ไม่พบผลการค้นหา
ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโดตัดสิทธิ โดนัลด์ ทรัมป์ จากการลงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2567 ในมลรัฐโคโลราโด จากข้อหาการกระทำลักษณะอันเป็นการกบฏต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโดตัดสินด้วยมติ 4 ต่อ 3 ว่า ทรัมป์ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการลงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2567 นับเป็นครั้งแรกที่ตุลาการสหรัฐฯ มีการใช้มาตรา 3 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 เพื่อตัดสิทธิ์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ก่อนหน้านี้ ความพยายามในหลายครั้งที่จะขัดขวางไม่ให้ทรัมป์ลงรับเลือกตั้งในสมัยหน้า ประสบกับความล้มเหลวในหลายมลรัฐ เช่น นิวแฮมป์เชียร์ มินนิโซตา และมิชิแกน อย่างไรก็ดี คำตัดสินตัดสิทธิทรัมป์ของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโด จะไม่มีผลบังคับนอกมลรัฐโคโลราโด ทั้งนี้ คำตัดสินถูกระงับไว้ชั่วคราว โดยฝ่ายจำเลยจะมีโอกาสในการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในเดือนหน้า

ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโดระบุในคำตัดสินว่า "เราไม่ได้สรุปอย่างง่ายๆ เราคำนึงถึงขนาดและน้ำหนักของคำถามที่อยู่ตรงหน้าเรา เรายังคำนึงถึงหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา ในการใช้กฎหมายโดยไม่เกรงกลัวหรือให้คุณ และไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาของสาธารณชน ต่อการตัดสินใจที่กฎหมายกำหนดให้เราต้องบรรลุ"

คำตัดสินในครั้งนี้มีแนวทางตรงกันข้ามกับคำตัดสินของผู้พิพากษามลรัฐโคโลราโดก่อนหน้า ซึ่งตัดสินว่าคำสั่งห้ามการกระทำอันเป็นการก่อกบฏตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ไม่ได้บังคับใช้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากมาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุตำแหน่งอย่างชัดเจน

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวกันยังชี้ด้วยว่า ทรัมป์มีส่วนร่วมในการก่อจลาจลในวันที่เกิดจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ ในปี 2564 ผู้หลังจากมีสนับสนุนของทรัมป์บุกโจมตีรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันนั้น ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัญฯ คนปัจจุบัน

คำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโดจะไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะถึงวันที่ 4 ม.ค. 2567 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นวันก่อนเส้นตายที่มลรัฐจะพิมพ์บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นต้น

สตีเวน เฉิง โฆษกทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ ระบุในแถลงการณ์ว่าคำตัดสินในครั้งนี้ "มีข้อบกพร่องโดยสิ้นเชิง" และตำหนิผู้พิพากษา ซึ่งล้วนได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าการมลรัฐโคโลราโดจากพรรคเดโมแครต ว่า “ผู้นำพรรคเดโมแครตอยู่ในภาวะหวาดระแวงต่อคะแนนนิยม ที่มีอิทธิพลเหนือประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้ง”

“พวกเขาสูญเสียศรัทธาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไบเดนที่ล้มเหลว และตอนนี้กำลังทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อหยุดผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันไม่ให้ไล่พวกเขาออกจากตำแหน่งในเดือน พ.ย.ปีหน้า” เฉิงกล่าวพร้อมระบุเสริมว่า ทีมกฎหมายของทรัมป์จะ "ยื่นอุทธรณ์" ต่อศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว

มาตรา 3 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ถูกประกาศใช้หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา โดยตัวกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้แบ่งแยกดินแดน กลับมารับตำแหน่งในรัฐบาลก่อนหน้านี้ เมื่อรัฐทางใต้กลับเข้าร่วมสหภาพอีกครั้ง โดยกฎหมายมาตราดังกล่าวเคยถูกบังคับใช้กับ เจฟเฟอร์สัน เดวิส ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐอเมริกา และ อเล็กซานเดอร์ สตีเฟนส์ รองประธานาธิบดีสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองคนเคยดำรงตำแหน่งในรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งนี้ แทบจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในสหรัฐฯ อีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา

ทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งด้วยคะแนนทิ้งห่างในมลรัฐโคโลราโด จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด แต่หากศาลสูงสุดแห่งมลรัฐโคโลราโดบังคับใช้ตามคำตัดสินนี้ การเสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อาจประสบปัญหาร้ายแรง ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาคดี 1 สัปดาห์ในมลรัฐโคโลราโดเมื่อเดือนที่แล้ว ทนายความของอดีตประธานาธิบดีแย้งว่าทรัมป์ไม่ควรถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์จลาจลในรัฐสภาสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีเมื่อวันอังคาร เสียงส่วนใหญ่ของศาลสูงสุดแห่งโคโลราโดเห็นแย้งต่อทนายความของทรัมป์ โดยคณะตุลาการกล่าวว่าข้อความของทรัมป์ที่กล่าวก่อนการเกิดการก่อจลาจล คือ "การเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของเขาต่อสู้และ... ผู้สนับสนุนของเขาตอบสนองต่อการเรียกร้องนั้น"

คาร์ลอส ซามูร์ 1 ในผู้พิพากษา 3 คนที่ไม่เห็นด้วย ตัดสินแย้งว่ารัฐบาลไม่สามารถ "ลิดรอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ หากปราศจากกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม” ซามูร์ระบุในคำตัดสิน “แม้ว่าเราจะเชื่อมั่นว่าผู้สมัครคนหนึ่งกระทำการอันเลวร้ายในอดีต โดยศาลกล้าพูดได้เลยว่ามีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบ (แต่มัน) จะต้องมีกระบวนการที่เหมาะสม ก่อนที่เราจะสามารถประกาศได้ว่าบุคคลนั้นถูกตัดสิทธิ์จากการดำรงตำแหน่งสาธารณะ”

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกันออกมาประณามการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งรวมถึง ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็น “การโจมตีของพรรคตรงข้ามแบบเห็นได้รำไร” จอห์นสันระบุอีกว่า “โดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวข้องทางการเมือง พลเมืองทุกคนที่ลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียง ไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิ์ในการสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีของเรา และบุคคลที่เป็นผู้นำในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกันทุกครั้ง”

ปัจจุบันนี้ ทรัมป์กำลังเผชิญกับการพิจารณาคดีอาญา 4 คดี รวมถึงคดีของรัฐบาลกลาง 1 คดี และคดีระดับมลรัฐจอร์เจียที่เกี่ยวข้องกับความพยายามล้มล้างการเลือกตั้งของเขาอีก 1 คดี


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-67768873