ไม่พบผลการค้นหา
'พานทองแท้' ทวงถาม 'นายทหาร' ถึงมาตรฐานจริยธรรม เรื่องเช็คดัง - ดคีดัง

นายพานทองแท้ ชินวัตร แสดงความเห็นแฟนเพจ Oak Panthongtae Shinawatra อีกครั้งในวันนี้ (8 เม.ย.) หลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 เม.ย.) ได้ระบุถึงกรณีเช็ค 2 ฉบับซึ่งเป็นใบนำฝากของธนาคารในชื่อบุคคลสำคัญ 2 ราย ซึ่งอาจเป็นเงินก้อนเดียวกับที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินคดีกับตน ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินกรณีปล่อยกู้ ธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร 

โดยวันนี้ (8 เม.ย.) แฟนเพจ Oak Panthongtae Shinawatra ของนายพานทองแท้ ชินวัตร เผยแพร่เรื่อง 'เช็คคนดัง-คดีดัง ตอนที่ 2' โดยระบุว่า ครบรอบ 1 สัปดาห์ ที่ผมโพสต์รูปเช็คสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีบุคคลที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน ที่ได้รับเงินจากเงินกู้กรุงไทยแล้ว วันนี้ผมจะขอเล่าให้ฟังต่อ เป็นตอนที่ 2 นะครับ 

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า โลกโซเชียลในปัจจุบันนี้ ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ อย่างสุดยอดมาก อาจจะเรียกได้ว่า ดีกว่าการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่ตั้งมาอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ เพราะนอกจากโซเชียลจะทำหน้าที่กระจายข่าว ความไม่ชอบมาพากล ที่มีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลาในช่วงปีขาลงของรัฐบาลนี้แล้ว โลกโซเชียลยังช่วยกันตรวจสอบและชี้ข้อผิดสังเกต ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐ อันอาจนำมาซึ่งการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ ได้ 

ในกรณีนี้ อาจเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนหรือบางตำแหน่งก็ได้ (ซึ่งผมได้ทำเรื่องสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นรายบุคคลในทุกตัวบทกฎหมายไว้แล้ว หากตรวจพบการกระทำผิด) 

มีแฟนเพจ และผู้ที่ได้ติดตามข่าวหลายท่าน ได้ตั้งข้อสังเกตและชี้ประเด็น ตลอดจนเสนอแนะกันเข้ามามากมาย ทั้งคอมเมนต์ในเพจนี้ ส่งข้อความเข้ามาหลังไมค์ และติดต่อเข้ามา เพื่อให้ข้อมูลที่น่าสนใจเยอะมาก ซึ่งผมจะขอสรุปรวมกัน แล้วเปิดมาพูดถึงในทีละประเด็นให้เห็นกันชัดๆ ไป โดยวันนี้จะขอเริ่มที่ประเด็นแรกคือ 

เช็คที่ถูกนำมาเข้าบัญชีนายทหารคนหนึ่ง จำนวน 1 แสนบาท ซึ่งสั่งจ่ายจากเงินก้อนเดียวกันกับคดีที่เร่งรีบจะฟ้องผม แถมมีเลขที่เช็คติดกันกับของผม คือเช็คเลขที่ ‭2724851‬ และ ‭2724852‬ ซึ่งมีตัวแทน พล.ร.ท.(ย่อว่า PJ ละกันสั้นดี) ออกมาชี้แจงว่า เป็นเช็คที่จ่ายค่างานเลี้ยง แต่..ปรากฏว่า.. เช็คเงินสดฉบับนี้ นายทหารคนดังกล่าวเป็นคนเซ็นต์นำฝากเอง โดยเขียนระบุด้วยลายมือว่า ให้นำเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน อันเป็นบัญชีของเขาเอง 

เรื่องนี้ มีข้อสังเกตจากนักสืบออนไลน์ และนักกฎหมายออนไลน์หลายท่านที่ส่งข้อมูลมาให้ ผมขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ 

1. เงินก้อนที่บอกว่าเป็นเงินจากการกระทำความผิด ถูกนำไปเข้าบัญชีโดยระบุว่า เป็นการฝากประจำ 12 เดือน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นบัญชีเงินฝากประเภทที่ให้ดอกผลสูงสุด มากกว่าการฝากประเภท 6 เดือน หรือการฝากออมทรัพย์ ถือเป็นเจตนาหาประโยชน์งอกเงย จากเงินก้อนนี้หรือไม่..? 

