ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอิตาลียืนยันว่า อิตาลีจะถอนตัวจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือโครงการวันเบลต์วันโรดของจีน (BRI) ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของรัฐบาล จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี แจ้งรัฐบาลจีนว่าอิตาลีจะยุติการเข้าร่วมในโครงการ BRI ก่อนถึงเส้นตายในสิ้นปีนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 อิตาลีเป็นประเทศตะวันตกที่สำคัญเพียงประเทศเดียวที่ลงนามใน BRI ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่ทะเยอทะยานที่สุดของจีน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในขณะนั้น

โครงการ BRI เปิดตัวโดย สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อช่วงปี 2556 โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะทำให้จีนลงทุนเป็นเงินประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 35.36 ล้านล้านบาท) ทั่วเอเชียและยุโรป ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบโครงการการลงทุนต่างๆ รวมถึงทางรถไฟและท่าเรือใหม่ และพร้อมกับกันการยกระดับการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อจีนกับยุโรปและส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

อย่างไรก็ดี โครงการ BRI ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการโดยสหรัฐฯ ว่าเป็นตัวอย่างของ "การทูตกับดักหนี้" ของจีน โดยทางการสหรัฐฯ กล่าวว่า แผนของจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ยั่งยืนของจีน ได้ทำขึ้นประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้เอง ส่งผลให้รัฐบาลจีนสามารถใช้ประโยชน์จากเป้าหมายของตัวเองได้จากการเป็นหนี้ของประเทศอื่นๆ ต่อจีน

อิตาลีเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป 18 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประเทศในภูมิภาคทางตะวันออกและทางใต้ของสหภาพยุโรป ที่ได้ลงนามใน BRI โดยสมาชิก BRI แต่ละประเทศมีกำหนดการสามารถต่ออายุการเป็นสมาชิกได้โดยอัตโนมัติในเดือน มี.ค.ปีหน้า เว้นแต่อิตาลีจะแจ้งให้จีนทราบว่าจะขอถอนตัวออกจาก BRI ภายในสิ้นปีนี้

ก่อนหน้านี้ เมโลนีเคยกล่าวถึงการตัดสินใจของรัฐบาลอิตาลีชุดเดิม ที่จะเข้าร่วม BRI ว่าเป็น “ความผิดพลาดร้ายแรง” และเมโลนียังได้ระบุว่า เธอตั้งใจที่จะถอนอิตาลีออกจากการเป็นสมาชิก BRI อย่างไรก็ดี รัฐบาลของเมโลนีเน้นย้ำว่า อิตาลีกำลังพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในความพยายามเพื่อการถอนอิตาลีออกจาก BRI ของจีนก็ตาม

มีเงินเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่ 2 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 7.6 แสนล้านบาท) จากมูลค่าการลงทุนมหาศาลทั้งหมดจากจีนที่ไหลเข้ามาลงทุนในอิตาลี และได้มีผลการลงทุนออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว หลังจากที่สีได้เคยให้สัญญาเอาไว้ในปี 2562 นอกจากนี้ การส่งออกของอิตาลีไปยังจีนมีมูลค่า 1.64 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 6.23 แสนล้านบาท) ในปีที่แล้ว เทียบกับ 1.3 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 4.94 แสนล้านบาท) ในปี 2562 ในทางตรงกันข้าม การส่งออกของจีนไปยังอิตาลีเพิ่มขึ้นเป็น 5.75 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 2.18 ล้านล้านบาท) จาก 3.17 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ดี จีนทำการค้าขายกับสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีมากขึ้น แม้ว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของยูโรโซน จะไม่ได้เป็นสมาชิกของ BRI ก็ตาม

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีเมื่อปีที่แล้ว เมโลนีพยายามเป็นผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศของอิตาลีที่สนับสนุนชาติตะวันตก และสนับสนุนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มากกว่านายกรัฐมนตรีอิตาลีของรัฐบาลชุดก่อนๆ แม้ว่าเธอเองจะมีอุดมการณ์ฝ่ายขวาก็ตาม

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของเมโลนี มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดระหว่าง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและสี ในวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) โดยมีการคาดการณ์ว่าในระหว่างการประชุม ฟอน เดอร์ เลเยน อาจจะมีการหยิบประเด็นการกล่าวเตือนประธานาธิบดีจีน ให้มีการควบคุมอุปทานสินค้าราคาถูก รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้าไปยังสหภาพยุโรป ขึ้นมาพูดคุย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-67634959?fbclid=IwAR1Us-SLzfZgEWttY8SRx7Co6nvInIhDXvLk1MtU63XD2ZahDqVcytrTRnw