ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯโคราชผลักดัน “โคราชจีโอพาร์ค” นำประเทศไทยมุ่งสู่ดินแดนแห่ง 3 มงกุฏของยูเนสโก จัดเป็นลำดับ 4 ของโลก

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมเครือข่ายเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราชสู่อุทยานธรณีโลก เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 ทางจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศให้พื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโคราช โดยมีเป้าหมายเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศในปี 2561 และอุทยานธรณีระดับโลกในปี 2563 

ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้มีการร่วมลงนาม (MOU) กับผู้บริหารระดับสูงของ 2 มรดกของยูเนสโกในจังหวัดนครราชสีมา คือ มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน หากอุทยานธรณีโคราชหรือโคราชจีโอพาร์คได้รับการรับรองจากยูเนสโกตามโรดแม็ปในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก หรือ The UNESCO Triple Crown คือในพื้นที่ 1 จังหวัด มี 3 มรดกของยูเนสโก ประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้และจีน 

อุทยานธรณี เป็นโปรแกรมหนึ่งของยูเนสโก ที่ต้องการปกป้องพื้นที่มรดกทางธรณีวิทยาที่มีความสวยงาม โดดเด่น และรักษาหลักฐานทางธรณีวิทยา ที่สำคัญรวมทั้งเสริมความรู้ด้านธรณีวิทยาให้ประชาชนที่เข้าชม และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนรอบข้างอย่างยั่งยืนผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา เชิงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การนำเที่ยว การเป็นวิทยากรให้ความรู้ และการให้บริการต่างๆ

ซึ่งพื้นที่ที่สามารถเป็นอุทยานธรณี (Geopark) ตามที่ยูเนสโกกำหนดคือ พื้นที่เฉพาะขอบเขตที่มีแหล่งสำคัญทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 แหล่ง แต่ไม่เฉพาะด้านธรณีวิทยา ยังรวมถึงคุณค่าทางโบราณคดี นิเวศวิทยาหรือวัฒนธรรม ซึ่งจุดเด่นของโคราชจีโอพาร์ค ได้แก่ เมืองแห่งโบราณคดี เช่น ภาพเขียนสีเขาจันทร์งาม ปราสาทหินพนมวัน พระนอนโบราณเมืองเสมา พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ธรรมชาติงาม เช่น พืชพรรณที่โดดเด่น อย่าง เต็ง, รัง, พลวง, และเหียง วัฒนธรรมเด่น เช่น ชาติพันธุ์ของประชากรที่มีหลากหลายเชื้อชาติ ไทโคราช ชาวไทอีสาน ชาวไทยเชื้อสายลาว ไทยวน (ไท-ยวน) บรรพชีวินระดับโลก เช่น ฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ ฟอสซิลไดโนเสาร์ ฟอสซิสไม้ ฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 นี้ จะมีคณะกรรมการลงมาตรวจประเมินรอบแรก และนำผลการประเมินไปตรวจสอบอีกครั้ง หากผ่านการประเมินในครั้งนี้ จะมีการยื่นเรื่องไปยังมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้องค์กรยูเนสโกเข้ามาประเมิน สำหรับวันนี้เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอของพื้นที่อุทยานธรณีจีโอพาร์ค (Geopark)ว่า จีโอพาร์คคืออะไร เมื่อได้รับการรับรองจากยูเนสโกแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอ เนื่องจากการเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การประกาศว่า มีฟอสซิสหรือซากดึกดำบรรพ์ในระดับโลกเท่านั้น แต่จะสามารถได้ประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย จึงต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันผลักดันโคราชจีโอพาร์คให้ได้การรับรองจากยูเนสโกต่อไป

ทั้งนี้ประเทศไทยมีอุทยาทธรณีโลกแห่งแรกคือ "อุทยานธรณีสตูล" ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ให้เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง รวมพื้นที่กว่า 2,597.21 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ยูเนสโกประกาศรับรองอุทยานธรณีโลกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง ใน 33 ประเทศทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ในมาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 1 แห่ง และอินโดนีเซีย 2 แห่ง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง