ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรฯ บุกสภาฯ จี้ เอาผิด ‘จิราพร’ อภิปรายเรื่องเหมืองทองคำ เหตุบิดข้อเท็จจริง วอน ‘ชวน’ ส่งสำนวนฟ้อง ป.ป.ช.

วันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่ห้องแถล่งข่าว ศาลาแก้ว รัฐสภา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดย วันเพ็ญ พรรมรังสรรค์ ได้ยื่นหนังสือต่อ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฏร ถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ ให้มีการสอบสวนจริยธรรมต่อ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ‘เหมืองทองอัครา’ เมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 2565) และอีกหลายครั้งที่ผ่านมา

วันเพ็ญ ในฐานะแกนนำกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ตนเป็นตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้ร้องในเรื่องเหมืองทองอัคราต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีที่บริษัทเอกชนประกอบเหมืองแร่ทองคำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บางส่วนชี้มูลความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และบางคดีได้สั่งฟ้องต่ออัยการแล้ว และอีกบางส่วนก็ยังอยู่ในการสอบสวนกว่า 40 คดี

130451.jpg

วันเพ็ญ กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยยุติการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 72/2559 ประกอบกับมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 เป็นอำนาจโดยชอบรัฐบาลไทยผู้ซึ่งให้สัมปทาน เมื่อประชาชนร้องเรียผลกระทบก็ได้มีการใช้อำนาจรัฐบาลเข้ามาสัมปทาน ระงับไม่ให้ต่อใบอนุญาตที่สิ้นอายุตามปกติ นี่จึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของรัฐบาลไทยผ่านมติของครม. โดยการไม่ต่อใบอนุญาตนั้น ได้นำไปสู่การตรวจสอบตามข้อร้องเรียน และพบว่า บริษัททำผิดกฎหมายในประเทศไทยหลายกรณี กรณีเช่นนี้ แม้ประเทศไทยจะถูกดึงเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ แต่ว่าในการต่อสู้ในชั้นนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งในการต่อสู้ เนื่องจากคสช.ที่ใช้มาตรา 44 ประกอบกับมติครม. ในการยุติการทำเหมืองทองคำ ประเทศไทยก็ยังมีพระราชบัญญัติเหมืองแร่ 2550 ที่คุ้มครองไว้ จึงไม่เสียเปรียบเป็นเหตุให้จ่ายเงินใดๆ แก่บริษัทเอกชน นี่คือจุดแข็งของประเทศไทยที่ได้เดินหน้าเข้าสู่อนุญาโตตุลาการอย่างสง่างาม 

วันเพ็ญ เสริมว่า ด้วยเหตุนี้ การที่ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หยิบเรื่องเหมืองแร่ทองคำมาอภิปรายอยู่หลายครั้ง และบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วนว่าประเทศไทยได้รับความเสียหายจาก ม.44 จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้กรณีดังกล่าว อนุญาโตตุลาการ ยังไม่ได้มีข้อชี้ขาด และที่สำคัญการอภิปรายโจมตี ม.44 โดยไม่หยิบเอาการใช้มติของคณะรัฐมนตรีอันเป็นการบริหารแผ่นดินโดยราชการไทยผู้ให้สัมปทาน และเป็นอำนาจสัญญาทางปกครองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยรัฐบาลไทย 

“การกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ล้มคดีเหมืองทองคำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหว และเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญ กลุ่มประชาสังคมจึงเห็นว่า การอภิปรายของ จิราพร อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อรูปคดี และนำเอกสารความเห็นของอัยการสูงสุดมาเผยต่อที่สาธารณะจึงเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ควรได้รับการตรวจสอบ และหากผิดจริงต้องส่งต่อแผนกคดีทางการเมืองต่อไป” วันเพ็ญ กล่าว