ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ควรพลาดหากคุณเป็นผู้ชอบเสพศิลป์ท้าทายสมอง ละครเวทีเด็ดๆ จากทั่วโลกกำลังคอยคุณอยู่ ในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง โดยคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ถ้าเป็นราวสิบปีที่แล้วการดูละครเวทีโรงเล็กในประเทศไทยถือเป็นกิจกรรมลับแลมาก เช่นถ้าเราพูดกับเพื่อนว่า “ฉันจะไปดูหนัง” หรือ “ฉันจะไปคอนเสิร์ต” เพื่อนก็คงตอบรับแบบเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่า “จะไปดูละครเวที” เพื่อนจะทำหน้าตาสงสัยทันที อาจเป็นเพราะละครเวทีถือเป็นกิจกรรมที่ไม่ ‘ป๊อป’ เท่าการดูหนังหรือฟังดนตรี ดูง่ายๆ จากโรงละครบ้านเราที่มีจำนวนน้อยมาก ไม่เหมือนกับย่านบอร์ดเวย์ในนิวยอร์คที่มีโรงละครมากมายจนเลือกไม่ถูก

ดังนั้นสมัยก่อนการดูละครเวทีโรงเล็กสามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปดูได้เลย ไม่ต้องจองอะไรให้วุ่นวาย หลายครั้งก็เจอความน่าเศร้าประเภทคนดูมีไม่ถึงสิบคนหรือจำนวนนักแสดงเยอะกว่าคนดู ทว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา วงการละครเวทีโรงเล็กเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้การพีอาร์ละครทำได้ง่ายขึ้น กลุ่มละครเริ่มปรับตัวในการทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ดึงดูดใจคน ช่วงหลังมาปรากฏการณ์ Sold Out จึงเกิดขึ้นกับละครหลายเรื่อง

หนึ่งในหลักไมล์สำคัญของวงการละครคือ เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) ที่แต่ก่อนจัดอยู่บริเวณสวนสันติชัยปราการ แต่เพิ่งย้ายมาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่งผลดีทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี อาจด้วยเพราะละครหลายเรื่องดำเนินไปพร้อมกัน แถมช่วงนี้ยังมีอีเวนต์ต่างๆ มากมาย ละครบางเรื่องมีคนดูน้อยจนน่าใจหาย (ผู้เขียนเจอเรื่องที่ทั้งโรงมีกันอยู่ 6 คน) ส่วนเรื่องที่เต็มก็เป็นแนวเพื่อนๆ มาเชียร์นักแสดงหรือลูกศิษย์มาดูอาจารย์ การทำละครเวทีดึงดูดคนวงกว้างคงเป็นโจทย์ยากที่เราต้องช่วยกันขบคิดกันต่อไป

เทศกาลละครกรุงเทพ 2560 เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะดำเนินไปถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน ทั้งนี้ผู้เขียนขอเล่าถึงละครเรื่องที่ประทับใจและเรื่องที่น่าดู ขอเริ่มจากละครที่หมดรอบไปแล้วก่อนครับ มี 3 เรื่องด้วยกัน


เทศกาลละครกรุงเทพ.jpg

Bangkok Notes

เรื่องแรกคือ Bangkok Notes ซึ่งเป็นละครเปิดเทศกาล ละครเรื่องนี้กำกับโดย โอริสะ ฮิราตะ นักการละครชาวญี่ปุ่นคนดัง ดัดแปลงจากบทดั้งเดิมเรื่อง Tokyo Notes ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1994 ว่าด้วยผู้คนที่มาพบเจอกันในหอศิลป์แห่งหนึ่ง ละครเรื่องนี้มีการดัดแปลงเป็นโปรดักชันของประเทศอื่นๆ ทั้ง Taipei Notes (ไต้หวัน) และ Seoul Notes (เกาหลีใต้) โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือภาษาเท่านั้น ส่วนตัวสถานการณ์และบทสนทนานั้นเหมือนเดิม น่าอัศจรรย์ใจว่าบทที่เขียนไว้เมื่อราวยี่สิบปีก่อนทุกวันนี้ก็ยังดูร่วมสมัย


เทศกาลละครกรุงเทพ

Sleepwalkers

Sleepwalkers ผลงานของผู้กำกับหนุ่มหล่อ นพพันธ์ บุญใหญ่ ที่มักโดดเด่นเรื่องการใช้ ‘พื้นที่’ เสมอ อย่างเรื่องที่แล้ว Co-Exist ก็ไปเล่นที่โกดังร้างแถวเจริญกรุง (ที่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่สุดฮิป Warehouse 30) ส่วนเรื่องนี้เล่นที่ Yelo House ซอยเกษมสันต์ 1 ซึ่งนพพันธ์ก็ใช้สถานที่แห่งนี้ชนิดที่เรียกว่าคุ้มและทะลุปรุโปร่ง ผู้ชมจะถูกพาเดินไปรอบบริเวณ ต่อด้วยการชมการแสดงจากชั้นสอง ตัวละครกว่าสิบชีวิตอยู่กระจัดการตามห้องต่างๆ ราว 5-6 ห้อง นั่นทำให้เราไม่สามารถเก็บรายละเอียดทุกอย่างของละครได้ แต่เป็นประสบการณ์ที่ประหลาดแบบน่าจดจำ


เทศกาลละครกรุงเทพ

FLOYd

สองเรื่องแรกเป็นผลงานของผู้กำกับรุ่นใหญ่และรุ่นกลาง ส่วน FLOYd เป็นงานของคณะละครน้องใหม่ Unidentified Theatre เป็นชายหญิงสองคนที่ไม่พูดไม่จา ทว่าเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับกระดาษฟลอยด์สีเงิน ทั้งการฉีกแปะตามกำแพง เอามาปั้นเป็นลูก หรือกระทั่งกิน ละครเรื่องโดดเด่นด้วยลีลาของนักแสดงนำทั้งสองที่ทั้งยียวนและมีเสน่ห์ เสียดายว่าละครมีความยาวเพียง 40 นาทีเท่านั้น ในจังหวะที่เริ่มสนุกละครก็ตัดจบไปซะงั้น

ทีนี้มาต่อด้วยละครที่ผมไปชมมาแล้วอยากแนะนำให้ผู้อ่านไปดูกัน และยังมีการแสดงอยู่ครับ


เทศกาลละครกรุงเทพ

Spoonface Steinberg

คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อละครเรื่อง Spoonface Steinberg นัก แต่ขอบอกว่าผู้เขียนบทละครเรื่องนี้คือ ลี ฮอลล์ ผู้เขียนบทเรื่อง Billy Elliot จ้า เป็นการแสดงเดี่ยวโดยนักแสดงหญิง เรื่องราวของเด็กสาววัย 8 ขวบที่เป็นออทิสติกและกำลังจะตายด้วยมะเร็ง ฟังดูรันทดละครเกาหลีมาก แต่ละครไม่ได้หดหู่เลย มันว่าด้วยการอยากมีชีวิต การตั้งคำถามกับการมีชีวิตอยู่และความตาย นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการฆ่าล้างชาวยิวและพระเจ้าด้วย

แสดงถึงวันที่ 19 พ.ย. ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/392165634536437


เทศกาลละครกรุงเทพ

Kuang Qi

Kuang Qi (อ่านว่า ขวงฉี) การแสดงจาก M.O.V.E. Theatre คณะละครจากไต้หวัน เป็นการแสดงที่ระบุประเภทได้ยาก เพราะมันผสมผสานทั้งรูปแบบของละครพูด, การเคลื่อนไหวทางร่างกาย, งิ้ว และการเล่นดนตรีสด แถมยังมีความซับซ้อนเรื่องเพศสภาพ นำแสดงโดยนักแสดงหญิงสองคน มีบทที่ต้องปลอมตัวเป็นผู้ชาย แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่แน่ใจอีกต่อไปว่าเธอกำลังเล่นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย โครงสร้างเรื่องยังมีส่วนของความฝันกับความจริงอีก คิดว่าเหมาะสำหรับคนชอบดูหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (ฮา)

แสดงถึงวันที่ 18 พ.ย. ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/dramaartschula/posts/1100524606717810

อ่านต่อ: ‘ขวงฉี: ฝันนี้มีเธอ’ การแสดงไต้หวันสะท้อนสิทธิความรักที่เท่าเทียม


เทศกาลละครกรุงเทพ

ฮารีรายอ : สายใจไร้บันทึก

ปิดท้ายด้วยละครอีกสองเรื่องที่ผู้เขียนยังไม่ได้ดู แต่คิดว่าน่าสนใจมากครับ เรื่องแรกคือ ฮารีรายอ : สายใจไร้บันทึก ว่าด้วยแม่ลูกที่กลับมาพบกันเพื่อนเดินทางไปร่วมเทศกาลฮารีรายอที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งละครที่ว่าด้วยศาสนาอิสลามในบ้านเราไม่ได้มีบ่อยนัก

แสดงวันที่ 18 พ.ย. วันเดียวเท่านั้น ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/137852000176070


เทศกาลละครกรุงเทพ

Godspeed You! Blue Strawberry

Godspeed You! Blue Strawberry ผลงานล่าสุดของ Splashing Theatre กลุ่มละครที่บ้าพลังมากที่สุดในยุคนี้ พวกเขาชอบทำละครที่มีความซับซ้อนทางโครงสร้าง (Teenage Wasteland ผลงานเรื่องที่แล้วว่าด้วย จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มีกันดั้มและเกม RPG โผล่เข้ามาด้วย!?) ทว่าเรื่องนี้เขาบอกว่าเป็นละครโรแมนติก จะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ก็ต้องไปพิสูจน์กัน

แสดง 16-26 พ.ย. ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/901000823388636


ทั้งนี้คุณผู้อ่านสามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมดของเทศกาลละครกรุงเทพ 2560 ได้ที่นี่ครับ https://www.bangkoktheatrefestival.org/