ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าของงานศิลป์ที่เกือบถูกตัดตอนย้ำ ศิลปะไม่อาจตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ค่านิยมเก่าเลือกกั้นอาณาบริเวณ ไม่เปิดพื้นที่ให้การ 'ปฏิรูป'

'เท็น' ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ คือนักศึกษาจาก คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของผลงานศิลปะที่เกือบถูกอุ้มหาย เพราะ 'ผู้มาเก็บกวาด' มองไม่ออกว่านี่คือ 'ชิ้นงาน' หรือ 'ขยะ'

เขาเผยกับ 'วอยซ์' ว่า ในฐานะนักศึกษา ผลงานชิ้นที่เกือบถูกตัดตอนไม่ใช่ทั้งภาระงานตามคำสั่งของอาจารย์หรืองานแสดงธีสิสจบการศึกษา แต่เป็นหนึ่งในขั้นตอนการเรียนรู้และเติบโตที่นักศึกษาต้องเผชิญ การแสวงหาหนทางไปสู่สาธารณะ หนทางที่นอกเหนือไปจากสิ่งจัดแสดงใน 'หอศิลป์' 

เท็น
  • 'เท็น' ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์

ประเด็นข้างต้นนำไปสู่การวิพากษ์ในฐานะศิลปินที่เขายอมรับว่า "ผมก็ไม่รู้ว่าผมเป็นศิลปินไหม" หรือในอนาคตจบไปแล้วจะเติบโตไปประกอบอาชีพอะไร อย่างไรก็ดี 'งาน' ที่ปรากฎออกมาเป็นศิลปะด้วยตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์

"ใครๆ ก็ทำงานอาร์ตได้ ในสภาวะความเป็นปัจจุบันขณะ เราเห็นงานสร้างสรรค์ในม็อบหรือในพื้นที่ต่างๆ สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นศิลปะ ทั้งสิ้น ท่าทีของความสร้างสรรค์ มันผลักไปไกลกว่าแค่สวยถึงเป็นศิลปะมากแล้ว" 

ทว่าม่านหมอกที่ทำงานศิลปะอันเป็นไปเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ถูกลดทอนคุณค่าหรือปิดประตูกั้นไม่ให้ก้าวเข้ามาร่วมวง เป็นผลมาจากคำจำกัดความที่สถาบันศิลปะเลือกจะ 'รับรอง' และกั้นอาณาบริเวณขึ้นมาเท่านั้น 

นักศึกษามีเดียอาร์ต อธิบายการเรียนรู้งานศิลป์ของเขาว่า ในภาควิชาของตนนั้น วิชาเรียนไม่ได้จำกัดแค่กระบวนการหรือเทคนิคทางศิลปะ แต่เป็นการผสานรวมสรรพศาสตร์ทั้ง ปรัชญา มานุษยวิทยา หรือกระทั่งสังคมวิทยาและการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตงาน 

"สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ มันล้วนยึดโยงกับสิ่งอื่นด้วย มันเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ด้วยตัวเอง มันต้องอาศัยบริบทและประสบการณ์ของคนดู ของคนทำงาน อาศัยความหมายเชิงพื้นที่ การตัดขาดของตัวงาน การตัดขาดสิ่งอื่นจากตัวงาน มันเป็นไปไม่ได้ มันหลอมลวมเป็นสิ่งเดียวกัน"

ด้วยเหตุนี้ งานศิลปะจึงก้ามข้ามแค่ความสวยงามหรือการจัดแสดงในหอศิลป์พร้อมบทบรรยายด้านข้างไปมากแล้ว แต่คือทุกท่วงท่าที่ผสานความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างและบริบทแวดล้อมโดยรอบ 


หลีกหนีจากการถูกกลืนกิน 

เพราะศิลปะเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นอย่างแนบสนิท ในภาวะที่สังคมถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายที่ต้องการ 'ปฏิรูป' วงการศิลป์ในไทยจึงถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่มก้อนหลักเช่นกันในมุมมองของ 'เท็น'  

เขาอธิบายให้ฟังแบบเรียบง่ายว่า เบื้องหลังงานที่ถูกยัดใส่ถุงดำของตนเองนั้น อาจมาจากสายตาอนุรักษนิยมที่มองว่า 'สิ่งใหม่' ที่ตัวเขาทำ ไปกระทบกับคุณค่าบางสิ่งบางอย่าง

เมื่อกลับมาถามตัวเขาเองว่าค้นพบอะไรจากฝั่งอนุรักษนิยม 'เท็น' ชี้ว่า เขาเห็นระบบอุปถัมภ์ เขาเห็นระบบที่อาจารย์มีลูกศิษย์ไว้เพื่อช่วยงานตัวเองมากกว่าพัฒนาความสามารถ หรือขัดเกลาความคิดสร้างสรรค์

"ความรู้สึกของการถูกย่ำยี มันคือย่ำอยู่กับที่และกดทับ" 

จากสิ่งที่เป็นอยู่นี้ ตัวเขาเองจึงอยากจะ "หลีกหนี" จากจารีตเดิมๆ ที่อาจมากลืนกินตัวเขา ไปให้ไกลกว่าการพูดคุยว่าผลงานตัวเองขายได้เท่าไหร่ หรือตัวนักศึกษาเองเป็นศิษย์ของอาจารย์คนใด แต่ไปให้ถึงความก้าวหน้า ปฏิวัติและดันเพดานการทำงานศิลปะ

"โลกศิลปะมันพิศวงพอสมควร มันพยายามจะกลืนบางอย่าง ผมก็ไม่รู้ว่าจะหนีได้ไหม"

ความรู้สึกของตัวเขาเองร่วมกับเพื่อนศิลปินนำไปสู่กลุ่มผู้สร้างงานศิลป์ที่เรียกตัวเองว่า 'artn't' และเริ่มรวบรวมไปจนถึงแสดงผลงานกันมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งได้ผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ 

'เท็น' อธิบายเพื่อตอกย้ำว่าศิลปะไม่อาจแยกจากองค์ประกอบอื่นในสังคมว่า ในงานจัดแสดงล่าสุด ผลงานอย่าง 'ทิชชู 112' จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย หากศิลปินที่พวกเขารู้จักไม่โดนคดีความสะอาดจากการแสดงผลงาน เพราะ "มันซ้อนทับกัน โลกศิลปะ และโลกกฎหมาย"

เมื่อถามต่อว่า เขามีแผนจะดันเพดานโลกศิลป์ต่อไปอย่างไรบ้าง 'วอยซ์' ได้รับคำตอบว่า "รอติดตามครับ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;