ไม่พบผลการค้นหา
ถอดรองเท้าผ้าใบที่รัดแน่น เปลือยเท้าเปล่าออกมาสัมผัสพื้น แล้วก้าวสู่เส้นชัยไปกับนักวิ่งจากดินแดนปลายด้ามขวานนามว่า ‘หมอยา – นายแพทย์ยา สารี’ ผู้ต้องการให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น

ไม่ต่างจากคนวัย 30 กว่าทั่วๆ ไป ที่มักจะยุ่งอยู่กับการทำงานเสมอ จนวันหนึ่งสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ทำให้ หมอยา – นายแพทย์ยา สารี รู้สึกว่า เสื้อผ้าตัวเดิมเริ่มคับ และร่างกายส่งเสียงคัดค้านยามปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อภาระการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยแบบหามรุ่งหามค่ำกลับลดลงไม่ได้ หมอยาจึงหันหน้าเข้าสู่แวดวงการวิ่ง ด้วยความหวังให้สภาพร่างกาย และประสิทธิภาพการทำงานกลับมาดีกว่าเดิม

ทว่าเมื่อวิ่งมาถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายของหมอยาไม่ได้หยุดอยู่แค่บำบัดสุขภาพเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นการค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต โดยเขาเอาจริงเอาจังกับทุกย่างก้าว โหมวิ่งหนักมากกว่าเดิม ก่อนจะหยุดชะงักด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บ

นายแพทย์ยา สารี 2.jpg
  • นายแพทย์ยา สารี และลูกชาย

“พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็เสพติดการวิ่งอย่างหนัก สถิติดีขึ้น แต่ขาดหลักการพัฒนาที่ถูกต้อง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บมารบกวนอยู่บ่อยๆ จึงมานั่งทบทวนว่า สิ่งที่ทำมันถูกต้องหรือเปล่า เริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย แต่พอเกิดการแข่งขัน และรางวัลเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้หลงประเด็น” 

เดิมทีหมอยาบาดเจ็บจากการแข่งวิ่ง หรือซ้อมวิ่งเป็นประจำ กระทั่งมาพบกับนักวิ่งอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้รู้จักกับวิธีการ ‘วิ่งเท้าเปล่า’ ที่เป็นมิตรกับร่างกาย และลดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง

แน่นอนว่า การวิ่งเท้าเปล่าไปได้ดีกับรูปแบบการวิ่งของหมอยา และมันเปลี่ยนเขาเป็นคนใหม่ได้ผลชะงัด เพราะนอกจากร่างกายจะห่างหายจากอาการบาดเจ็บแล้ว ยังช่วยลดเวลาการวิ่งมาราธอนลงถึง 1 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี


ให้ร่างกายเรียนรู้ความเป็นธรรมชาติด้วยตนเอง 

หากต้องการปรับท่วงท่าการวิ่งให้เป็นธรรมชาติ วิธีง่ายสุดคือ ‘ถอดรองเท้า’ เหมือนกับการวิ่งเล่นสมัยวัยเด็กของทุกคน 

“ตอนเด็กวิ่งได้ดีเป็นธรรมชาติ พอวันหนึ่งหายจากการวิ่งท่าทางที่เป็นธรรมชาติก็หายไป ในหัวคิดแค่ว่าวิ่งอย่างไรไม่ให้เหนื่อย ซึ่งการวิ่งลงส้นมันเหนื่อยน้อยกว่า แต่แรงกระทำต่อข้อเข่าสูงมาก ทำให้ปวดข้อ และเข่าเสื่อมเร็วกว่ากำหนด”

วิ่งเท้าเปล่า.jpg

นักวิ่งผู้ใช้สองเท้าไร้สิ่งปกป้อง และตระเวนเข้าร่วมวิ่งมาราธอนไปทั่วประเทศบอกว่า วิธีวิ่งของคนส่วนใหญ่เป็นแบบเอาส้นเท้าลง ส่วนหนึ่งมาจากรองเท้าวิ่งที่มักมีพื้นตรงส้นเท้าหนากว่าบริเวณหน้าเท้า ดังนั้น เมื่อเริ่มออกวิ่ง รูปแบบของรองเท้าจึงบังคับให้ส้นเท้าลงพื้นก่อนส่วนอื่นๆ

“ถ้าวิ่งลงส้นด้วยเท้าเปล่า ก้าวหรือสองก้าวรับรองสะดุ้งโหยง การวิ่งด้วยเท้าเปล่าจึงทำให้ร่างกายรู้ว่า ควรจะวางเท้าอย่างไรถึงจะถูกต้อง” 

สำหรับการวิ่งที่เหมาะสม และเป็นไปตามธรรมชาติคือ ลงพื้นด้วยบริเวณกึ่งกลางเท้า หรือปลายท้า ซึ่งจะช่วยลดอาการบาดเจ็บหัวเข่าได้เป็นอย่างดี


ใช้เวลา 3 เดือน ปรับร่างกายให้ชินกับการวิ่งเท้าเปล่า 

ด้วยความที่เท้ามักถูกดูแลอย่างอบอุ่น และปลอดภัยอยู่ในรองเท้าคู่โปรดเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากอาการบาดเจ็บเล็กน้อยจะเกิดขึ้นเมื่อถอดรองเท้าทิ้งไป แต่ หมอยายืนยันว่า จะพบอาการบาดเจ็บเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

“อาจจะเริ่มต้นการวิ่งด้วยเท้าเปล่าบนสนามหญ้า หากเคยวิ่งระยะ 10 กม. อาจจะใส่รองเท้าวิ่ง 9 กม. แล้ววิ่งเท้าเปล่าเหยาะๆ สัก 1 กม. ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยระยะเดียวกัน” นักวิ่งประสบการณ์สูงกล่าวพร้อมสำทับว่า การปรับตัวมาวิ่งแบบเท้าเปล่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

การวิ่งเท้าเปล่าทำให้ฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นโดยตรง และกระตุ้นระบบประสาทหลายจุด กระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัว กระตุ้นกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนเลือดช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น

“เท้าของคนเรามีข้อต่อเยอะมาก เวลาวางเท้าแต่ละข้อจะรับน้ำหนักไม่เท่ากับ ซึ่งข้อต่อจะรวมตัวกันประมวลผลส่งไปที่สมอง และสั่งงานกลับไปที่มัดกล้ามเนื้อ ว่าควรจะเกร็งเท่าไหร่ เพื่อปรับการวางเท้าให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่ใส่รองเท้าข้อต่อส่วนนี้จะถูกมัดรวมกัน สมองจึงไม่สามารถสั่งการให้เหมาะสมกับร่างกายได้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ตรงการถอด หรือใส่รองเท้า แต่อยู่ที่การปรับท่าวิ่งให้ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อปรับสรีระให้เป็นไปตามธรรมชาติได้แล้ว ก็สามารถกลับไปใส่รองเท้าได้เสมอ


ผมจะวิ่งเท้าเปล่าให้ครบทั้ง 77 จังหวัด 

หลังจากนายแพทย์คุณพ่อลูกหนึ่งเข้าร่วมวิ่งมาราธอนครั้งแรกด้วยระยะทางเพียง 13 กิโลเมตร โดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย เขาสามารถทำสถิติของได้ไม่ห่างจากลำดับ 1 ของรายการมากมายเท่าไร

“ตอนนั้นงานหาดใหญ่มาราธอน ลงแข่งวิ่ง 13 กม. พอดูเวลาของเรากับคนที่ได้ถ้วย ก็ไม่ห่างกันมาก ถ้าฝึกดีๆ ผมคงมีโอกาสได้ถ้วยเหมือนกัน ตั้งแต่นั้นมาเลยซ้อมอย่างต่อเนื่อง ทีนี้งานวิ่งมันตอบโจทย์ชีวิต ทำให้เราวิ่งอย่างมีจุดหมายมากขึ้น ไม่ได้วิ่งเพื่อสุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นการท้าทายตัวเอง และแข่งกับเพื่อนนักวิ่งคนอื่น”

นายแพทย์ยา สารี 3.jpg
  • เป้าหมายของหมอยาคือการแข่งวิ่งทั่วประเทศไทย

เขาบอกด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า นักวิ่งหน้าใหม่พอได้ลงสนามจริงจะเกิดอาการคล้ายๆ กันคือ ‘ติดวิ่ง’ โดยลักษณะของอาการคือ จะวางแผนไปวิ่งให้ได้ทุกอาทิตย์ และต้องทำลำดับให้ดีขึ้น

“ผมมีเป้าหมายที่จะวิ่งให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ตอนนี้ก็ได้ประมาณ 40 - 50 เปอร์เซ็นต์ ทุกภาคก็ไปวิ่งมาหมดแล้ว ที่ผมวิ่งเยอะแล้ววิ่งด้วยเท้าเปล่าเพราะอยากเป็นตัวอย่างให้กับทุกคน

สมัยก่อนมักมีคำพูดว่า แค่ใส่รองเท้าก็ออกไปวิ่งได้แล้ว แต่ผมอยากตอกย้ำความง่ายให้มากกว่าเดิม แค่คิดก็วิ่งได้เลย รองเท้าไม่มีก็ได้ ชุดอะไรก็ได้ ไม่มีอุปสรรค ไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลังกาย เพราะมันง่ายมาก” 


ไม่มีเวลา ก็เท่ากับไม่มีน้ำยา 

เมื่อถามถึงการแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย ที่น่าจะเป็นอุปสรรคลำดับต้นๆ ของคนที่อยากจะหันมารักสุขภาพ หมอยาพูดกับทุกคนเสมอว่า “ถ้าคุณอ้างว่าไม่มีเวลา เท่ากับคุณอ้างว่าไม่มีน้ำยา” เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญอย่างไร และวางการออกกำลังกายไว้ตรงส่วนไหนของชีวิต 

“ในชีวิตเรามีแค่ไม่กี่อย่างที่มีความสำคัญจริงๆ อย่างครอบครัว การงาน และการดูแลตัวเอง เมื่อไหร่ที่คุณมองว่าการออกกำลังกายคือ สิ่งที่จำเป็น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำงานได้ดีขึ้น ก็ควรจะเอามาไว้ลำดับต้นๆ ถ้าคุณแบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกาย ร่างกายจะฟิตขึ้น รับภาระงานได้หนักขึ้น หลับสบายขึ้น”

หมอยาทิ้งท้ายพร้อมบอกว่า หากชีวิตยังขาดความสมดุล อยากให้ลองใส่การวิ่งลงไปช่วย แล้วทุกอย่างจะลงตัวมากขึ้น