ไม่พบผลการค้นหา
พรรคอนาคตใหม่ ชูธง “กระจายอำนาจ” มาตั้งแต่เมื่อก่อตั้งพรรค หัวใจของการกระจายอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่อำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตัวเอง ในการอภิปรายรอบนี้ พรรคอนาคตใหม่นำเสนอสิ่งที่เป็นปัญหาในการจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสู่สาธารณะชน อันจัดได้ว่าเป็นปัญหาซึ่งสั่งสมยาวนานหลายทศวรรษ

5 ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ หนุนท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจใช้งบประมาณด้วยตัวเอง, หากถ่ายโอนภารกิจ ก็จำเป็นต้องถ่ายโอนงบประมาณไปด้วย, การมอบหมายให้ อปท. ทำหน้าที่บริหารจัดการขยะ ต้องไม่ทำให้กลายเป็นแหล่งในการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ, ไม่ประมาณการรายได้สูงเกินจริงจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และในปีถัดๆ ไป จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของ อปท. ซึ่งต้องเดินทางเข้ามาชี้แจงงบประมาณยังสภาฯ

(1) หนุนท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจใช้งบประมาณด้วยตัวเอง

 -ตาม พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 3 (แก้ไขข้อความเดิมในมาตรา 30 (4)) ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล

-แม้ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะมีการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีรายได้รวมคิดเป็น ร้อยละ 29.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลที่ ถือว่าผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ตาม แต่แหล่งรายได้หลักนั้นก็คือเงินอุดหนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบเงินอุดหนุนทั่วไปที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใช้ได้เอง หรือที่เรียกกันว่า “งบผ่าน อปท.”

-ถ้าหากหักรายได้จากเงินอุดหนุนทั้งหมดกว่า 3 แสนล้านบาทออกแล้ว เท่ากับว่าท้องถิ่น จะเหลือรายได้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจใช้ ได้เองอยู่ราว ๆ เพียงร้อยละ 18-19 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลเท่านั้น

(2) หากถ่ายโอนภารกิจ ก็จำเป็นต้องถ่ายโอนงบประมาณไปด้วย

-เกือบทุก อปท. ล้วนสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันนั่นก็คือ การที่ อปท. ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาแล้ว แต่ไม่ได้รับโอนงบประมาณมาตาม ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นก็คือประชาชนในพื้นที่ เพราะสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องขาดการบำรุงรักษาลง ทำให้ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและดีอย่างเพียงพอ

 -เนื่องจาก อปท. ไม่มีเงินงบประมาณในการดำเนินงานด้วยตนเอง ในขณะที่หน่วยงานจากส่วนกลางก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการให้ได้เนื่องจากได้ถ่ายโอนภารกิจไปให้กับ อปท. แล้ว 

(3) การมอบหมายให้ อปท. มีหน้าที่บริหารจัดการขยะ ต้องไม่ทำให้กลายเป็นแหล่งในการแสวงหาผลประโยชน์ใหม่ของผู้มีอำนาจ

-“การยกเว้นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)” : สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป การยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองกับการขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานกำจัดของเสียอันตราย โรงงานคัดแยกขยะ ที่ฝังกลบขยะ หรือโรงงานรีไซเคิลขยะ ทำให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมถูกทำลายจากการยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวง ผังเมืองดังกล่าว

-“การแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม” : เพื่อให้หน่วยงานสามารถอนุมัติการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการได้ก่อน ถึงแม้ยังไม่ทราบผลการประเมินผล EIA

-“การออก พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ” : ที่ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการออกข้อกำหนดการจัดเก็บค่าจัดการขยะมูลฝอย ทั้งค่าเก็บและค่าขน และอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโดยไม่ให้ถือเป็นกิจการร่วมทุนตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนรัฐ-เอกชนฯ พ.ศ.2556

-เมื่อโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระดับชาติแบบนี้ถูกส่งผ่านไปยังการใช้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับ เทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จึงทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณไปกับการจัดการขยะและการควบคุมมลพิษได้เลย (ส.ส.ตรวจสอบผ่านสภาไม่ได้)

 (4) ไม่ประมาณการรายได้สูงเกินจริงจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

-การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีการประมาณการตัวเลขรายได้ไว้สูงเกินจริงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งของรายได้ที่ถูกประมาณการไว้สูงเกินจริงนั้น มาจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะถูกจัดเก็บเป็นปีแรกที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสามารถจัดเก็บได้จริงเท่าใด ซึ่งส่งผลให้ อปท. จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

(5) ในปีถัดๆ ไป จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของ อปท. ซึ่งต้องเดินทางเข้ามาชี้แจงงบประมาณ

-สำนักงบประมาณได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละประเภทเป็นหน่วยรับงบประมาณ ตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งจากการประสานงาน สำนักงบประมาณวางแผนดำเนินงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับงบประมาณไว้ ดังนี้

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 76 แห่ง, ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เทศบาลนคร/เทศบาลเมือง จำนวน 213 แห่ง, ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เทศบาลตำบล จำนวน  2,235 แห่ง, ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,326 แห่ง

-ในการพิจารณางบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 แห่ง ต้องเดินทางเข้ามาชี้แจงคำของบประมาณต่อสภาด้วยตนเองในปีแรกของการเปลี่ยนถ่าย และในปีงบประมาณถัดๆ ไป นายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งหมดก็จะต้องเดินทาง เข้ามาชี้แจงคำของบประมาณต่อสภาด้วยตนเองเช่นกัน

-ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดหาวิธีการชี้แจงงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน เพราะการที่กำหนดให้ผู้บริหาร อปท. ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7,852 แห่ง ต้องเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเองที่รัฐสภานั้น นอกจากจะขาด ประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและสูญเสียเวลาในการปฏิบัติราชการโดยไม่จำเป็นอีกด้วย “การประชุมทางไกล (Teleconference)” และการลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ (paperless) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้

แม้ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง-ปรับลด การจัดทำงบประมาณปี 63 ในส่วน อปท. ได้จริง แต่พวกเขาได้สร้างหมุดหมายใหม่ของการอภิปรายงบประมาณในสภา ด้วยการจัดทำ-วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้มข้น ออกแบบวิธีการนำเสนอ ออกแบบโครงเรื่องหลัก เส้นเรื่องรอง ไปจนถึงทิ้งคำถาม-ข้อคิด-ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำงบประมาณ

แม้ชีวิตทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่อยู่ระหว่างนับถอยหลัง แต่การดับเครื่องชนตลอดหลายเดือนนี้ โดยเฉพาะผ่านการทำงานในสภา ทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่เพียงเขย่าผู้มีอำนาจ-อำนาจรัฐ ที่บริหารงบประมาณอย่างเงียบเชียบตลอดห้าปีที่ผ่านมา แต่ยังเขย่าพรรคข้าราชการ ให้เปลี่ยนทิศทางการจัดทำงบประมาณในคราวต่อไปด้วย

มาตรฐานใหม่ของการทำงานในสภา เกิดขึ้นแล้ว ไปพร้อมๆ กับโจทย์ใหม่-วิธีการจัดทำงบประมาณแบบใหม่ๆ เพื่อคนทุกคน ก็ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน 

วยาส
24Article
0Video
63Blog