุ และรายการพอดแคสต์บนอินเทอร์เน็ตก็มีมากมายจนอดสงสัยไม่ได้ว่า หนังสือเสียง และหนังสือเบรลล์ ยังคงจำเป็นอะไรต่อผู้ที่มีดวงตาพิการ แต่พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักอ่านผู้ปิดตามาตลอดทั้งชีวิตมองต่างออกไป และเห็นคุณค่าที่สายตาของเรามองไม่เห็น

“พอเราอ่านหนังสือ เรามองเห็น” เธอบอกเราแบบนั้น

หากคุณพบกับพลอยก็จะสัมผัสได้ว่า ดวงตาที่มองไม่เห็นไม่สามารถขัดขวางเธอจากการทำสิ่งที่รัก พลอยเป็นผู้หญิงมากความสามารถ เธอเล่นกีตาร์ วาดรูป เดินทาง และเขียนหนังสือได้ โดยเธอออกหนังสือมาแล้วสองเล่มกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ คือ ‘จนกว่า เด็กปิดตา จะโต’ และ ‘ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี’ อีกทั้งยังเรียนปริญญาโทอยู่ในคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางทีการมองไม่เห็นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาแท้จริงอาจเป็นความไม่เข้าใจของสังคม ว่าสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถพึ่งพา และพัฒนาตัวเองได้คืออะไร

ท่ามกลางบรรยากาศของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 ทีม Voice On Being จึงตัดสินใจชวนพลอยมาพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจว่า หนังสือมีคุณค่ากับผู้ที่มองไม่เห็นอย่างไร?




vlcsnap-2018-10-18-12h44m26s921.png

เมื่อสิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา

เสียงพลิกหน้ากระดาษตามมาด้วยเสียงหัวเราะทำให้พลอยในวัยเด็กเริ่มสงสัยว่า พี่สาวกำลังทำอะไรอยู่ ทำไมจึงสนุกได้ทั้งที่นั่งเฉยๆ เธอจึงถาม และได้คำตอบว่า พี่สาวกำลังอ่านหนังสือ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอรู้สึกว่า ในสิ่งที่เรียกว่าหนังสือจะต้องมีอะไรที่น่าสนุก และน่ารู้อยู่

การเข้าถึงหนังสือของพลอยเต็มไปด้วยเงื่อนไข หนังสือเบรลล์ตามห้องสมุดนั้นมีจำกัด และสมัยก่อนหนังสือเสียงก็ยังมีไม่มาก

“ตอนเราขึ้น ม.1 ก็ไม่มีหนังสือเบรลล์ให้อ่านแล้ว เพราะไปเรียนร่วม มันเป็นโรงเรียนปกติที่มีแต่หนังสือปกติ ไม่มีคนมองไม่เห็นอยู่ในนั้น ก็ไม่มีอะไรเลยให้เราอ่าน ไม่มีหนังสือเบรลล์ ไม่มีหนังสือเสียง มันมีห้องสมุด แต่เราก็อ่านไม่ได้สักเล่ม ความรู้สึกเราตอนนั้นคือ หนังสือเสียงมันหาฟังยาก ไม่ค่อยมีหนังสือเสียงให้เราฟัง เพราะฉะนั้นเราจะฟังทุกอันที่มันมีอยู่” พลอยเล่า




พลอย2.jpg
  • พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักอ่านผู้มองไม่เห็นด้วยดวงตา

โลกการอ่านของพลอยเปิดกว้างขึ้นเมื่อพ่อของเธอยืมหนังสือเสียงจากห้องสมุดของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยมาให้ จึงได้พบว่าหนังสือมีหลากหลายประเภท และยิ่งสนใจในหนังสือมากยิ่งขึ้น พลอยได้อ่านทั้งเรื่องราวที่สมจริงอย่างความยากลำบากจากภัยธรรมชาติ รวมถึงเรื่องแต่งแฟนตาซีอย่างแฮรี่ พอตเตอร์

“หนังสือมันทำให้เรารู้ด้วย แล้วก็ได้จินตนาการด้วย คือรู้ในส่วนที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่น เราเรียนหนังสืออยู่ เราก็จะไม่รู้มาก่อนว่าชีวิตของคนที่ทำงานแล้วเป็นอย่างไร เราอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เราจะไม่รู้ว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดจะเป็นอย่างไร เขาเจออะไรบ้าง แต่ละวันเขาเรียนยังไง โรงเรียนเขาเหมือนโรงเรียนเราไหม พออ่านหนังสือมันทำให้เราได้รู้ตรงนี้เพิ่มขึ้น มีข้อมูลเชิงข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นในส่วนที่เราไม่ได้มีประสบการณ์เอง

“ในขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รู้จักจินตนาการเพิ่มขึ้นจากอย่างลอร์ดออฟเดอะริง มีฮอบบิต มีมังกร มันเลยเหมือนเป็นพื้นที่ที่เราได้เรียนรู้ที่จะจินตนาการ เราได้เห็นจินตนาการของคนอื่นว่าเป็นยังไงด้วย”


ความพิเศษที่มีเฉพาะในหนังสือ

แม้จะมองไม่เห็น แต่ปัจจุบันผู้ดวงตาพิการก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เล่นเฟซบุ๊ก และใช้แอปฯ ต่างๆ ได้ด้วยโปรแกรมอ่านหน้าจอ ในเมื่อข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ด้วยสื่ออื่น รายการสาระบันเทิงในพอดแคสต์ก็มีอยู่มากมาย เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมหนังสือยังสำคัญอยู่อีก ทว่าหลังจากได้คุยกับพลอยถึงพบว่า ภาษาการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปของพอดแคสต์ หรือคลิปวิดีโอมีผลต่อคนที่มองไม่เห็นอย่างมาก

การบรรยายกิริยาท่าทางยังคงจำเป็น หนังสือคือสิ่งที่ทำให้เห็นภาพได้ด้วยภาษา ส่วนคลิปวิดีโอไม่ได้ใส่ใจกับการบรรยายสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยภาพอยู่แล้ว และการเล่าเรื่องในพอดแคสต์เองก็ขาดในสิ่งที่หนังสือมีนั่นคือ ภาษาท่าทางในการสื่อสาร

“ส่วนหนึ่งที่เราเห็นจากหนังสือคือ ปฏิกิริยาต่างๆ ด้วยความที่เราไม่เห็น เราก็จะไม่รู้เรื่องของท่าทาง ความหมายของภาษาท่าทาง เช่น การพยักหน้าคืออะไร แสยะยิ้มเป็นยังไง การที่เขายักไหล่ หรือการที่เขาหันหน้าไปทางอื่น มันสื่อถึงความรู้สึกอะไร อารมณ์อะไร แต่ถ้าไปอ่านหนังสือเราก็จะเข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ได้เข้าใจความหมายของท่าทางเพิ่มมากขึ้นจากภาษาในหนังสือ อย่างมองค้อนคืออะไร เพราะว่าพอเราไม่เห็น เราก็ไม่ได้ค้อน แล้วเราก็ไม่ได้เห็นคนอื่นค้อน พอเราอ่านหนังสือเราเห็นอะ เรารู้ว่า อ๋อ มันมีกิริยานี้ แล้วกิริยานี้มันแปลว่าอย่างนี้ แล้วก็เอามาใช้ในชีวิตจริงได้ ถ้าเกิดเพื่อนบอกว่าเฮ้ยคนนั้นมองค้อนเรา เราก็จะนึกออกแล้วว่าคืออะไร

“พออ่านจากหนังสือแล้วมันก็ทำให้เราได้รู้ว่ามีกิริยาอีกหลายๆ อย่างที่เราไม่รับรู้ในชีวิตจริงๆ แต่เรารู้ด้วยหนังสือก็เข้าใจมันได้ด้วยหนังสือ”


หนังสือเสียง หนังสือเบรลล์ กับประโยชน์ที่แตกต่าง

สำหรับนักอ่านผู้มองไม่เห็นแล้ว หนังสือเสียง และหนังสือเบรลล์เองมีความแตกต่างที่ส่งผลต่อการรับรู้ในแบบที่ผู้ไม่เคยใช้ยากจะเข้าใจ ทุกวันนี้ การทำหนังสือเสียงโดยอาสาสมัครมีมากขึ้น ในขณะที่หนังสือเบรลล์ ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากกว่าดูเหมือนจะได้รับความสำคัญน้อยลง แต่พลอยก็ย้ำกับเราว่า หนังสือเสียง และหนังสือเบรลล์มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป

“ไม่มีอันไหนสะดวกกว่ากัน เพราะจุดประสงค์มันต่าง หนังสือเสียงมันฟังง่ายตรงที่มันเร็วแล้วสามารถพกพาไปได้ทุกที่ แค่เอาไฟล์ใส่โทรศัพท์มือถือก็ฟังได้แล้ว หรือเปิดไฟล์จากคอมพิวเตอร์ เปิดจากซีดี เปิดจากเทป แต่ถ้าเป็นหนังสือเบรลล์มันจะเล่มใหญ่มาก เช่น แฮรี่ พอตเตอร์เล่มหนึ่งอาจจะออกมาเป็นเทปเล็กๆ สักสิบม้วน ยิ่งเดี๋ยวนี้มันเป็นแค่ซีดี ซึ่งซีดีแผ่นหนึ่งมันก็จะจุได้เยอะมาก มันก็อาจจะใช้แค่แผ่นเดียว แต่จะออกมาเป็นหนังสือเบรลล์ประมาณ 5 เล่ม เล่มหนึ่งก็จะใหญ่มาก

“เพราะฉะนั้น พอพูดถึงความสะดวกในการพกพา ก็ต้องบอกว่าหนังสือเสียงสะดวกกว่า มันเหมาะสำหรับคนที่บางคนอาจจะอ่านเบรลล์ไม่ออก ก็ฟังหนังสือเสียงได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องประโยชน์ของการอ่าน เรื่องของตัวสะกดก็จะไม่ได้จากหนังสือเสียง การอ่านหนังสือเบรลล์เราจะได้เรื่องของตัวสะกด แล้วเราจะหยุดที่ประโยคนี้เพื่อที่จะคิดนานๆ เราก็ทำได้”




000_Hkg8975762.jpg
  • หนังสือเบรลล์มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะพกพา แต่ช่วยในการแยกแยะตัวสะกด

พลอยเข้าใจถึงความสำคัญของการสะกดคำเป็นอย่างดี ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสมัยเรียนปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย เพราะการเรียนวรรณคดีจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงตัวสะกด คำพ้องเสียงไม่สามารถแยกได้ด้วยหนังสือเสียง เสียงที่เหมือนกัน แต่สะกดต่าง ความหมายก็เปลี่ยนไป

“ถ้ามันเป็นนวนิยาย หรือวรรณกรรมเยาวชนที่เรารู้สึกว่า เราอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะเจาะลึกมันทุกประโยคขนาดนั้น มันก็เป็นหนังสือเสียงได้ แต่ถ้ามันเป็นวรรณคดีที่ต้องไปค้นหาความหมายของคำศัพท์ หรือมีเรื่องคำพ้อง การอ่านหนังสือเบรลล์มันก็จะทำให้เรารู้ว่าอ๋อ คำนี้สะกดแบบนี้ แปลว่าผู้อ่านต้องการจะสื่อถึงคำนี้นะ เรื่องนี้หนังสือเสียงให้เราไม่ได้”


ขยายขีดจำกัดร่วมกัน

แม้ปัจจุบันหนังสือเสียงจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังคงเรียกว่าเพียงพอไม่ได้ โดยเฉพาะกับหนังสือบางประเภท อีกทั้งบางครั้งหนังสือเสียงยังคงมีข้อบกพร่องบางประการ ซึ่งพลอยอธิบายว่า หนังสือที่คนส่วนใหญ่สนใจมักจะเป็นนวนิยาย จึงมีนวนิยายเป็นหนังสือเสียงจำนวนมาก ขณะที่หนังสือเฉพาะทางอย่างปรัชญา สุขภาพ หรือกวีนิพนธ์จะหาหนังสือเสียงได้ยาก

