ไม่พบผลการค้นหา
หลายทศวรรษมาแล้ว กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านความปลอดภัยของอาหารแถบสหรัฐอเมริกา และยุโรป ล้วนเกิดจากคนตัวเล็กๆ ที่รวมพลังตั้งกลุ่มประชาสังคม หรือหน่วยงานอิสระ และเดินหน้าตรวจสอบคุณภาพ ความสะอาด และสารปนเปื้อนตลอดห่วงโซ่อาหาร พร้อมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนอย่างตรงมา จนกระทั่งสามารถพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสำเร็จ ส่งผลให้การทำงานของทั้งฝั่งผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐเปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทว่าพอหันกลับมามองประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤตความไม่ปลอดภัยทางอาหาร บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดด้านการเกษตร และอาหารแบบครบวงจร แต่ดูเหมือนผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐยังคงเพิกเฉย ละเลย ไม่สนับสนุนการคลี่คลายปัญหาอย่างจริงจัง

บวกกับคำถามเรื่อง ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ การเข้าถึงอาหารปลอดภัยจากฝ่ายประชาชนก็เงียบงันคล้ายสายลมพัดผ่าน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ฝากชีวิตตัวเองกับซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าผักสด และเนื้อสัตว์ราคาสูงเวอร์

ทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เดินทางไปอัพเดทสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางอาหารกับ ‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ จากมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ซึ่งชี้สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาดังกล่าวว่า ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มถอยห่างจากความรู้ด้านการผลิต และบริโภคอาหารยั่งยืน

ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยทางอาหารมานานกว่า 10 ปี กิ่งกรเล่าสถานการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ว่า ปัญหาสำคัญอยู่ตรง ‘ความรู้’ ของผู้บริโภค เนื่องจากคนเมืองใหญ่อยู่ค่อนข้างห่างไกลจากเส้นทาง หรือต้นทางของอาหาร โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ตนเองหยิบใส่ปาก ใส่ท้อง วันละเกิน 3 มื้อ จึงต้องพยายามเรียกคืนความรู้กลับมา บวกกับส่งเสริมให้ผู้ผลิตขยายตัวของเกษตรยั่งยืน เกษตรนิเวศ เกษตรปลอดจากสารเคมี

นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลที่ ‘มูลนิธิชีววิถี’ และ ‘มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน’ ร่วมมือกันจัดสรรพื้นที่ 2.5 ไร่ ย่านไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ให้กลายเป็น ‘สวนชีววิถี’ (Growing Diversity Park) แหล่งเรียนรู้ด้านความมั่นคงทางอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืนครบวงจร เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคทุกระดับ


กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา logo 3.jpgกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา logo 2.jpg

“หลายคนเริ่มเห็นอาหารแล้วบอกไม่ได้ว่า ปรุงมาจากอะไร ทำอย่างไร พูดง่ายๆ คือความรู้ค่อนข้างหายเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ต้องหาวิธีเรียกคืนความรู้กลับมา เพื่อให้ทุกคนกลายเป็นผู้บริโภคที่สามารถเลือกอาหารเป็นประโยชน์ ไม่สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และส่งเสริมการผลิตของผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย” กิ่งกรกล่าว

ตามความจริงแล้ว วิธีการสร้างความปลอดภัยทางอาหารขั้นพื้นฐานสุดอยู่ตรง ‘การเลือกบริโภคตามฤดูกาล’ เช่น คนชอบทานคะน้ามากๆ เบื้องต้นควรทราบว่า คะน้าปลูกอย่างไร? และ ฤดูกาลส่งผลต่อความแตกต่างกันมากขนาดไหน? เพราะบางฤดูกาลคะน้าปลูกยากมาก ดังนั้น ถ้าทานทุกฤดูกาลอาจเจอคะน้าปลูกยาก ซึ่งผ่านการกระหน่ำบำรุงรักษาด้วยสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือสูตรคอกเทลแบบต่างๆ

“จริงๆ แล้วความรู้ของผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องลึกถึงระดับรากเหง้า แต่ง่ายๆ ควรทราบสักเล็กน้อยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาหาร เช่น คะน้าปลูกยากฤดูกาลไหน? ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะมันอาจช่วยชีวิตของตัวคุณเองได้บ้าง” กิ่งกรเน้นย้ำก่อนพาทีมงานเดินรอบๆ สวนชีววิถี และแนะนำให้รู้จักกับต้น ‘ไชยา’ สายพันธ์จากแม็กซิโก สามารถนำมาทานแทนผักคะน้าได้ดี


ปรับลิ้น เปลี่ยนทัศนคติ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย

ปัจจุบัน ถ้าผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัยแบบจากฟาร์มสู่ช้อน วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องมาจากการผลิตระดับแปลงเล็กแปลงน้อย และเป็นการผลิตตามฤดูกาลเท่านั้น ทำให้การทานอาหารปลอดภัยกลายเป็นเรื่องยาก ต้องดิ้นรนไปเสาะแสวงหาเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทําการเกษตรกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย               

“หลักการทำงานของเราคือ สนับสนุนสุขภาพ และห่วงใยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันประกอบกันพอดีกับการกระบวนการผลิตแบบสอดคล้องกับธรรมชาติของเกษตรกรรายย่อย คือถ้าจะผลิตให้ปลอดภัยยั่งยืน ต้องคิดถึงเรื่องความสอดคล้องต้องกันกับธรรมชาติ และฤดูกาล ซึ่งความเป็นจริงมันยากมาก เพราะธรรมชาติวุ่นวายมาก แต่เรายังคงพยายามสู้กันอยู่”

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่แรงพลังของนักกิจกรรมทางสังคมมันไม่พอ ฝั่งผู้บริโภคเองควรหันมาตระหนักถึงปัญหา เปิดใจเรียนรู้ ลงมือทำและตั้งคำถาม โดยความหวังของกิ่งกรคือ ต้องการรื้อฟื้นความรู้ด้านอาหารยั่งยืน เน้นให้ผู้บริโภคปรับลิ้น เปลี่ยนทัศนคติ เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติช่วยให้เลือกทานอาหารหลากหลายยิ่งขึ้น

“การเลือกกินจากหลากหลายขึ้นหมายความว่า ผู้บริโภคสามารถกินจากผู้ผลิตรายใหญ่ หรือรายเล็กก็ได้ กินจากเกษตรกรรายย่อยภาคอื่นๆ ได้ ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้บริโภคที่มีความสามารถพิเศษ แต่ความจริงเป็นความสามารถอันปกติ คือสามารถสนับสนุนผู้ผลิตที่มีความหลากหลายสูง ซึ่งต้องเริ่มต้นจากปรับความรู้เรื่องการกิน ความรู้เรื่องการเลือก หรืออาจจะต้องปรับลิ้น ไปจนเปลี่ยนทัศนคติ” กิ่งกรกล่าว


กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา logo.jpg

ในภาคชีวิตจริง หลังจากคลุกคลีกับผู้บริโภคมายาวนานกิ่งกรยอมรับว่า การเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเดินหน้าต่อสู้กันทางความคิด เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มักคิดว่า ‘ไม่มีเวลา’ จึงเลือกเข้าโหมดการทานอาหารแบบ ‘วันสต๊อปเซอร์วิส’ คือเอาของสำเร็จมาเข้าเตาอบแล้วกดติ้ง

“การทานอาหารแบบวันสต๊อปเซอร์วิสเป็นการนำเสนอรูปแบบความสะดวกสบาย เพราะการดำเนินชีวิตของคนเมืองใหญ่เร่งรีบ ไม่มีทางเลือก แต่ความจริงมันไม่แน่นอนเสมอไป ดังนั้น ความยากอยู่ตรงการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคเรื่องของการจัดการเวลา การจัดการกับตัวเองให้รู้จักสรรหาเวลามาจัดการกับอาหาร ซึ่งมันเป็นไปได้จริง และควรทำ แต่ต้องสู้กันทางความคิดค่อนข้างเยอะ

“นอกจากนั้น หากใครไม่ต้องการกินไก่อุตสาหกรรม อยากกินไก่พื้นบ้าน อยากกินไข่ไก่ฟรีแลนซ์ ไข่ไก่อารมณ์ดี แต่บอกว่าหากินยาก แถมแพงอีก เอาเข้าจริงๆ ถ้าเป็นอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรายย่อย ราคาไม่ได้ต่างกันมาก ถ้ารู้แหล่ง ส่วนเนื้อสัตว์ปริมาณการผลิตถ้าไม่มากพอก็ยังจะแพงอยู่ แต่ถ้าอยากกินต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น มันเป็นการที่ผู้บริโภคสามารถส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการผลิตที่มีคุณภาพได้

