ไม่พบผลการค้นหา
‘ทิม คุก’ เดินเข้าตึกแอปเปิล ฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนมีนาคม 2541 หลังจากนั้น 13 ปี เขาขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เมื่อผู้ก่อตั้งแอปเปิลอย่าง ‘สตีฟ จ็อบส์’ เลือกจะวางมือ

ทศวรรษเต็มๆ นับตั้งแต่ขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ของแอปเปิล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2554 ข้อมูลพบว่า คุกสามารถเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization หรือ market cap.) ได้มากกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 69 ล้านล้านบาท 

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขดังกล่าวกับจ็อบส์ ตลอดเวลาราว 14 ปีที่จ็อบส์กลับเข้ามาเป็นซีอีโอให้แอปเปิลครั้งที่สองนั้น เขาสามารถเพิ่ม market cap. ได้เพียง 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท เท่านั้น 

นับจนถึงตอนนี้ไม่มีซีอีโอคนไหนอีกแล้วที่สามารถเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดได้มหาศาลเทียบเท่าคุก ที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะเป็น ‘สัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารของไมโครซอฟท์ กับระยะเวลาการนั่งตำแหน่งสูงสุด 7.6 ปี และตัวเลข market cap. 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 62 ล้านล้านบาท 

สัตยา ไมโครซอฟท์ เอเอฟพี
  • ‘สัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารของไมโครซอฟท์

หากเทียบกันแค่มูลค่ารวม คุกยังเป็นผู้ชนะอยู่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ระยะเวลาการบริหารของนาเดลลาน้อยกว่าฝั่งซีอีโอแอปเปิลกว่าสองปี ด้วยเหตุนี้ หากไปดูระดับการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดต่อปีของทั้งคู่ จะพบว่า นาเดลลาทำได้ดีกว่าคุก ด้วยตัวเลขการเติบโตสูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (8.5 ล้านล้านบาท) ขณะที่ของคุกคือ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (6.5 ล้านล้านบาท) 

ด้าน ‘เจฟ เบซอส’ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยท่ีสุดอันดับหนึ่งของโลก (ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2564) มีสถิติการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตลาดให้กับแอมะซอนตลอดระยะเวลา 24.1 ปีที่นั่งหัวโตะเท่ากับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 55.6 ล้านบาท 

ขณะที่ 6 ปีของ ‘ศุนทัร ปิจไช’ ซีอีโอเชื้อสายอินเดียของอัลฟาเบตซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลนั้น นับว่าทำผลงานได้น่าประทับใจด้วยตัวเลข market cap. รวม 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (46 ล้านล้านบาท) ทั้งยังมีระดับการเติบโตของ market cap. ต่อปีสูงเป็นอันดับที่สอง รองแค่เพียงนาเดลลาเท่านั้น ที่ตัวเลข 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.9 ล้านล้านบาท 

ซันดา พิชัย - ซีอีโอ - กูเกิล
  • ‘ศุนทัร ปิจไช’ ซีอีโออัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล

สำหรับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และ อีลอน มัสก์ ที่นั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัทด้วยระยะเวลา 9.3 และ 11.2 ปีตามลำดับ ยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่า market cap. ในระดับล้านล้านดอลาร์สหรัฐฯ ได้

เฟซบุ๊กของซัคเคอร์เบิร์ก มีตัวเลขเพิ่มขึ้นราว 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31 ล้านล้านบาท ขณะที่เทสลาของมักส์ มี market cap. เพิ่มขึ้นรวม 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 23 ล้านล้านบาท 


สินค้าชิ้นต่อไปไม่จำเป็นต้อง ‘ยิ่งใหญ่’

การขึ้นมาเป็นผู้นำบริษัทตลอดทั้งสิบปีที่ผ่านมาของคุก ไม่ได้ตั้งอยู่บนการต้องผลิตสินค้าล้ำสมัย ไม่เคยมีมาก่อน หรือโค่นทิ้งความสำเร็จในอดีตของบริษัทหรือซีอีโอคนก่อนเพื่อพิสูจน์ความเป็นอัจฉริยะของตนเอง

อาจจะกล่าวได้ว่าคุกยังคงทำหน้าที่เดิมเช่นเดียวกับในวันแรกที่จ็อบส์จ้างเขานั่นก็คือการทำให้สายการผลิตสินค้าของแอปเปิลมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยปัจจุบันไอโฟนที่จ็อบส์คิดค้นยังคงเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แอปเปิลสูงเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท 

The Economist ระบุว่า “ขณะที่จ็อบส์มักบริหารองค์กรด้วยความเกรี้ยวโกรธ แต่คุกมักจะใช้ตารางการทำงาน(spreadsheet) และค่อย ๆ แก้ปัญหา”

แม้จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาและต่อยอด ‘ระบบนิเวศน์’ ของแอปเปิลแทนการค้นหาสิ่งยิ่งใหญ่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุกปราศจากแนวคิดนวัตกรรมแต่อย่างใด แอปเปิลใต้การบริหารงานของคุก เลือกพัฒนาระบบประมวลผลการของตนเองอย่าง “M1” ขึ้นมา ซึ่งมีใช้งานจริงแล้วในคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ของแอปเปิล 

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล หนุนความหลากหลายทางเพศ
  • ทิม คุก สนับสนุนประเด็นความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด

ทว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุกในการนั่งบริหารแอปเปิลนั้นไม่ใช่ทั้งการพัฒนาสายการผลิตหรือคิดค้นระบบประมวลผลใหม่ แต่เป็นการเล็งเห็นว่าแอปเปิลจะเข้าไปเป็นผู้เล่นตรงไหนของโลกและความรับผิดชอบต่อสังคม/โลก ของแอปเปิลควรเป็นเช่นใด ซึ่งเห็นได้ชัดจากทั้งความใส่ใจในรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ไปจนถึงประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล 

แม้คุกยังไม่มีแนวโน้มจะลุกขึ้นจากเก้าอี้บริหารที่เขานั่งอยู่ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็คงต้องจับตาดูกันต่อว่าแอปเปิลจะอยากได้ผู้บริหารแบบใดมาสานต่อองค์กร

อ้างอิง; The Economist, CNBC