2. เงินที่บอกว่านำมาชำระหนี้ค่างานเลี้ยง - งานเลี้ยงที่ว่านี้ เป็นงานเลี้ยงในกลุ่มเพื่อนหรือลูกน้องของนายทหารคนดังกล่าวหรือไม่?

2.1 ทำไมเจ้าของธุรกิจใหญ่ จึงต้องมาจ่ายค่างานเลี้ยงเป็นแสนๆ ให้นายทหาร? 

2.2 เงินจ่ายหนี้ค่างานเลี้ยง ทำไมจึงนำมาเข้าบัญชีฝากประจำ? 

2.3 กรณีนี้ ถือเป็นการรับทรัพย์เกิน 3,000 บาท ที่นายทหารจะต้องสำแดงหรือไม่? ได้เคยสำแดงหรือยัง? 

2.4 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ได้สอบสวนความผิดในประเด็นเหล่านี้หรือยัง?

2.5 จนป่านนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะปล่อยไปจนหมดอายุความหรือไม่? 

2.6 จะเร่งเอาผิดเฉพาะคดี พานทองแท้และพวก เท่านั้นหรือไม่?

3. เมื่อนำกรณีนี้ มาเปรียบเทียบกับกรณีเช็ค 26 ล้าน ที่ตัวเงินยังไม่ทันเข้าบัญชีเลย เช็คก็ถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว ไม่มีเงินเข้าบัญชีแม้แต่บาทเดียว ภายหลังเงินถูกนำไปเข้าบัญชีผู้อื่น ซึ่งผมได้ทราบว่า ได้มีการคืนเงินกลับไปแล้วทุกบาททุกสตางค์เช่นกัน ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ แต่ผมกลับจะโดนคดี

ทั้งนี้ นายพานทองแท้ ได้ระบุในตอนท้ายข้อความว่า "วันนี้ผมขอตั้งคำถามไปถึงผู้รับเช็ค เป็นคำถามในเชิงจริยธรรม ซึ่งถ้าท่านคือคนดีของแผ่นดินจริง ขอให้ท่านตอบต่อสาธารณชนด้วยว่า เงินที่ท่านได้มาฟรีๆ โดยที่ไม่ได้ทำงานทำการอะไร และท่านได้นำไปเข้าบัญชี หรือจะนำไปเลี้ยงลูกน้องก็แล้วแต่ (รวมถึงเงินที่นำไปเข้ามูลนิธิฯ ก้อนนั้นด้วย) ในทางกฎหมายอาจสาวไปไม่ถึงตัวท่าน เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะไม่กล้าเอาผิด และไม่กล้าสั่งฟ้องท่าน แต่ในทางจริยธรรมที่ท่านพึงมี เมื่อท่านได้ทราบที่มาที่ไปของเงินก้อนนี้อย่างกระจ่างชัด ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบแล้ว ท่านมีความคิดที่จะนำเงินมาคืนให้กับเจ้าของ หรือผู้เสียหายหรือไม่" นายพานทองแท้ ระบุ

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

รายงานพิเศษ: วัดเข็มทิศ 'ความยุติธรรม' ผ่านคดี 'โอ๊ค'

โอ๊คเผยทนายส่งหลักฐานเช็ค 'ป๋าเปรม' ให้ 'ดีเอสไอ' สอบคดีฟอกเงิน ธ.กรุงไทย