“คนมีโอกาสเลือกก็ควรสร้างทางเลือกให้ตัวเอง จัดการเวลาตัวเอง ขณะเดียวกันต้องจัดระบบอาหารภายในประเทศ เพื่อเอื้อต่อคนทุกคน ไม่ใช่มองไปทางไหนความปลอดภัยทางอาหารมันเข้าขั้นวิกฤติ เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการจัดการทางนโยบาย ทางมาตรการ การส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการผลิตปลอดภัย เกิดการควบคุมชัดเจน” กิ่งกรอธิบาย


หันมาสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย

ในส่วนประเด็นการปรุงอาหารสำเร็จรูปต่างๆ กิ่งการแนะนำว่า ควรต้องออกกฎกติกา ไม่ใช่ปล่อยให้ใส่สารปรุงแต่งกัน แบบปราศจากการควบคุม ซึ่งนั่นมันหมายความว่า หูตาของภาคประชาชนไม่เพียงพอ หรือระบบมาตรการไม่ดีพอ ทั้งหมดต้องถูกจับปรับให้เป็นมาตรฐานอาหารขั้นต่ำที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง

“มันยากมากที่จะแหวกว่ายไปหาอาหารปลอดภัยที่พอรับได้ เพราะเครื่องปรุงแต่งซับซ้อนมาก ช่วยให้กรอบนาน ช่วยให้ไม่เปลี่ยนสี คือเสริมเข้าไปเยอะมาก มันสะท้อนได้จากเวลาตรวจก็เจอ ไม่ว่าจะเป็นหน่าวยงานรัฐก็เจอ เอกชน หรือที่เป็นประชาสังคมตรวจก็เจอ มันมีอยู่ทั่วไป เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการให้ความทั่วไป เป็นความทั่วไปที่มีมาตรฐานขึ้นต่ำ แล้วมันมีหลักประกันพอสมควร ปัจจุบันมันไม่มีหลักประกันให้ชีวิตใครเลย ไม่ว่าจะจน หรือจะรวย”


กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา logo 5.jpg

กิ่งกรเชื่อว่า หากหน่วยงานของราชการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ควรเตือนภัยด้วยการให้ข้อมูลสม่ำเสมอ ตรงไปตรงมา ไม่ต้องอุบอิ๊บ พูดง่ายๆ คือต้องไว้ใจปร���ชาชน เพราะประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ เมื่อให้ไปเรื่อยๆ จะเกิดความรู้ และหากผู้บริโภคเกิดความรู้ พวกเขาจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว


ขบวนการผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง

สำหรับโมเดลของมูลนิธิชีววิธีคือ ขบวนการผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ข้อมูลเพียงพอ และลุกขึ้นมาเรียกร้อง ให้หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อผู้บริโภค แล้วรับผิดชอบต่อต้นทางอาหาร รับผิดชอบกระบวนการแรงงาน รับผิดชอบผู้ผลิต คือทุกคนตลอดห่วงโซอาหารควรอยู่บนความสุข ความพึงพอใจ และทานอาหารคุณภาพปลอดภัย และยั่งยืนกับผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วย

“การทำหน้าที่ของภาครัฐควรเป็นสาธารณะ ประชาชนรับความรู้ ข้อมูล และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หน่วยงานก็จะมีภาระน้อยลง แล้วผู้ประกอบการก็ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค” กิ่งกรบอกในสิ่งที่ตนเองเชื่อ

“จริงๆ แล้วในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เขายังตรวจสอบกันทุกปี แจกแจงยี่ห้อด้วย แล้วพอตรวจปุ๊บผู้ประกอบการก็ตอบสนองเรื่องการปรับปรุง เอาสินค้าออกจากตลาด ปิดร้าน แต่บ้านเราพอตรวจก็เฉย คือทุกคนเฉยหมด ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะประชาชนเองก็เฉยด้วย ไม่ได้เรียนร้องอะไร” กิ่งกรทิ้งท้าย