ไม่พบผลการค้นหา
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” อดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์, โลกหนังสือ, ผู้ก่อตั้งช่อการะเกด ฯลฯ ในวัย 76 เป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่ถูกปลดลงจากความเป็นแห่งชาติ แต่นั่นไม่ได้ทำให้กระดูกสันหลังและสามนิ้วที่ชูขึ้นคดงอลง

14 ต.ค. เขาจะยื่นฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติต่อศาลปกครอง ที่เพิกถอนมติยกเลิกการเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 หลังกล่าวหาว่าได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในเฟซบุ๊กเป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อวัฒนธรรมไทยและเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรม ชดใช้ค่าเสียหายต่อการถูกละเมิดสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รวม 1,120,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการเป็นศิลปินแห่งชาติของเขาไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา

ข้างต้นเป็นเพียงหน้าฉากของการต่อสู้-ยืนยันสิทธิเสรีภาพทั้งในนามศิลปินและราษฎรเต็มขึ้น แต่ลึกลงไปในทัศนะ เขามองประเด็นแวดล้อมอย่างไร ใจกลางปัญหาอยู่ตรงไหน

เพื่อที่เราจะภาพใหญ่ร่วมกันว่า ทำไมคนในวัยสนธยาอย่างเขาถึงกล้าประกาศสนับสนุนคนหนุ่มสาวและชูสามนิ้วเหยียดสุดแขนโดยไม่เคอะเขิน


สุชาติ สวัสดิ์ศรี

1. ปลดออก

ตอนช่วงปี 62 มันมีข่าวแล้วว่าเขาจะแก้กฎกระทรวง หลายคนก็บอกว่ามึงโดนแน่ แต่ตอนนั้นคนก็บอกว่าคงไม่ใช่หรอก คงเป็นประเด็นอื่น แต่พอปี 63 เขาแก้กฎกระทรวงได้ แล้วการประชุมมันมีวาระหนึ่ง มีคนว่าเป็นวาระลับมาก เอกสารการประชุมนี่เรามารู้ทีหลัง แต่มีมติเอกฉันท์ตั้งแต่สิงหาคม พอวันที่ 20 สิงหาคม มีส.ว.คนหนึ่งเขียนเฟซบุ๊กทำนองว่าแว่วข่าวดีคือปลดนายสุ 

ตอนแรกผมคิดว่าคงไม่จริงหรอกมั้ง แต่พอช่วงสายวันนั้นก็มีคนส่งข่าวมาบอกว่าใช่ พวกสื่ออีกฟากหนึ่งเขาก็เล่นใหญ่เลย เพราะว่าข่าวมันออกมาว่ามติเอกฉันท์ เขาก็เล่นผมแบบเสียหาย ประมาณว่าสุชาติโดนเชือดอะไรแบบนี้ เป็นข่าวก่อนที่จะมีหนังสือเป็นทางการมาถึงผม 

แต่ตามระเบียบวิธีปฏิบัติทางราชการ ถ้าเขาจะมีมติเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อกล่าวหา เขาก็ต้องแจ้งให้เจ้าตัวทราบเพื่อให้ไปชี้แจง แต่นี่ไม่มี ผมเข้าใจว่าข่าวรั่ว แล้วสื่อทางนั้นเอาไปเล่นจนผมอับอายเสียหาย จนกระทั่งอีกประมาณ 10 วันต่อมาก็อย่างที่เป็นข่าว

หนึ่ง เขาว่าผมโพสต์เฟซบุ๊กสร้างประเด็นความขัดแย้งในสังคม สอง ผมโพสต์ข้อความและภาพที่หมิ่นเหม่สถาบันฯ นี่ชัดเจนว่าเป็นข้อกล่าวหา และยังบอกว่าผมเป็นศิลปินแห่งชาติที่ไม่ปฏิบัติตามหลักวัฒนธรรมไทย มีความประพฤติไม่ชอบด้วยกาย วาจา ใจ อะไรทำนองนี้ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี 


2. วันได้รับเลือก

ย้อนไปตอนที่ผมได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติเนี่ย ผมเคยปฏิเสธด้วย เขาก็วุ่นวายกันพักใหญ่ หลายคนที่ใกล้ชิดผมรู้เรื่องนี้ ผมปฏิเสธเพราะว่าผมเคยร่วมก่อตั้งโครงการนี้เมื่อปี 2527 แล้วผมมีหลักการอยู่ข้อหนึ่งว่าศิลปินที่จะถูกเลือกนั้นควรจะเป็นคนที่ได้รับเกียรติเต็มที่ ไม่ใช่ให้แบบเหมาโหล และมันก็เริ่มบิดเบี้ยวไปเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้นมา 

ปีที่ผมได้รับ มีคุณประภัสสร (เสวิกุล) ร่วมด้วย ผมบอกทีมผู้จัดไปว่าให้คุณประภัสสรคนเดียวเถอะ เขาเหมาะสม ผู้จัดก็แย้งผมว่าเป็นไปไม่ได้ เขาโทรมาหาผม 11 โมง บ่ายโมงเขานัดสื่อแล้ว เตรียมเอกสารให้นักข่าวเรียบร้อยแล้ว

อีกอย่าง คนที่มาแจ้งข่าวผมเขาชักแม่น้ำทั้งห้า แล้วบอกอีกว่ามีคนพยายามต่อสู้เพื่อให้ผมได้มานานแล้ว คนหนึ่งคืออาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เขาก็วุ่นวายใจกันอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งผมยอม เพราะผมนับถือเขาที่สู้เพื่อผม


3. “แห่งชาติ”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม สะท้อนความไม่มีมาตรฐาน ไม่ยึดโยงกับความถูกต้อง ถ้าหากคุณมีมาตรฐาน ศิลปินแห่งชาติเนี่ย จะใช้คำว่า “แห่งชาติ” ชาติสำหรับผมคือประชาชน นี่เป็นความหมายที่ผมเคยอธิบายไว้ตอนร่วมก่อตั้งร่วมระดมความคิดตอนปี 2527 แล้วมาประกาศครั้งแรกปี 2528 

สมัยนั้นยังเป็นคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่ได้มาเป็นกระทรวงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการยกย่องให้เกียรตินั้นเป็นในลักษณะ lifetime achievement award ของคนที่ทำงานมาเกือบทั้งชีวิต ยังไม่มีเงินเดือนอะไร เพิ่งมามีช่วงหลังที่มีกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว

คำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” เริ่มเปลี่ยนไปจากตอนก่อตั้ง ผมเห็นว่ารายชื่อที่ผมเสนอไว้ตั้งแต่ต้นมันหายไปเลย อิงอร (ศักดิ์เกษม หุตาคม) วิตต์ สุทธเสถียร อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) หายไปหมดเลย มีใครเข้ามารู้ไหมซึ่งผมไม่เคยเสนอ ม.ล.ปิ่น มาลากุล (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2530) ซึ่งเข้ามาในฐานะที่เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการด้วยนะ 

พอมามีค่าตอบแทนที่เป็นภาษีของประชาชน มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล เรื่องค่าเงินทำศพ ค่าเยี่ยมตอนเจ็บป่วย เวลาตายมีหนังสืองานศพ มันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์มากขึ้น ถ้าคณะอนุกรรมการไม่มีหลักว่าค่าตอบแทนต่างๆ มาจากภาษีประชาชน ผมว่าก็เขวได้ เพราะว่าเขาใช้วิธีให้คนในวงการเสนอชื่อกันมา แล้วก็มีคนเข้าเสนอไป แต่ แน่นอนว่าย่อมต้องมีคนที่เขาอยากให้อยู่แล้ว 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี


4. รื้อกระทรวง

เท่าที่ทราบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สาขาศิลปะการแสดง มีคนที่อยู่ในวงการที่มีคนเสนอไปมากกว่า 200 คน พวกสาขาวรรณศิลป์ประมาณ 80 คน กลายเป็นว่าใครเสนอก็ได้ แล้วศิลปินแห่งชาติแต่ละคนก็มีสิทธิเสนอ ผมไม่เสนอใครเลย แม้แต่คนที่อยู่ใกล้ตัว (ศรีดาวเรือง) แต่มีคนเสนอไป แต่ปรากฏว่าช่วงนั้นเป็นช่วงมีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองจนกระทั่งมีรัฐประหาร ชื่อก็เลยตกไป หลุดจากวงโคจรไปเลย หลายคนก็คงอยู่ในลักษณะนี้ แล้วก็มีคนอื่นถูกเสนอขึ้นมาแทน

ความไม่มีหลัก เอาแน่เอานอนไม่ได้ตรงนี้ ทำให้ผมมีความรู้สึกว่ามันเกิดข้อเสียหายในแง่ที่ว่าเราทิ้งคนไว้ข้างหลังมากมาย ผมเคยพูดไปแล้วว่ามันเป็นวิธีที่กระทรวงวัฒนธรรมทำงานทับซ้อนกัน อย่างศิลปินคนหนึ่ง อายุ 49 ได้รางวัลศิลปาธร พออายุ 50 ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ หมายความว่าไม่มีการประสานกัน ได้ศิลปาธรแล้วไม่ว่า แต่ศิลปินแห่งชาติเนี่ยได้ต่อกันเลยมันใช่เหรอ รออีกสิบปีข้างหน้าได้ไหม แล้วคนที่เขามาก่อน อายุอานามก็ใกล้จะไปเต็มทีแล้วมีอีกมากมาย เราทิ้งไว้ข้างหลังได้เหรอ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผมอยากเห็นกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นกระทรวงเกรดเอ เป็นกระทรวงที่มีวิสัยทัศน์ ตีความคำว่าวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมแช่แข็งไม่ได้ 


5. จากอุปถัมภ์สู่สวัสดิการ

ในแง่หนึ่ง การปลดผมจึงไม่ใช่ปัญหาของผม อนาคตอาจเกิดกับคนอื่นก็ได้

แน่นอน กรณีของผมวันนี้มันพ้นจากตัวผมไปแล้ว มันเป็นเรื่องของศิลปินแห่งชาติทุกคน แต่ปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติหลายคนก็ยังเนียนนุ่มชุ่มชื่นใจในเซฟโซนของเขาไป ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของเขาด้วย วันหนึ่งเขาอาจจะโดนกลั่นแกล้งแล้วก็โดนปลดก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการกล่าวหา

ถามว่าเพื่อจะทำให้ “ศิลปินแห่งชาติ” มีความหมายเท่ากับ “แห่งประชาชน” จริงๆ ควรเริ่มจากอะไร

คงต้องแลกเปลี่ยนกันให้ถึงที่สุดว่ามันควรหรือไม่ควรมีค่าตอบแทน-สิทธิพิเศษต่างๆ ในอนาคตผมคิดว่าควรจะมีการรื้อสร้างคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” คำว่าศิลปินแห่งชาติในปัจจุบันนี้มันเป็นศิลปินแห่งชาติข้าราชการ ถูกอุปถัมภ์ด้วยราชการ และต้องเชื่อฟังเขา ทั้งที่มาจากภาษีประชาชน มันใช่เหรอ คนที่ทำงานศิลปะต้องอยู่ในเบ้าศีลธรรมอันดีของข้าราชการเหรอ

พูดให้ถึงที่สุด คำว่าศิลปินแห่งชาติ ต่อไปอาจจะใช้ชื่อว่าศิลปินแห่งราษฎรหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งควรอย่างยิ่ง และถ้าหากว่าจะเอาออกจากระบบอุปถัมภ์ราชการ ก็ควรจะมีสวัสดิการถ้วนหน้าแทน สังคมดูแลศิลปินในทุกระดับในลักษณะถ้วนหน้า มีความเสมอภาค

เวลาที่เราพูดว่าสังคมควรจะดูแลศิลปินนั้น หนึ่ง ต้องให้เสรีภาพเขาเต็มที่ ถ้าคุณขีดเส้นให้เขาเดิน แบบนั้นเรียกศิลปินไม่ได้ ถ้าเขาเป็นของจริง เขาก็กระโดดข้ามหรือบินผ่านไปเลย

เป็นเรื่องปกติของคนทำงานทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเขียน กวี หัวใจเขาคือเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการแสดงออกก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญที่เราไม่ค่อยชอบตอนนี้ก็บัญญัติไว้

คนทำงานศิลปะคือคนที่มีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดหลากหลาย ประเด็นที่สังคมอาจจะเห็นว่าขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติ มีความเห็นต่างทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของคนเป็นศิลปินด้วยซ้ำ

เพราะศิลปินไม่ใช่คนที่ถูกสนตะพายอย่างวัวควาย คุณเป็นศิลปิน พอใส่คำว่าแห่งชาติ ได้รับเงินแล้ว ยอมให้ถูกสนตะพาย มันไม่ใช่


สุชาติ สวัสดิ์ศรี


6. ฝันที่สอดคล้อง

ถ้าเขา (ผู้มีอำนาจ) ไม่สบายใจที่ผมโพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนคนหนุ่มสาวราษฎร หรือเพราะผมชูสามนิ้ว มันก็เป็นสิทธิ์ของผมนะ แล้วสามนิ้วมันก็ใช่ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าคนทำงานศิลปะต้องยึดสามนิ้วนี้ไว้ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 

ผมเข้าใจว่าเขาตั้งธงไว้เรื่องหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากว่าผมก็ไปโพสต์เฟซบุ๊กในลักษณะที่ว่าเซฟคนนั้นคนนี้ และเห็นด้วยว่าควรยกเลิก ม.112 และเอาประยุทธ์ออกไป แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับของประชาชน แล้วก็ปฏิรูปสถาบันฯ 

ความฝันของคนหนุ่มสาวเป็นความฝันที่ทำให้สถาบันฯ มีความสง่างามนะครับ เขาไม่ได้ต้องการไปรื้อทำลาย เขาต้องการทำให้สง่างาม มันเป็นความจริงใจ เป็นความสุจริตใจที่อยากจะเห็นการปรับเปลี่ยน ซึ่งผมก็ฝันอย่างนี้มานานแล้ว อาจจะไม่ได้จบในรุ่นผมหรอกนะ แต่จะจบเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ 

แรกเริ่มที่ผมเล่นเฟซบุ๊ก ก็แสดงความเห็นชัดเจนว่าผมไม่เอารัฐประหาร ไม่เอา คสช. ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีเยาวชนคนหนุ่มสาวเขาฝันอย่างทุกวันนี้ แต่เรื่องที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ เห็นกันมานานแล้วว่าเราอยากให้สถาบันฯ ปลอดพ้นการเมือง เป็นแค่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

และอย่างที่อานนท์ นำภา เขียนว่า “เรามาไกลเกินกว่าจะกลับไปนับหนึ่ง” ความกล้าหาญของคนพวกนี้ทำให้ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุด ผมเป็นแค่คนเล่นเฟซบุ๊ก วันนึงโพสต์เรื่องศิลปะบ้าง เรื่องวิชาการบ้าง เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องมาเอาตัวผมไปปรับทัศนคติหรอก (หัวเราะ)


7. คนสามประเภท

ตั้งแต่ปี 2557 ผมเห็นคนในแวดวงนี้อยู่สามประเภท หนึ่ง คือเอากับคสช. ที่เคยร่วมกับกปปส. เป่านกหวีด สอง คือคนคนที่เนียนนุ่มชุ่มชื่นใจ คือคนที่พยายามจะวางตัวเองให้คลุมเครือ คนแบบนี้ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ ผมให้เวลาเขา ชักชวนเขา พูดถึงเขาจนคนหมั่นไส้ว่าจะไปตอแยทำไม พอประยุทธ์รัฐประหาร เขาเงียบไปเลย ความเงียบคืออะไร คือเห็นด้วยกับรัฐประหารหรือเห็นด้วยกับผม 

คนที่เลือกจะเงียบ จริงๆ ผมไม่มีปัญหา แต่เขาต้องไม่เทศนาในสิ่งที่เขาไม่ได้เชื่อ หมายความว่าเขาต้องเงียบให้จริง ไม่ใช่เงียบในลักษณะที่อยู่ๆ ก็มีบทกวีมาเสียดสีคนรุ่นใหม่ชูสามนิ้ว

และสาม คือคนที่ไม่เอากับรัฐประหาร ไม่เอา คสช. ผมเองก็มาชัดเจนตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 แล้วยิ่งมาตาสว่างชัดเจนปี 53 ผมรู้จักชวน หลีกภัย ผมลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์มาตลอด พอปี 53 รัฐบาลประชาธิปัตย์ปราบปรามคนกลางเมือง เลวร้ายมาก จนกระทั่งรัฐประหารปี 57 จบเลย

ในฐานะที่เราเป็นอิสรชน และเฟซบุ๊กเข้ามามีบทบาทกับผมในฐานะที่ผมประกาศตัวเองว่าผมเคยสำนึกพลาดที่เคยร่วมกับพันธมิตรฯ สมัยปี 49 ที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ผมก็เรียกร้องให้คนอื่นที่เคยเหมือนผมแสดงออกถึงสำนึกพลาดด้วย แต่หลายคนที่ผมเรียกร้องก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติกันหลายคน (ยิ้ม)


8. ม.112 กับศิลปิน

เรื่อง 112 จำกรณีอากง (อำพล ตั้งนพกุล) ได้ไหม แกโดนข้อหา 112 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าไปส่งเอสเอ็มเอสหมิ่น  แต่จริงๆ แกใช้มือถือไม่เป็นด้วยซ้ำ แล้วถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ไม่ได้ประกันตัวจนแกป่วยเสียชีวิตในคุก 

ก่อนนี้ผมไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่กรณีอากง เห็นเลยว่า ม.112 มันไม่เป็นธรรม เพราะใครก็ได้จะไปกล่าวหาใครที่มีความเห็นต่าง กลายเป็นใช้ 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนกระทั่งมีคำขวัญว่าเราทุกคนคืออากงในช่วงปี 55-56 

พอมีรัฐประหาร 57 ก็ยิ่งใช้ 112 เป็นว่าเล่น กลายเป็นนิติสงคราม ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากหรือเพื่อเบี่ยงเบน หรือเพื่อทำให้อับอายเสียหาย อย่างน้อยที่สุดก็ถูกเรคคอร์ด มือต้องดำเพราะต้องไปปั๊มนิ้วเวลารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา

ผมจึงเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ในฐานะเป็นคนทำงานศิลปะมันต้องรักในเสรีภาพการแสดงออก แรกๆ เรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุง พอมีคนโดนเล่นงานมากขึ้น มีทางเดียวก็คือยกเลิก และคนในสภาต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ดีขึ้น เพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ด้วยการอ้าง 112 มากลั่นแกล้งกันมันขัดรัฐธรรมนูญ และยิ่งชัดเจนว่ามันจะทำให้สถาบันมัวหมอง

พอมีรัฐประหาร เราเห็นชัดว่ามันต้องการปิดปากประชาชนที่ต่อต้าน อย่างกรณีของผมก็คือการแช่แข็งประเภทหนึ่ง แต่เมื่อประตูเปิดมันแล้ว จะเปิดแคบหรือเปิดกว้างมันก็เปิดแล้ว ถ้าบอกว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตย ก็หมายความว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร คนที่ทำงานศิลปะก็น่าเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย

การใช้สถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองมันชัดเจนมานาน ตั้งแต่กรณี ร.8 สวรรคต อาจารย์ปรีดีโดนกล่าวหาว่า “ฆ่าในหลวง” จนต้องลี้ภัยไปตายในต่างประเทศ


9. บาดแผลเดือนตุลา

ผมไม่ใช่รุ่น 6 ตุลาฯ ไม่ใช่รุ่น 14 ตุลาฯ ด้วย แต่ประเด็นคือพอมันเกิด 6 ตุลาฯ หลายคนก็หนีตายไปหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งยังไม่ได้มีกองกำลังอะไรมาก หลัง 6 ตุลาฯ ก็ได้กองกำลังไปจากนักศึกษาไปพอสมควร 

ขวาพิฆาตซ้ายและการสร้างความชอบธรรมในเรื่อง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” มันทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ที่ ‘คมทวน คันธนู’ เขียนว่าเป็น ‘นาฏกรรมบนลานกว้าง’ เขาพูดไว้ตั้งนานแล้วนะ แล้วเราก็ทิ้งเขาไว้ข้างหลังเช่นเคยเหมือนกับนักเขียนคนสำคัญอีกหลายๆ คน 

กรณีโศกนาฏกรรม 6 ตุลาฯ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าหลังจากมีความคิดทางการเมืองนำการทหาร มีนโยบาย 66/23 ทำให้คนเข้าป่ากลับคืนเมือง นิรโทษกรรมทุกฝ่าย บรรยากาศสังคมน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็หวนกลับหวนมาเกิดพฤษภาฯ 35 และกันยาฯ 49 มากระทั่งพฤษภาฯ 57 

หลัง 6 ตุลาฯ ผมต้องหลบซ่อน ตอนนั้นถ้าใช้สำนวนสามก๊กก็คือหลบอยู่ใต้ขนตาศัตรู คือผมไม่เข้าป่า พูดกันตรงไปตรงมา ผมไม่ไว้ใจพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะผมมีความรู้สึกว่าเป็นเผด็จการ นี่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นกับผมตั้งแต่ช่วงปี 15-16 แล้ว

หลังจากมี ‘66/23’ หลายคนออกมาจากป่าในลักษณะของคนแพ้ เกิดบาดแผล เกิดซินโดรม บางคนรู้สึกว่า lost หลงทาง ว่างเปล่าหรือว่าเกิดความขัดแย้งอะไรหลายๆ เรื่อง จนปัจจุบันบางคนก็อยู่ในขบวน กปปส. บางคนก็เชียร์ คสช.

ผมเข้าใจว่าคนพวกนี้หลายคนคือคนที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตให้รอดในเมืองหลังอออกมาจากป่าทั้งนั้น บางคนมาหาผม “พี่สุชาติช่วยซื้อประกันหน่อย” บางคนก็ไปทำงานกับซีพี ไปทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าเขาเติบโต เลื่อน สถานะทางสังคมขึ้นมาหลังจากที่เขาพ่ายศึก 6 ตุลาฯ มา 

เพราะฉะนั้น 6 ตุลาฯ เนี่ยมันเป็นบาดแผลฉกาจเลย และในอนาคตก็ควรจะเป็นของประชาชน เป็นวันหยุดประจำปี เพราะมันให้บทเรียนหลายเรื่อง อย่างน้อยก็บทเรียนว่ามีคนจากที่เคยซ้ายจัดย้ายมาขวาจัดด้วย (ยิ้ม)


10. เวลา

คนหนุ่มสาววันนี้ ผมคิดว่าเขาคงมีวิธีการที่แตกต่างไปจากสมัย 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ อย่างน้อยที่สุดก็เห็นอยู่ว่าสมัยนั้นการเคลื่อนไหวมันมีแกนนำ ใช้วิธีแบบประเภทออกไปปิดโปสเตอร์ พิมพ์หนังสือ จัดนิทรรศการหรือออกไปหากรรมกรชาวนา

แต่ปัจจุบันเนี่ยคนรุ่นใหม่มีสื่อแบบใหม่ มีอินเทอร์เน็ต มันทำให้กาลเทศะเปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยน อย่างที่เขาบอกว่าทุกคนเป็นแกนนำ เวลาไม่จำกัด อยู่ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเหตุผลนี้การจะมาล้อมปราบแบบ 6 ตุลาฯ  มันไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว แม้ว่าจะไม่มีกองกำลังแบบ พคท. ไม่สามารถที่จะเข้าป่าไปจับปืน แต่ว่ามันสู้อยู่ตรงไหนก็ได้ 

ที่บอกกันว่าให้มันจบในรุ่นเรา เรานี่ใครล่ะ ถ้ารุ่นเราหมายถึงผม ผมอายุ 76 แล้ว ไม่ทันแน่ๆ แต่คนรุ่นใหม่ต้องได้เห็น เขามีเวลา

ความฝันของเด็กวันนี้มันแตกต่างจากคนเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ที่คิดแค่ว่าจะเอาเผด็จการออกไป แต่ผมคิดว่าความฝันของเยาวชนคนหนุ่มสาววันนี้ มันเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะขุนศึกเท่านั้นที่เป็นปัญหา ศักดินาก็เป็นปัญหาด้วย แต่พญาอินทรีนั้นเปลี่ยนเป็นพญามังกร อันนี้คือปัญหาต่อไปในอนาคตที่พวกเยาวชนคนหนุ่มสาวจะต้องเจอ และตอนนี้ก็เจอแล้ว

สุชาติ2-2.jpg

ภาพ : วิทวัส มณีจักร

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog