ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.ประสานเสียงศิลปิน เน้นสร้างจิตสำนึกต้านทุจริต ประเทศเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องรอง ด้านประธานทีดีอาร์ไอ ยกสมการคอร์รัปชัน ชี้ต้องสร้างระบบอย่าเน้นเทศนาจริยธรรม แนะลดการผูกขาดและการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจ เน้นเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จัดเสวนา "ไม่ทนคนโกง No More Corruption ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส" ที่อาคารไปรษณีย์กลาง กรุงเทพมหานคร เพื่อจุดกระแสสังคม ให้ตระหนักถึงปัญหาจากการทุจริตและการตั้งคำถามกับ "ความไม่สุจริต" และ "ความไม่โปร่งใสใกล้ตัว" ทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนเพื่อต่อสู้กับปัญหาทุจริต รวมถึงความสำคัญในการสร้างเครือข่าย "ไม่ทนคนโกง" โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าร่วมงานด้วย โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ระบุว่า การต่อสู้กับการทุจริตของไทยตกต่ำ ดูจากผล CPI ค่าดัชนีรับรู้การทุจริต ขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งของไทยไม่ได้ดีขึ้นแต่ตกลงไป 2 คะแนน ส่วนประเทศที่เคยต่ำกว่าหรืออยู่ระดับเดียวกันกับไทยมีการขยับขึ้นมา ทั้งเวียดนามเพิ่ม 6 คะแนน อินโดนีเซียขยับขึ้นมา 4 คะแนน ดังนั้น ไทยต้องทบทวนการแก้ปัญหา พร้อมระบุถึงงานวิจัยเคยทำมา พบว่าวิธีแก้ปัญหาของการทุจริตมี 4 แบบ คือ

1. วิธีแบบตำรวจ คือไล่ตามจับ 2. วิธีแบบพระ คือ เทศนาหรือปลูกจิตสำนึก 3. วิธีแบบสถาปนิก คือ ออกแบบระบบให้การทุจริตทำได้ยาก 4. วิธีแบบประชาชน คือ ต้องใช้พลังประชาชนทุกภาคส่วนมาช่วยกันต่อต้านการทุจริต นายสมเกียรติ มองว่า คนไทยมักเพ่งเล็งไปที่การไล่จับหรือการสร้างจิตสำนึก แต่ตนมองว่าวิธีที่ดีที่สุดคือวีธีที่ 3 คืิอการออกแบบระบบ โดยคิดจากสมการคอรัปชั่น C = M+D-A หรือ Corruption =  Discretion ดุลยพินิจ + Monopoly การผูกขาด -​ Accountability กลไกความรับผิดชอบหรือความโปร่งใส พร้อมขยายความว่า หากมีการใช้ระบบดุลยพินิจและการผูกขาดมากการทุจริตก็จะมาก แต่หากมีความโปร่งใสเยอะการทุจริตก็จะทำได้ยาก นายสมเกียรติ เสนอว่า รัฐไทยต้องเปิดเสรีธุรกิจที่มีผูกขาดอยู่ เปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงและลดการใช้ดุลพินิจ ซึ่งคะแนนการทุจริตเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยในระบบการเมืองด้วย และที่คะแนนไทยตกต่ำ เพราะเหตุจากว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานานด้วย ส่วนประเทศจีนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการทุจริตน้อยกว่าไทยและได้คะแนนความโปร่งใสสูงกว่าไทยนั้น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ใช้นโยบายเข้มงวด คือ "ปราบเสือและตีแมลงวัน" ส่วนไทยคล้ายกับ มุ่งตีแมลงวันแต่เสือหรือผู้มีอำนาจที่ทุจริตไม่ค่อยถูกเอาผิด อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างในแอฟริกานั้น ส่วนใหญ่การทุจริตจะมีสูงและความโปร่งใสมีต่ำมาก ไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนประเทศจีนในเรื่องนี้ นายนที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดดาเบลส ศิลปินนักร้องชื่อดัง กล่าวว่า "การไม่ทนคนโกง" ต้องเริ่มจากตัวเองและคนใกล้ชิด เพราะต่อให้กฎหมายมีโทษรุนแรงแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ หากคนไม่ปฏิบัตตามและผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด ทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้ผู้บังคับใช้กฎหมายเรียกรับผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยมองว่า การปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะแม้ประเทศจีน ที่ไม่มีประชาธิปไตยเลย ยังมีคะแนนสูงกว่าไทย ดังนั้น การทุจริตจึงไม่ใช่อยู่ที่ระบอบการเมืองที่ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างเดียว และตนเคยอ่านหนังสือมาพบว่า ฮ่องกงใช้เวลานานในการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กเพื่อไม่แก้ปัญหาทุจริต สอดคล้องกับนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เห็นว่าประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ค่า CPI ก็สูงกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้ ดังนั้น รูปแบบการปกครองไม่ใช่ตัวชี้ขาดเสมอไป การแก้ปัญหาทุจริตที่ยั่งยืนที่สุดคือแก้ระบบคิดของคนในสังคมให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ช.ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ มีภารกิจครอบคลุม 3 ด้าน และทำงานอย่างเต็มที่คือ การปราบปราม, การป้องกันและปลูกฝังจิตสำนึก มีการดำเนินคดียึดทรัพย์และออกผิดคนทุจริต มีการตรวจสอบและให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นแสดงทรัพย์สิน, เปิดเผยข้อมูลต่างๆต่อสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปดูได้ นายอุทิศ ย้ำถึง หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเริ่มดำเนินการใน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ให้ทุกคน เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมาเป็นอันดับแรกและประโยชน์ส่วนตนมาเป็นอันดับ 2 ให้ตระหนักว่าก่อนจะทำอะไรจะต้องคิดถึงผลที่จะกระทบต่อผู้อื่นเสมอ ขณะที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา เจ้าของรางวัล Anti-Corruption Awards 2019 ที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินคนจนปี 2561 กล่าวว่า เริ่มตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของการจ่ายเงินคนในโครงการของรัฐ โดยพบพิรุธจากงานเอกสารที่ตัวเองได้รับผิดชอบช่วงฝึกงานก่อนจบการศึกษา และนำมาเปิดเผยพร้อมร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ได้รับแรงกดดันทั้งจากอาจารย์ที่ใกล้ชิดและผู้บริหารหน่วยงานที่ฝึกงาน ที่ไม่อยากให้เรื่องนี้ปรากฎเป็นข่าว แต่ตนก็ยืนยันที่จะเปิดโปงเรื่องนี้ เพราะเห็นใจคนจนและไม่เห็นด้วยกับการทุจริต ในงานยังมีการเปิด VDO Viral การแสดงพิเศษจากศิลปิน ทั้งจากวงพาราด๊อกซ์, ต่าย อรทัย และ ไผ่ พงศธร ร่วมร้องเพลงปิดท้ายงานรวมถึง "ครูสลา คุณวุฒิ" ร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง "เหนื่อยที่จะยอม" และเพลง "โอ้.. คนไทยเอย" ที่นักร้องส่วนหนึ่งใช้ร้องในวันนี้ด้วย

ปปช ทุจริต โกง คอร์รัปชัน วัชรพล วรวิทย์ 842284928.jpg