“หนังสือบางประเภทจะมีแค่คนกลุ่มเดียวที่อยากอ่าน พยายามจะอ่าน แล้วก็มีคนกลุ่มเดียวที่อ่านได้ อาสาสมัครที่เข้ามาทำก็เป็นอาสาสมัครที่มีใจจะทำ แต่เขาก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องอ่านแบบไหน อย่างบางทีหนังสือวิชาการจะมีศัพท์เฉพาะ ซึ่งถ้าอ่านออกเสียงผิดก็ส่งผลต่อคนที่ฟังอีกว่า เขาฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร คนที่จะอ่านหนังสือเสียงให้มีคุณภาพจริงๆ ก็ต้องให้คนอ่านที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ มาอ่าน ซึ่งตอนนี้มันก็ทำแบบนั้นไม่ได้เพราะคนไม่พอ”

อย่างไรก็ตาม ทีมงานสอบถามไปยังห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ และได้ข้อมูลว่า ที่มาของหนังสือเสียงมีอยู่ 2 ทางคือ ห้องสมุดเลือกให้ และผู้พิการทางสายตาที่เป็นสมาชิกห้องสมุดเสนอมา แต่ห้องสมุดยังคงต้องการอาสาสมัครในการทำหนังสือเสียง หนังสือหลายประเภทยังคงขาดแคลน เนื่องจากส่วนมากแล้วอาสาสมัครมักจะเลือกหนังสือที่อ่านตามความสนใจของตัวเองเช่นกัน หนังสือประเภทที่มีมากสุดถึงเป็นนิยาย

“จริงๆ เราอยากได้ทุกประเภทเลยที่มีประโยชน์ คนตาบอดเองก็ชอบความบันเทิงเหมือนกัน อย่างเล่มที่ฮิตๆ ก็เป็นบุพเพสันนิวาส แต่เราอยากเน้นที่มีประโยชน์ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวของเขาเองด้วย เช่น เรื่องไอที วิชาชีพ เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับการเจ็บป่วย การรักษาที่เป็นความรู้”

ห้องสมุดคนตาบอดฯ จะผลิตหนังสือเสียงเป็นหลัก เนื่องจากจัดเก็บง่าย รวมถึงเล็งเห็นว่า ผู้พิการทางการมองเห็นไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ทุกคน หนังสือเสียงที่ผลิตจะอยู่ในระบบ Daisy ซึ่งอ่านผ่านโปรแกรมเฉพาะ โดยจัดกลุ่มข้อความเป็นท่อนๆ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้คีย์บอร์ดกดเลือกย้อนกลับไปอ่านข้อความท่อนก่อนหน้า หรือข้ามไปอ่านข้อความถัดไปได้สะดวกขึ้น

ทางห้องสมุดคนตาบอดฯ ยังเปิดบริการให้ยืมซีดีหนังสือเสียง และบริการรับฟังผ่านโทรศัพท์อัตโนมัติที่หมายเลข 1414 หรือฟังออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Tab 2 Read รวมทั้งแอปฯ Tab2 Read Mobile โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกช่องทาง




ONLINE_DAISY_HTML5_READER.png
  • โปรแกรมอ่านหนังสือเสียงในระบบ Daisy

หากผู้สนใจร่วมเป็นอาสาสมัครผลิตหนังสือเสียง สามารถบันทึกเสียงได้ที่ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย เลขที่ 85/1-3 ซอยบุญอยู่ ถนนดินแดง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ : 0-2246-3835 ต่อ 202 (ฝ่ายผลิตหนังสือ Daisy) โดยทางห้องสมุดฯ เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-17.00 น.

นอกจากนี้ อาสามัครยังสามารถขอโปรแกรมจากทางห้องสมุดเพื่อบันทึกเสียงจากที่บ้านได้เช่นกัน โดยสามารถศึกษาข้อมูล และสอบถามเพิ่มเต็มได้ทางเพจ Daisy Thailand Project - ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ


ชมคลิป