ไม่พบผลการค้นหา
อาเซียนติดกลุ่มประเทศที่ปล่อยให้เด็กเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและภัยอื่นในโลก ออนไลน์มากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่ระบบไอซีทีเพิ่งพัฒนาขึ้นมาไม่นาน

สถาบันดีคิวออกรายงานผลกระทบของอินเทอร์เน็ตปี 2018 ซึ่งพยายามเก็บข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจว่า เด็กทั่วโลกเผชิญภัยบนโลกไซเบอร์อย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยรายงานนี้พบว่า เด็กร้อยละ 56 ทั่วโลกเสี่ยงภัยไซเบอร์อย่างน้อย 1 ประการ ตั้งแต่การถูกกลั่นแกล้งและคุกคามออนไลน์ การติดวิดีโอเกม การนัดเจอกับคนที่เจอบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงการถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ ซึ่งตัวเลขที่สูงเช่นนี้บ่งบอกว่าลูกหลานของเราอยู่ท่ามกลางการระบาดของความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์

นอกจากนี้ อาเซียนยังติดกลุ่มประเทศที่ปล่อยให้เด็กเผชิญความเสี่ยงในการถูกคุกคามและ ภัยอื่นในโลกออนไลน์มากที่สุดในโลก จากการสำรวจเด็กอายุ 8 - 12 ปีทั้งหมด 29 ประเทศ โดยเด็กฟิลิปปินส์เผชิญความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามออนไลน์และภัยอื่นในโลกออนไลน์มากถึงร้อยละ 73 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากโอมาน

ส่วนอันดับ 2 ของอาเซียนตกเป็นของอินโดนีเซีย ซึ่งมีเด็กที่เคยถูกคุกคามและได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ร้อยละ 71 / ส่วนเวียดนามเสี่ยงร้อยละ 68 / ไทยเสี่ยงร้อยละ 60 / มาเลเซีย เสี่ยงร้อยละ 57 / และสิงคโปร์เสี่ยงร้อยละ 54

สถาบันดีคิวพบว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศมักเป็นกลุ่มประเทศที่ เสี่ยงว่าภัยไซเบอร์จะคุกคามเด็กๆมากที่สุด คิดเป็น 1.3 เท่าของประเทศที่มีการพัฒนาแล้วด้านไอซีที ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาด้านไอซีที จึงเป็นจุดที่มีการคุกคามออนไลน์จำนวนมาก

เอเรียน ลิม ที่ปรึกษาโครงการของ Assist Asiaในฟิลิปปินส์แสดงความเห็นว่า ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์และการค้ากามทาง ออนไลน์มากที่สุด จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการป้องกันเด็กจากภัยคุกคามดิจิทัลจึงสำคัญ

แม้เมียนมาจะมีเด็กถูกคุกคามบนโลกออนไลน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมียนมาก็พัฒนาไอซีทีขึ้นมาอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเวลานั้นมีประชากรเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ภายใน 18 เดือนแรก ตัวเลขพุ่งขึ้นมาเป็นร้อยละ 65 จนปัจจุบันประชากรในเมียนมากว่าร้อยละ 85 มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง แต่นายเกน ตุน ซีอีโอบริษัท Parami Energy แสดงความเห็นว่า ชาวเมียนมาก็ยังไม่ตระหนักถึงภัยบนโลกออนไลน์มากนัก เพราะชาวเมียนมาจำนวนมากไม่รู้จักว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร พวกเขารู้จักแต่เฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้การระวังภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ที่เด็กอาจเผชิญมีน้อยลงไปด้วย

การเติบโตของจำนวนเด็กทั่วโลกที่มีโทรศัพท์มือถือของตัวเองก็เป็นปัจจัยที่ทำ ให้ภัยไซเบอร์คุกคามเด็กมากขึ้นด้วย จากการสำรวจ อายุเฉลี่ยของเด็กที่ได้รับโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกอยู่ที่ 10 ปี ซึ่งร้อยละ 85 ของเด็กอายุ 8 - 12 ปีก็จะนำสมาร์ทโฟนไปเล่นโซเชียลมีเดีย แม้อายุขั้นต่ำในการสมัครเโซเชียลมีเดียจะอยู่ที่ 13 ปี

รายงานนี้พบว่า เด็กอายุ 8 - 12 ปีร้อยละ 47 ทั่วโลกเพิ่งถูกคุกคามออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 10 ได้แชทและนัดพบกับคนแปลกหน้า ร้อยละ 11 ติดวิดีโอเกม และร้อยละ 17 เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศบนโลกออนไลน์ และแม้รายงานนี้จะระบุชัดเจนว่า ความเสี่ยงไซเบอร์อาจไม่กระทบกับร่างกายหรือจิตใจของเด็กโดยตรง แต่ก็กระทบต่อพัฒนาการ สุขภาพ ความสัมพันธ์ และโอกาสต่างๆของเด็ก