ไม่พบผลการค้นหา
การยางแห่งประเทศไทย เจรจามาเลเซียเปิดด่านส่งออกยางพาราปาดังเบซาร์ให้ไทย 6 เม.ย. ระบายผลผลิต หลังเกิดปัญหาปิดด่านป้องกันโควิด-19 ย้ำแต่ละเที่ยวรถไฟขนส่งมี จนท. ดูแลตู้ขนส่ง 19 คน ต้องผ่านระบบคัดกรองของมาเลเซีย

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบ ถึงการส่งออกยางพารา ซึ่งมีความติดขัดและข้อจำกัดในเรื่องสุขอนามัยบริเวณด่านส่งออก โดยที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนบริเวณด่านส่งออกสะเดา จ.สงขลา อนุญาตให้สามารถส่งออกน้ำยางได้

ทั้งนี้ หลังจากที่ กยท. ได้เร่งประสานงานร่วมกับจ. สงขลา ผู้แทนราษฎร จ. สงขลา สถานกงสุลมาเลเซีย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงความมั่นคงของมาเลเซียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อขอให้ทางรัฐบาลมาเลเซียอนุญาต เปิดด่านนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย ผลล่าสุดทางประเทศมาเลเซียได้ตอบตกลงให้มีการเปิดด่านปาดังเบซาร์ ด่านขนส่งทางรถไฟเพิ่ม โดยจะเริ่มเปิดด่านในวันที่ 6 เม.ย.2563 นี้

โดยแต่ละเที่ยวรถไฟประเทศไทยจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ประจำรถไฟ จำนวน 19 คน เพื่อดูแลตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่จะนำเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย และต้องผ่านการตรวจคัดกรองของประเทศมาเลเซียทุกครั้ง

นายขจรจักษณ์ กล่าวว่า กยท. คาดหวังให้พี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา มีช่องทางการส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้น ภายใต้สถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ เพื่อลดผลกระทบในเรื่องราคายาง และตลาดการส่งออกยาง

ขยายเวลาชำระหนี้ เพิ่ม 60 วัน เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

นายขจรจักษรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายส่วน กยท.ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หาแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็น ผู้ที่กู้ยืมเงินกับ กยท. ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ปรับปรุงคุณภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 7 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. – ก.ย. 2563 และผู้ที่กู้ยืมเงินผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) เงินกู้ยืมเพื่อสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 60 วัน (เมษายน-พฤษภาคม 2563)

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายการช่วยเหลือครั้งนี้ ประกอบด้วย เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวนประมาณ 30,000 ราย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 848 ราย คิดเป็นเงินกู้จากมาตรา 49(3) ประมาณ 505 ล้านบาท และเงินกู้จากมาตรา 49(5) ประมาณ 211 ล้านบาท รวมเป็นเงินมูลหนี้ 716 ล้านบาท โดยพักชำระเงินต้นและงดเก็บดอกเบี้ย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวสวนยางในภาวะที่มีโรคระบาดไวรัสโคโรน่า 2019


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :