ไม่พบผลการค้นหา
วาระที่ Voice อายุครบ 12 ขวบ ย้อนดูเส้นทางการเมืองไทย 12 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง ประชาธิปไตยไทยเดินทางระหกระเหินผ่านอะไร คลี่คลายแค่ไหน หรือเพียงแค่เดินทางวนมาอยู่ในจุดเดิม

เราถือเอาวาระที่ ‘วอยซ์’ อายุครบ 12 ปี มองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นในปี 2552 ปีที่คนเสื้อแดงชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรก ไล่ไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘กีฬาสี’ มาจนถึงวันนี้เพื่อให้เห็นว่า อดีตไม่ได้ตัดขาดจากปัจจุบัน มรดกปัญหายังส่งผลต่อเนื่องมา

เพื่อเข้าใจบริบทการเมืองถอยหลังไป 12 ปี จำเป็นต้องปูพื้นลากยาวไปถึงรัฐประหารปี 2549 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะว่าไปแล้วก็คือ ‘ผลผลิต’ ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิด 'รัฐบาลพลเรือน' ที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

รัฐธรรมนูญ 2540 ปรับโฉมการเมืองอย่างไร การต่อต้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก่อตัวและดำเนินไปอย่างไร ทำไมจึงเกิดการรัฐประหาร 2549 และมันส่งผลเชื่อมโยงอย่างไรกับรัฐประหาร 2553 ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องและเผชิญกับอะไร กปปส.เริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน  เราย่อเรื่องราว 12 ปีใน 5 รูป 5 หัวข้อ เพื่อให้คนรุ่นเก่าได้ทวนความจำ และคนรุ่นใหม่ได้ทำความเข้าใจ

รัฐธรรมนูญ 2540: กำเนิดรัฐบาลทักษิณ จุดเริ่มต้นสงคราม ‘กีฬาสี’

ย้อนรอย 12 ปี การเมืองไทย
  1. รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกได้ว่ามีความชอบธรรมของที่มาและเนื้อหาในกรอบประชาธิปไตยมากที่สุดของไทย มันเป็นผลสืบเนื่องจากมาเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาเกิดการประท้วง ปราบปรามนองเลือด แม้สังคมไทยจะมีรัฐประหารมาบ่อยครั้ง แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทหารพ่ายแพ้หมดความชอบธรรมในทางการเมือง ต้องถอยกลับเข้ากรมกอง ถูกดองให้เป็น "ทหารอาชีพ" เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ผ่านกระแส 'ธงเขียว' ที่เจนเอ็กซ์ เบบี้บูมเมอร์หลายคนยังจำได้ดี
  2. ตลอดเส้นทางประชาธิปไตยไทย 89 ปี จะพบว่า ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้คณะทหารที่ทำรัฐประหาร ส่วนน้อยนักที่ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน ซึ่งมักเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ ผลักดันนโยบายใดก็ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน นักการเมือง ‘เล่นการเมือง’ เพื่อผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก จนผู้คนหมดศรัทธากับระบบรัฐสภา และรังเกียจนักการเมือง 'การเมืองสกปรก-นักการเมืองเลว-ชาวบ้านถูกซื้อเสียง' กลายเป็นวาทกรรมหลักของสังคมมายาวนาน
  3. หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เป็นคนสำคัญที่จุดประเด็นปฏิรูปการเมือง เขาเริ่มอดอาหารเมื่อ 25 พ.ค.2537 เรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ขณะนั้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีหลักการสําคัญให้ ครม.มาจากการเลือกตั้ง (และให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีด้วย) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของปัญญาชน ภาคประชาชน ตลอดจน นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งต่อมาได้นั่งหัวโต๊ะ ‘คณะกรรการพัฒนาประชาธิปไตย (คปพ.)’ ที่สภาตั้งขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง
  4. คปพ.ศึกษาองค์ความรู้เสนอแนวทางร่างรัฐธรรมนูญตามแนวรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) โดยทำงานวิจัย 15 ชิ้นว่าด้วยโครงสร้างต่างๆ ทางการเมืองที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนในบทความ ‘กำเนิดรัฐธรรมนูญ 2540’ ตอนหนึ่งว่า แม้มันจะเป็นกรอบสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง แต่ก็มีช่องโหว่เพราะวิจัยโดยนักกฎหมายมหาชน-นักรัฐศาสตร์เป็นหลักเท่านั้น คุณภาพงานวิจัยหลายเรื่องไปไม่ถึงพรมแดนความรู้เรื่องนั้นๆ ข้อเสนอเหล่านี้นำเสนอต่อสภากลางปี 2538 แต่รัฐบาลไม่ทำอะไร กระทั่งยุบสภาไปก่อน
  5. เมื่อมีรัฐบาลใหม่นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองถูกปัดฝุ่น มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) และนำข้อเสนอของทีมวิจัยของ อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ศึกษาไว้ใน 11 ประเด็นมาสานต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย โดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.211 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อย่างไรก็ตาม มีการปรับแก้กระบวนการได้มาของ สสร.จากสภาอยู่หลายครั้งจนกระทั่งได้ ‘การเลือกตั้งโดยอ้อม’ (แทนที่จะเป็นเลือกตั้งทางตรงที่เสนอในตอนแรก)
  6. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้เวลา 7 เดือนเศษ มีการนำไปประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางระหว่างจัดทำ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านสภาในเดือนตุลาคม 2540 แม้ระหว่างทางจะมีการต่อต้านจากบางกลุ่ม กล่าวหาว่า สสร.ไม่จงรักภักดี ปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านมาต่อต้าน แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะภาคประชาสังคม คนชั้นกลาง รณรงค์สนับสนุนอย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็สนับสนุน
  7. เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลายประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองไทย  เช่น
  • ระบบเลือกตั้ง 2 แบบ คือ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ทำให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายมากขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง คนจะได้เห็นโฉมหน้าของนายกฯ ผ่านปาตี้ลิสต์อันดับ 1 ทั้งนี้ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ถูกดีไซน์โดยตั้งใจเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่มีทางฟันฝ่า 'มาเฟียท้องถิ่น' ในการเลือกตั้งในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนบริหาร และรัฐธรรมนูญยังแยกบทบาทฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติอย่างชัดเจน โดยกำหนดว่า เมื่อ ส.ส.จะเป็นรัฐมนตรี ต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.ห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำกัน นั่นทำให้การเลือกปาร์ตี้ลิสต์เหมือนเลือกตั้ง ครม.โดยตรง
  • ส่งเสริมให้เกิดพรรคขนาดใหญ่ (2 พรรค) พรรคใดชนะก็เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลได้คล่องตัว โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคให้ขาดเสถียรภาพในการบริหาร ประกอบกับขจัดปัญหา 'งูเห่า' ปัญหาคลาสสิคของการเมืองไทยที่ซื้อตัว ส.ส.ง่าย ย้ายพรรคสะดวก ส.ส.โหวตสวนมติพรรคได้อิสระ จึงกำหนดให้ผู้สมัครเป็น ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องสังกัดอย่างน้อย 90 วัน เพื่อสกัดการย้ายพรรคโดยง่าย เมื่อรวมกับการกำหนดว่าต้องใช้เสียง ส.ส.สูงถึง 2 ใน 5 เพื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดนี้จึงส่งเสริมให้เกิดระบบ นายกฯ เข้มแข็ง (Strong Prime Minister)
  • กำหนดชัดเจนให้ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อปิดทางการแทรกแซงการเมืองด้วยสูตร “ขัดแย้งทีไร ได้นายกฯ คนนอก"
  • มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งผ่านการมีองค์กรอิสระมากมาย มีศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดให้มี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดครั้งแรกในประเทศไทย และส.ว.มีบทบาทในการเลือกหรือถอดองค์กรอิสระอีกที
  • รับรองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประการอย่างไม่มีเคยมีมาก่อน
  • ฯลฯ

8. การเลือกตั้งครั้งแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เกิดขึ้นในปี 2544 พรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นพรรคหน้าใหม่ที่ควบรวมกลุ่มก้อน ส.ส.เดิมไว้ได้มาก ขณะเดียวกันก็มีแนวนโยบายที่ก้าวหน้า หวือหวา กว่าที่พรรคใดเคยนำเสนอ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร ฯลฯ ผลการเลือกตั้งในปี 2544 ไทยรักไทยได้ 248 ที่นั่ง (ประชาธิปัตย์ได้ 128 ที่นั่ง) ผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้มากมาย ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าเป็น ‘นโยบายประชานิยม’ แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายนโยบายก็ยังคงอยู่จนปัจจุบัน ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลทักษิณก็เผชิญปัญหาท้าทายหลายอย่างที่กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันแหลมคม เช่นกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือสงครามยาเสพติด กระนั้นก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย 376 เสียง (ประชาธิปัตย์ได้ 96 เสียง) สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

9.ความแข็งแกร่งหรือความนิยมใน ‘นักเลือกตั้ง’ ‘กลุ่มทุนใหม่’ อย่างทักษิณ เป็นสิ่งน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มชนชั้นนำจารีต เพราะระบบตรวจสอบดูจะหยุดยั้งการดำเนินนโยบายใดๆ ของเขาไม่ได้ พรรคฝ่ายค้านก็ฝีมือไม่สูสีคะแนนความนิยมทิ้งห่าง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ได้กำหนดว่านายกฯ ห้ามเป็นติดต่อกันกี่สมัย แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ที่ทักษิณเดินหน้ารวดเร็วก็สร้างความขัดแย้งกับภาคประชาชนจำนวนมาก การต่อต้านรัฐบาลทักษิณจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่มันไม่ธรรมดาเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่ธรรมดาเมื่อผู้นำการต่อต้านคือ สนธิ ลิ้มทองกุล

สนธิ ลิ้มทองกุล : ทวงคืนพระราชอำนาจ สู้ศึกนักเลือกตั้ง

ย้อนรอย 12 ปี การเมืองไทย
  1. ปี 2548 กระแสต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่เริ่มก่อตัวและขยายกว้างขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดจากผู้เคยเป็น ‘มิตร’ ไล่ตั้งแต่นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็น ไปจนถึงสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยช่วยเหลือกันจนธุรกิจของสนธิที่ล้มละลายในปี 2540 ดำเนินต่อไปได้ สื่อในมือสนธิปกป้องรัฐบาลทักษิณอย่างยิ่งในช่วงแรก หนังสือ ‘ลับ ล้วงลึก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ของสำนักพิมพ์มติชน บันทึกเหตุการณ์การแตกคอของ 2 มิตรนั้นไว้อย่างละเอียด แต่ที่น่าสนใจคือ เสนาะ เทียนทอง เป็นผู้ที่ชูประเด็นเป็นคนแรกว่า เมื่อรัฐบาลฉ้อฉล กติกา (รธน.40) ไม่เป็นธรรม ควรคืนพระราชอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์เพื่อวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ก่อนที่สนธิจะขยายความเรื่องดังกล่าวในการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน อ้างอิงงานชิ้นสำคัญ ‘พระราชอำนาจ’ ของประมวล รุจนเสรี
  2. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่าง หลัง ‘เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร’ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของรายการสนธิที่ถูกปลดจากผังช่อง 9 ชุมนุมเคลื่อนไหวมาแล้วพักหนึ่ง โดยเริ่มต้นมีแกนนำ พธม. 5 คน คือ สนธิ, จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กะตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน นอกจากนี้ยังมี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ และ น.ว.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ เปิดตัวร่วมขบวน การเคลื่อนไหวของ พธม.ได้แนวร่วมมากมายจากสายราชนิกูล นักธุรกิจ เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน ศิลปิน พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ และที่สำคัญคือ การสนับสนุนของชนชั้นกลาง ผ่านสโลแกนการต่อสู้ เช่น ลูกจีนกู้ชาติ, เราจะสู้เพื่อในหลวง, ทวงคืนประเทศไทย ฯลฯ ทั้งนี้ สนธิได้เน้นย้ำตลอดการเคลื่อนไหวว่าตนเองกำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบัน และสถาบันก็ให้การสนับสนุนตนเองเช่นกัน ขณะเดียวกันก็โจมตีทักษิณว่าไม่มีความจงรักภักดีและต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แม้ไม่มีมูลความจริง แต่ความเกลียดชังนี้ก็ได้แผ่ซ่านซึมลึกมากในสังคมไทย
  3. ข้อกล่าวหาหลักๆ ในทางการเมืองที่ พธม.ใช้ปลุกกระแส คือ “เผด็จการรัฐสภา” เนื่องจากไทยรักไทยได้ที่นั่งจำนวนมาก และยังควบรวมพรรคเล็กอื่นๆ ได้อีก เช่น กลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ รวมถึง ส.ว.ที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารถูกกล่าวหาว่าโดนครอบงำทางการเมือง กลายเป็น ‘สภาผัวเมีย’ , การบริหารแบบรวดเร็วและเด็ดขาดสไตล์ “นายกซีอีโอ”,  ประเด็นคอร์รัปชั่น เช่น กรณีการซุกหุ้น การขายหุ้น , แนวการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวหาว่า “ขายชาติ” เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การทำเอฟทีเอ รวมถึงความผิดพลาดในนโยบายด้านความมั่นคง ฯลฯ การเคลื่อนไหวขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกรัฐบาลที่แข็งแกร่งก็ไม่อาจต้านทาน จึงตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 24 ก.พ.2549
  4. เส้นทางประชาธิปไตยกำหนดให้หาผู้บริหารประเทศผ่านการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนชัดว่าประชาชนยังคงนิยมพรรคไทยรักไทย ดังนั้น กลุ่มต่อต้านจึงนำเสนอทางเลือกที่ออกนอกจากเส้นทางในระบบ ผ่าน ‘มาตรา 7’ ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุว่าเมื่อมีวิกฤตที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยตีความ “ประเพณีการปกครอง” ว่า อำนาจดังกล่าวอยู่ที่สถาบัน จึงเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทานเพื่อแก้วิกฤตในครั้งนี้ ทั้งที่มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น 5 มี.ค.2549 ส.ว.จำนวนหนึ่งนำโดย เจิมศักดิ์ ปิ่น ทอง ร่วมกับนักวิชาการ ราชนิกูล แพทย์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ รวม 96 คน ก็ได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐบาลชั่วคราวและนายกฯ คนใหม่ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 7 เรื่องตลกร้ายก็คือ วิษณุ เครืองาม ที่ขณะนั้นทำงานกับทักษิณเป็นผู้ออกมายืนยันว่า จะตีความรัฐธรรมนูญเช่นนั้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างมีกลไกปกติที่กำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ การเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากพระมหากษัตริย์

สำนักข่าวอิศรารวบรวมผู้ที่มีอิทธิพลนำเสนอแนวคิด ม.7 ไว้ เช่น

  • สนธิ ลิ้มทองกุล” กล่าวในการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม (26 มี.ค.2549)

“เรามาที่นี่ เพื่อมารวมพลังให้เห็นว่าเราเป็นของจริง ไม่ใช่พวกแขวนป้ายที่คอ พอตอนเช้าก็มาลงชื่อรับเงิน เรามาเพื่อให้เห็นว่า ทักษิณต้องออกไป และเพื่อแสดงประชามติขอบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอนายกพระราชทาน”

  • อภิสิทธิ์ เวชชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวปราศรัยที่สนามหลวง (24 มี.ค.2549)

“ขอพูดกับคุณทักษิณว่า ขอให้นำคณะรัฐมนตรีกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบารมี ขอนายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่ โดยไม่เกี่ยวกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมและไม่เกี่ยวกับกรณี กฟผ. โดยจะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เพื่อให้เข้าตามเงื่อนไขมาตรา 7 เพื่อพิจารณาให้มีนายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่มาจากการพระราชทาน เพื่อทำหน้าที่ฟื้นเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขให้รัฐธรรมนูญเดินต่อไปได้”

5.การเรียกร้องมาตรา 7 ทำให้แนวร่วมของ พธม.หลายส่วนตัดสินใจไม่ไปต่อกับขบวนการสนธิ เนื่องจากเห็นว่าออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เวทีชุมนุมใหญ่ของ พธม.ยังดำเนินต่อไป ขณะที่การเลือกตั้งก็ค่อนข้างโกลาหล พรรคการเมืองหลายพรรคประท้วงไม่ส่งผู้สมัคร ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ถูกตัดสินจำคุก ประกอบกับกับฐานมวลชนของพรรคไทยรักไทยก็เริ่มชุมนุมสนับสนุน กระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังไม่ทันได้เลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในเดือนตุลาคมก็เกิดการรัฐประหารของ คมช. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน จากนั้น พธม.จึงยุติการชุมนุม

6. การรัฐประหารของ คมช. รวมถึงรัฐบาลชั่วคราวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกนิยามว่าเป็นรัฐบาลขิงแก่ และเป็นการทำรัฐประหารที่ ‘เสียของ’ เพราะไม่อาจแก้กติการัฐธรรมนูญ 2550 ให้ป้องกันการกลับมาของทักษิณได้ ในการเลือกตั้งปลายปี 2550 แม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชาชน (เวอร์ชั่น 2 ของไทยรักไทย) ก็ยังชนะการเลือกตั้งท่วมท้น ได้ ส.ส. 232 คน (ประชาธิปัตย์ได้ 165 คน) สมัคร สุนทรเวช ขึ้นนั่งนายกฯ พธม.จึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวอีกครั้ง ยกระดับปิดล้อมทำเนียบฯ กระทั่งสมัครถูกปลดจากตำแหน่งนายกฯ เหตุ “ทำกับข้าวออกสื่อ” ก็ได้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พี่เขยของพ.ต.ท.ทักษิณ นั่งนายกฯ แทน พธม.ยกระดับการชุมนุมขับไล่ โดยวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้ปิดล้อมรัฐสภาขัดขวางไม่ให้สมชายเข้าแถลงนโยบาย มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้เสียชีวิตคือ อังคณา ปัญญาชาติวุฒิ หรือน้องโบว์ เดือนต่อมา พธม.ยกระดับปิดสนามบินสุวรรณภูมิ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนจากกรณีการทุจริตเลือกตั้งเชียงรายของยงยุทธ ติยะไพรัช จากนั้น พธม.จึงยุติการชุมนุม

7. บทบาทของ พธม.เริ่มเบาบางจางหายไปหลังจากสนธิถูกลอบสังหารด้วยอาวุธสงครามในเดือนเมษายน 2552 ประกอบกับ ‘พรรคการเมืองใหม่’ ที่แกนนำพันธมิตรฯ ก่อตั้งขึ้นไม่อาจเติบโตได้จริงในทางการเมือง  

 คนเสื้อแดง : รากหญ้าผู้ตื่นตัว (และอาภัพ) ทางการเมือง

ย้อนรอย 12 ปี การเมืองไทย
  1. หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประชาชนกลุ่มย่อยๆ เริ่มชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกันที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะเริ่มก่อตัวเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ในปี 2550 และพัฒนาเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พวกเขาวิจารณ์การทำรัฐประหาร และโจมตีผู้อยู่เบื้องหลัง โดยระบุถึงระบอบ ‘อำมาตยาธิปไตย’ พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
  2. ในปี 2552 เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของ นปช. ประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาชุมนุมประท้วงล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่นานหลายวันเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งตั้งรัฐบาลได้หลังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากตำแหน่งเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค ท่ามกลางข้อครหาว่า เป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยมีกลุ่มสำคัญของเนวิน ชิดชอบ แห่งบุรีรัมย์ที่เปลี่ยนข้างทางการเมืองไปร่วมสนับสนุน เรื่องนี้สุเทพ เทือกสุบรรณ เขียนเล่าไว้ในหนังสือที่ออกหลังการชุมนุม กปปส.ว่า เขาเป็นคีย์แมนที่ติดต่อหลายฝ่ายให้เปลี่ยนข้างทางการเมืองได้อย่างปาฏิหารย์ ร่วมโหวตอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้สำเร็จ สำหรับนายบรรหาร ศิลปอาชา นั้นยื่นเงื่อนไขให้ต้องมีคำยืนยันจากกองทัพว่าจะยอมรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง สุเทพแจ้งว่าดีลทุกอย่างลงตัวแล้ว แต่เพื่อความมั่นใจจึงพานายไปบรรหารไปพบกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นในกรมทหารราบที่ 1 เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยและโจมตี กองทัพปฏิเสธการอยู่เบื้องหลังจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับว่ามีกลุ่มนักการเมืองมาปรึกษาหารือด้วยจริง
  3. การชุมนุมในปี 2552 จบลงที่แกนนำยอมประกาศยุติ ประชาชนทยอยกลับต่างจังหวัดด้วยความเจ็บช้ำในความพ่ายแพ้ พวกเขาเริ่มจัดกลุ่ม สร้างเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ และใช้เวลาอีก 1 ปี จึงกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง พร้อมข้อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และเนื่องจากมวลชนส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดและคนจนเมือง วาทกรรมหลักที่เกิดขึ้นกับพวกเขาจึงเป็น “การถูกจ้างมา” “ควายแดง” “ไข่แม้ว”  ความจน ความโง่ ความเห็นแก่ตัว กลายเป็นยี่ห้อปิดบังความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะในภาคอีสาน
  4. การชุมนุมปี 2553 กินเวลายาวนานราว 2 เดือนเศษ แบ่งเป็น 2 จุด ที่ถนนราชดำเนิน กับใจกลางเมืองย่านราชประสงค์ จุดเริ่มต้นของความรุนแรงเกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อ ศอฉ.หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นั่งเป็นประธานวางแผนสลายการชุมนุมร่วมกับกองทัพ ซึ่งขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.กลาโหม และ พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) คืนวันที่ 10 เมษา ศอฉ.ตัดสินใจใช้กำลังอาวุธเข้า “ขอคืนพื้นที่” ที่ถนนราชดำเนิน ขณะที่มวลชนเสื้อแดงไม่ยอม เกิดการปะทะกันทำให้มวลชนเสียชีวิต 20 ราย เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 ราย โดยการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่นั้นมาจากระเบิดที่ถูกขว้างตอบโต้ และทำให้เกิดกระแส “ชายชุดดำ” ที่รัฐบาลใช้ทำลายความชอบธรรมของมวลชนเสื้อแดงอย่างได้ผล  
  5. เมื่อมวลชนล้มตาย ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงจึงยิ่งยกระดับเป็นทั้งยุบสภาและต้องหาผู้รับผิดชอบต่อการตายของประชาชน นั่นทำให้ทางลงของการชุมนุมเป็นไปได้ยากมากขึ้น แกนนำเริ่มมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ต่างกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ประกาศเขต ‘ใช้กระสุนจริง’ ในการ ‘กระชับพื้นที่’ กระทั่ง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบสังหารกลางที่ชุมนุม การเผชิญหน้าตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ มีคนถูกยิงเสียชีวิตจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาดในวันที่ 19 พ.ค. ในเย็นวันนั้นเกิดกรณียิงเข้าไปในวัดปทุมวรารามที่ประชาชนใช้เป็นสถานที่หลบภัย ทำให้ประชาชนและอาสาพยาบาลที่เต๊นท์ด้านหน้าวัดเสียชีวิตรวม 6 ศพ
  6. ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ ระบุว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีจำนวน 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 6 คน เป็นเด็กอายุ 12 ปี 1 คน เป็นสื่อมวลชนต่างชาติ 2 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,200 คน มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีกว่า 1,700 คน โดยกองทัพใช้กระสุนไป 117,923 นัด กระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด ใช้งบประมาณ 700 ล้านสำหรับกำลังพลที่เป็นตำรวจจำนวน 25,000 นาย ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านสำหรับกำลังพลที่เป็นทหารจำนวน 67,000 นาย
  7. ความสูญเสียในครั้งนี้มีน้ำหนักเบาบางกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งไหนๆ แม้จะบอบช้ำอย่างหนักแต่คนเสื้อแดงยังโดนข้อหา “เผาบ้านเผาเมือง” เนื่องจากมีการเผาห้างใหญ่ใจกลางเมือง และมีการเผาศาลากลางจังหวัดในหลายจุดของวันที่ 19 พ.ค.เนื่องจากคนต่างจังหวัดต้องการกดดันรัฐบาลให้ยุติการสลายการชุมนุมเพื่อปกป้องพี่น้องของพวกเขาที่ชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ
  8. ผ่านไปหลายปีกว่าผู้คนบางส่วนจะเริ่มตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และเริ่มตั้งคำถามกับกิจกรรม เช่น Big Cleaning Day ทำความสะอาดราชประสงค์หลังสลายการชุมนุมเพื่อให้กรุงเทพฯ กลับมาสดใส ปัจจุบัน คดีผู้เสียชีวิตยังไม่มีคดีใดเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาแม้แต่คดีเดียว มีเพียงการไต่สวนการตายเบื้องต้นตามกฎหมายจำนวนหนึ่ง และหลายกรณีศาลชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร

 กปปส. : ‘ม.7’ หวนคืน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปูทางรัฐประหาร ‘ลุงตู่’

ย้อนรอย 12 ปี การเมืองไทย
  • กปปส. มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การชุมนุมวอร์มอัพมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2556 นำโดยส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน โดยยังไม่มีการตั้งชื่อ กปปส.อย่างเป็นทางการ สัญลักษณ์สำคัญคือ นกหวีด และสิ่งต่างๆ ที่เป็นลายธงชาติ
  • จุดประสงค์การก่อตั้งเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกเรียกว่า ‘เหมาเข่ง’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐหวังคลี่คลายความขัดแย้ง เพราะมีคนเสื้อแดงถูกจับกุมคุมขังอยู่จำนวนไม่น้อย ขณะที่แกนนำทั้งสองฝ่ายก็โดนคดีความมากมาย เนื้อหาในกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองให้ทุกฝ่ายโดยใช้เงื่อนเวลากำหนดตั้งแต่ปี 2547-2556 ฝ่ายประชาธิปไตยกังวลการนิรโทษกรรมให้ทหารผู้ทำการเข่นฆ่าประชาชน ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกังวลจะนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร
  • การชุมนุมของ กปปส. ใช้เวลาทั้งสิ้น 204 วันหรือกว่าครึ่งปี และยุติทันทีเมื่อมีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เคยมีการให้สัมภาษณ์ว่าใช้เงินไปอย่างน้อย 1,400 ล้าน ตลอดการชุมนุมเกิดความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะในหลายจุด และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ย่อยต่างๆ รวมแล้วราว 36 ราย
  • ขณะที่เกิดการประท้วง กฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาผู้แทนฯ 3 วาระ แต่ไม่ผ่านวุฒิสภา จึงถูกยับยั้งไว้ 180 วันตามกฎหมายแล้ว และต่อมารัฐบาลยอมถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาของสภาทั้งหมด แต่การชุมนุมยังคงยกระดับไปเรื่องอื่น เช่น โครงการจำนำข้าว
  • 29 พ.ย.2556 ก่อตั้ง กปปส.อย่างเป็นทางการ มีการยึดสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย, ดีเอสไอ, ศูนย์ราชการฯ, ทำเนียบ, สตช. เป็นต้น นอกจากนี้ยังชุมนุมที่ศาลากลางอีกกว่า 20 จังหวัด ส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้
  • 18 ธ.ค.2556 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยการชุมนุม กปปส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้เสรีภาพโดยสงบ เนื่องจากไม่ไว้วางใจการบริหารของรัฐบาล  
  • ข้อเรียกร้องพัฒนาสู่ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาล โดยจะดำเนินการผ่านสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อ้างอิงมาตรา 3 และขอ ‘นายกฯ พระราชทาน’ อ้างอิงมาตรา 7  สภาประชาชนทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ มีสมาชิก 400 คน โดย 300 คนเป็นผู้แทนอาชีพต่างๆ อีก 100 คน กปปส.เลือกจากนักวิชาการและราษฎรอาวุโส ทำการปฏิรูป 12-18 เดือน ก่อนเลือกตั้ง
  • 8 ธ.ค.2556 ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออก 153 คน กดดันให้ยิ่งลักษณ์ลาออก
  • 9 ธ.ค.2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดวันที่ 2 ก.พ.2557 พรรคประชาธิปัตย์แถลงคว่ำบาตร ไม่ส่งส.ส.ลงเลือกตั้งทุกเขต กกต.เสนอรัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไม่เลื่อน
  • 13 ม.ค.2557 เปิดยุทธการ shutdown Bangkok ปิด 8 จุดสำคัญของกรุงเทพฯ
  • 21 ม.ค.2557 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • กปปส.ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าหลายพื้นที่ รวมถึงปิดคูหาเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.หลายจุด
  • 21 มี.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญวิจิฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ
  • 7 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของไพบูลย์ นิติตะวัน ถอดยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งนายกฯ จากการณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • 9 พ.ค.2557 ประท้วงและยึดสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอานะล็อก ได้แก่ ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี และเอ็นบีที
  • 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึก 
  • 21-22 พ.ค.2557 เรียกตัวแทนคู่ขัดแย้งทั้ง 7 ฝ่าย เข้าประชุมพร้อมกันที่สโมสรกองทัพบก
  • 22 พ.ค.2557 ทำรัฐประหาร “ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย”
  • หลังรัฐประหารของ คสช. เพียงเดือนเดียว ‘กำนันสุเทพ’ จัดเลี้ยงเพื่อระดมทุนตั้งมูลนิธิ กปปส. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า สุเทพได้เปิดใจในงานนี้ว่า กปปส. ได้ให้คำแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และวิธีการโค่นล้ม ‘ระบอบทักษิณ’ ตั้งแต่ปี 2553 และเขาได้สื่อสารกับ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นประจำ  “ก่อนกฎอัยการศึกจะประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์บอกผมว่า คุณสุเทพและมวลชนผู้สนับสนุนกปปส.เหนื่อยมามากพอแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะรับช่วงทำหน้าที่ต่อ”
  • 7 ปีต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีกบฏ กปปส. หมายเลขดำที่ อ.247/2561 ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และแนวร่วม กปปส.รวม 39 คนเป็นจำเลย (เสียชีวิตแล้ว 1 คน) เหลือ 38 คน ในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรี 3 คน เป็น ส.ส. 3 คน ผลการพิพากษาจำแนกได้เป็น  ยกฟ้อง 12 คน, โทษจำคุก แต่รอลงอาญา 12 คน, โทษจำคุกแต่ได้ประกันตัวทันที 6 คน และมี 8 คนที่ศาลไม่ให้ประกันในชั้นต้น หนึ่งในนั้นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เขาและเพื่อนเข้าไปนอนในเรือนจำอยู่ 2 คืน ก่อนศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว
  • ความผิดที่ศาลพิพากษาลงโทษนั้น ข้อหาหนักที่สุดคือ มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น โทษจำคุก 7 ปี และข้อหารองอื่นๆ ตามพฤติการณ์ที่แตกต่างกันของจำเลยแต่ละคน แต่ทุกคนรอดจากข้อกล่าวหากบฏ หรือ มาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลให้เหตุผลว่า “การตั้งเวทีชุมนุมปราศรัย เคลื่อนไปสถานที่ราชการ เป็นการชุมนุมสันติ ไม่รุนแรง ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการปกปิด ซ่อนเร้นอำพรางเพื่อทำผิดกฎหมาย การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขับไล่ระบอบทักษิณ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนายุยงปลุกระดมกระทำผิดอาญา หากมีผู้ใดกระทำความผิดอาญาต้องแยกการกระทำเฉพาะราย ไม่อาจกล่าวหาเหมารวมว่าร่วมกันกระทำความผิด ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังรัฐบาลลาออก ปฏิรูปแก้ปัญหาประเทศก่อนเลือกตั้ง ไม่มีลักษณะล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญผูกพันผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วินิจฉัยแล้วไม่มีเจตนาความผิดฐานกบฏ มีเพียงการกระทำในแต่ละข้อหาอาญาเท่านั้น”

ราษฎร 63 : ภารกิจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ยังไม่สำเร็จ

ย้อนรอย 12 ปี การเมืองไทย

การเคลื่อนไหวชุมนุมในปี 2563-2564 มีมากมายหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่นำโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประวัติในงานการเมือง ไปจนกระทั่งนักเรียน นักศึกษา สิ่งที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวนี้คือ ไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุน และข้อเรียกร้องของพวกเขาก็เกี่ยวกับกับการต่อต้านรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจผ่านกติกาประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือ การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน รายละเอียดนั้นอาจไม่จำเป็นต้องบรรยาย เนื่องจากเป็นขบวนการร่วมสมัยที่ทุกคนได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ด้วยตาตนเอง