ไม่พบผลการค้นหา
อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เล่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 2553 บนถนนราชดำเนิน บริเวณแยกคอกวัว ในวาระครบ 10 ปี ชี้การทำให้ลืมคือวัฒนธรรมอันน่ารังเกียจ เมื่อไม่มีความจริง ย่อมไม่มีความยุติธรรม

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจบัญชีชื่อ 'Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ระบุถึง 10 ปี 10 เมษา 2553 ว่า 10 ปี 10 เม.ย. ยังจำวันนี้เมื่อสิบปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี นึกถึงวันที่ 10 เม.ย.เมื่อใด แผลที่แขนข้างซ้ายก็แสบร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวันนั้นเป็นวันที่มีอิทธิพลกับชีวิตมากที่สุดวันหนึ่ง วันที่ 10 เม.ย.ปีนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดแผลบนแขนข้างซ้ายของตนเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดแผลที่บาดลึกในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนถึงทุกวันนี้

เขาเล่าว่า ในวันนั้นตนไม่ได้เป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองเช่นวันนี้ เป็นเพียงนักธุรกิจธรรมดาที่มีความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย เนื่องจากบ้านและที่ทำงานของตนอยู่นอกเมือง ไม่มีโอกาสเข้าเมืองเพื่อร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินทุกวัน วันไหนเลิกงานเร็ว ไม่เหนื่อยนักก็จะเข้ามาที่ชุมนุม สังเกตการณ์และให้กำลังใจเพื่อนๆ และชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่เป็นระยะๆ หากมีอะไรที่พอทำได้ ก็พร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่ที่ชุมนุมอยู่เสมอ แม้จะไม่รู้จักแกนนำบนเวทีเลยก็ตาม

ในบ่ายวันนั้น ตนและเพื่อนกลุ่มหนึ่งตระหนักถึงความแหลมคมของสถานการณ์ และหวังว่าพวกเราในฐานะประชาชนธรรมดาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในสถานการณ์เช่นนั้น เราเห็นว่าการแสดงพลัง, การต่อสู้และการยืนหยัดร่วมกันในวันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงตัดสินใจเดินทางไปราชดำเนินในช่วงบ่าย ราชดำเนินร้อนระอุ ไม่ใช่แค่จากไอร้อนแรกของปี แต่จากสถานการณ์อันวุ่นวายบนถนนและจิตใจของผู้ชุมนุม

นาทีปราบคนเสื้อแดงด้วยกระสุน

เมื่อเราไปถึงตอนประมาณช่วงบ่ายต้นๆ ทหารได้ล้อมที่ชุมนุมไว้หลายทางแล้ว เสียงเฮลิคอปเตอร์จากด้านบนสร้างความกังวลให้ผู้ชุมนุมเป็นระยะ การปะทะกันระหว่างฝ่ายทหารและผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ฝ่ายทหารใช้โล่กระบองและแก๊สน้ำตา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมมีก้อนหิน, ท่อนไม้, ขวดน้ำ และข้าวของอื่นๆ ที่พอจะหาได้

นายธนาธร กล่าวต่อว่า สำหรับตนไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงในวันนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว เป็นการกระทำที่วางแผนมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระดมกำลังทหารมากว่า 70 กองร้อย, การจงใจสลายการชุมนุมในตอนมืด, การใช้กระสุนจริง, การที่ผู้เสียชีวิตถูกกระสุนยิงเข้าที่บริเวณตัวหรือหัว, การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อปิดเบือนหรือปกปิดความจริงทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังเหตุการณ์, และ กระบวนการยุติธรรม (ที่ไม่ยุติธรรม)

หลังจากนั้น เมื่อ 10 เม.ย.เวียนมาทีใด ตนอดคิดถึงรอยแผลที่แขนข้างซ้ายไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 รวมกัน 94 รายและผู้บาดเจ็บอีก 1,400 คน ความจริงในวันนั้นยังถูกปกปิด ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งทหารและชายชุดดำ เราถูกหลอกให้ให้ความสำคัญกับความปรองดองกันแบบฉาบฉวย ซึ่งแท้จริงแล้วคือประกาศิตที่สั่งให้เราลืม, เงียบ และยอมจำนน 10 ปีผ่านมา

"เราอาจหลงลืมไปว่า เมื่อไม่มีความจริง ก็ไม่มีความยุติธรรม เมื่อไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีความสงบสุข วัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดลอยนวล ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ คือวัฒนธรรมอันน่ารังเกียจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ครอบงำสังคมไทย เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะทำลายวัฒนธรรมเช่นนี้ เพราะความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการสร้างสังคมใหม่ สังคมที่เราอยากเห็นและอยากให้ลูกหลานเราได้เติบโตขึ้นมา สังคมที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกชนชั้นได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :