ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสที่ใช้สัญลักษณ์ 'เสื้อกั๊กเหลือง' นัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 13 เมื่อ 9 ก.พ. มีผู้บาดเจ็บนิ้วขาดจากระเบิดกระสุนยางของตำรวจ ขณะที่ประธานาธิบดีมาครงจัดดีเบตรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (Gilets Jaunes) ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง รวมตัวครั้งที่ 13 ที่กรุงปารีสและเมืองใหญ่อื่นๆ ของฝรั่งเศส เช่น มาร์กเซยและบอร์กโดซ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ก.พ. 2562 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่าผู้ร่วมชุมนุมที่กรุงปารีสลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว จากประมาณ 10,000 คน อยู่ที่ประมาณ 4,000 คน ส่วนยอดรวมผู้ชุมนุมทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 51,400 คน ลดลงจาก 58,000 คน แต่แกนนำกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองยืนยันว่าจำนวนผู้ร่วมชุมนุมมีมากกว่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมนัดพบกันช่วงเวลาสาย 10.30 น.ของวันที่ 9 ก.พ.ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีกำหนดเดินขบวนจากถนนชองป์เซลิเซไปยังบริเวณรัฐสภาและลานหน้าหอไอเฟล แต่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจปราบจลาจลและกลุ่มผู้ก่อกวนความสงบที่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดกระสุนยางพยายามสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึงขั้นนิ้วขาด 1 ราย 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าผู้บาดเจ็บเป็นช่างภาพชายคนหนึ่งซึ่งกำลังถ่ายภาพอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และตำรวจปราบปรามจลาจลยิงระเบิดกระสุนยางมาปะทะที่ต้นขา เขาจึงพยายามจะขว้างระเบิดกระสุนยางออกไปให้พ้นตัว แต่ไม่สำเร็จ เพราะกระสุนยางระเบิดออกมาพอดี และแรงระเบิดทำให้นิ้วขาด

AFP-Sting ball grenade-ระเบิดกระสุนยาง.jpg
  • ตำรวจปราบปรามจลาจลใช้ปืนยิงระเบิดกระสุนยาง ซึ่งจะแตกตัวปล่อยสะเก็ดลูกยางออกมาใน 1.5 วินาที

ขณะที่การชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 10 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น รถหลบกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและพุ่งชนคนเดินถนน หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ชุมนุมพยายามพังรั้วอาคาร แต่รั้วกลับล้มทับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จนเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าผู้ก่อกวนความสงบฉวยโอกาสที่มีเหตุการณ์ปะทะบุกเข้าปล้นทรัพย์ร้านค้าในย่านธุรกิจหลายแห่ง ทั้งยังมีการเผารถตำรวจและรถยนต์สปอร์ตของประชาชนที่จอดอยู่ข้างทาง ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมและการปราบปรามจลาจลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้มีกลุ่ม 'ผ้าพันคอแดง' รวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ช่วงเดียวกับที่กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือจัดการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 11 แต่การชุมนุมของกลุ่มผ้าพันคอแดงดำเนินไปอย่างสงบและไม่ได้ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมฝั่งตรงข้าม

ประท้วง ภาษีน้ำมัน ฝรั่งเศส หน้ากากกายฟอว์ก Guy Fawk Mask

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้แถลงเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวไทยในฝรั่งเศส หลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้กับพื้นที่ซึ่งมีการจัดชุมนุมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง และติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มผู้ชุมนุมตามช่องทางต่างๆ อย่างใกล้ชิด

ทางด้านเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อปี 2560 ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่และมีแนวทางแตกต่างจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในอดีต มีความนิยมกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากคะแนนนิยมของรัฐบาลมาครงตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองชุมนุมต่อต้านการขึ้นราคาพลังงานเชื้อเพลิงเมื่อเดือน พ.ย. 2561 ก่อนจะขยายประเด็นไปยังการเรียกร้องให้มาครงแก้ปัญหาว่างงาน ค่าครองชีพแพง และเกิดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา มาครงได้ประกาศจัดการดีเบตใหญ่ทั่วประเทศ หรือ Le Grand Débat National โดยตัวเขาเองและคณะรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ได้ตระเวนจัดการอภิปรายและรับฟังปัญหาของประชาชนในเมืองและท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทและคนรุ่นใหม่ที่สืบเชื้อสายจากกลุ่มผู้อพยพลี้ภัย ต่างสะท้อนความเห็นว่า ปัญหาค่าครองชีพและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นประเด็นใหญ่สำหรับคนในเมือง ไม่ค่อยมีผลกับคนชนบทมากนัก แต่สาเหตุสำคัญกว่าคือปัญหาว่างงาน

ผู้ให้สัมภาษณ์บางรายระบุว่า ต่อให้รัฐบาลมาครงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลายคนในชนบทก็คงไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เพราะปัญหาหลักคือคนจำนวนมากไม่มีงานทำ

AFP-เจอโรม รอดริเกซ แกนนำกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ผู้ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส.jpg
  • เจอโรม รอดริเกซ แกนนำกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง

ขณะที่เจอโรม รอดริเกซ แกนนำกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ซึ่งได้รับบาดเจ็บเพราะกระสุนยางถูกยิงเข้าเบ้าตา และอาจถึงขั้นตาบอด ให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาขอเรียกร้องให้นายมาครงมาดีเบตกับแกนนำการชุมนุมกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง

โดยเขาระบุว่า ที่ผ่านมา มีการจัดดีเบตแล้วกว่า 3 พันจุดกระจายตัวทั่วประเทศฝรั่งเศส แต่มาครงยังไม่เคยรับคำท้าดีเบตของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองแม้แต่ครั้งเดียว โดยที่การดีเบตจะจัดไปจนถึงเดือน มี.ค. แต่ยังไม่อาจบอกได้ว่า การรับฟังและพูดคุยกับประชาชนเหล่านี้จะนำไปสู่มาตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงภายในประเทศได้หรือไม่

ที่มา: BBC/ Fran 24/ NPR

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: