ไม่พบผลการค้นหา
จากกรณีม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้มอบหมายให้ 'สมผล ตระกูลรุ่ง' ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เพื่อดำเนินคดีต่อ

จำเลยที่ 1 ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”

จำเลยที่ 2 รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จำเลยที่ 3 ชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

จำเลยที่ 4 อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

จำเลยที่ 5 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม

จำเลยที่ 6 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท 

ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีที่ 'ณัฐพล' เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” รวมทั้งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” โดยชี้ว่ามีข้อความบางตอนที่โจทก์อ้างว่าบิดเบือนทำให้ได้รับความเสียหาย

บางส่วนของคำฟ้องระบุความว่า วิทยานิพนธ์เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500), หนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) การพูดในการเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้วนเป็นสิ่งที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าไม่เป็นความจริง เป็นการปั้นแต่งความเท็จขึ้นใส่ความ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร 

ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการว่า ทรงประพฤติตนไม่สมต่อตำแหน่งหน้าที่ ทั้งการใช้พระราชอำนาจสนับสนุนรับรองการรัฐประหารปี 2490 และการเข้าแทรกแซงการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ โดยเจตนาเพื่อให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ การกล่าวหรือไขข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนความจริงของจำเลย ได้กระทำทั่วราชอาณาจักร รวมถึงนอกราชอาณาจักร เพื่อทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต

ท้ายคำฟ้องยังระบุว่า “เนื่องจากจำเลยทั้งหกยังคงไขข่าวให้แพร่หลายซึ่งข้อความเป็นฝ่าฝืนความจริง อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ โจทก์จึงใคร่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยทั้งหกกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด โดยให้จำเลยทั้งหกหยุดเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จซึ่งปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป ขอศาลโปรดอนุญาต ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการฟ้องร้องตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2564 แต่ด้วยสาเหตุของการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังผลให้กระบวนการด้านกฎหมายต้องหยุดชะงักลง ก่อนเลื่อนไต่สวนนัดแรกวันที่ 9 พ.ย.


หลักสากลที่หายไปพร้อมเสรีภาพทางวิชาการ

ด้านความเคลื่อนไหวของฟากผู้ถูกฟ้อง รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ฐานะจำเลยที่ 2 ได้เผยแพร่แถลงการณ์ แสดงความเสียใจสถานบันศึกษา เนื่องด้วยประเด็นปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

"ดิฉันมีความเสียใจที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง

คดีนี้แยกเป็นสองส่วน

คือส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันมีบทบาทเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

และส่วนที่สองคือ หนังสืออันเป็นผลผลิตของวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น

การดำเนินคดีในส่วนแรก เป็นความท้าทายต่อหลักการของเสรีภาพทางวิชาการ การฟ้องดำเนินคดีดิฉันซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นการละเมิดหลักการทั้งสองและย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการวิชาการในอนาคตด้วย

คดีนี้ จึงเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาหลักการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีหลักการเป็นสากลว่า ผลผลิตของวิทยานิพนธ์ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้น

คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้ใช้เวลาตรวจสอบวิทยานิพนธ์แล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วิทยานิพนธ์สอบผ่าน และวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี

หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นสถาบันวิชาการในระดับสากล ก็ควรต้องรับรองหลักการดังกล่าวอันเกิดขึ้นภายในสถาบันของตนด้วย และควรต้องมีบทบาทในการปกป้องดิฉันซึ่งทำหน้าที่อันชอบธรรมตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลนี้ และไม่ได้ดำเนินการปกป้องดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว

และในทางตรงกันข้าม ดิฉันกลับได้รับการสนับสนุน กำลังใจ ไมตรีจิต และความช่วยเหลือจากอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน

ซึ่งดิฉันของขอบพระคุณ ณ ที่นี้ด้วย"


รื้อประวัติศาสตร์พิสูจน์ข้อเท็จจริง

ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ฐานะทนายความ รศ.ดร.กุลลดา ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ถึงกระบวนการต่อสู้คดี ในส่วนของอดีตอาจารย์จุฬาฯ ว่า ที่ผ่านมาจุฬาฯเคยตั้งกระบวนการสอบวิทยานิพนธ์ ตามขั้นตอนกฎหมายของสถาบันทุกอย่าง และยังเชิดชูวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ในระดับดีเยี่ยม แต่กลับถูกอ้างว่างานชิ้นนี้บิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์

เมื่อคำฟ้องเป็นอย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะต้องนำประวัติศาสตร์เรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้ง เพื่อที่จะสืบทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากเขาฟ้องว่าเผยแพร่ข้อความที่ฝ่าฝืนความเป็นจริง ดังนั้นโจทย์เองก็ต้องพิสูจน์ว่า 'กรมชัยนาทนเรนทร' ผู้สำเร็จราชการแทนขณะนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทบาทของทหารจริงหรือไม่

นอกจากนี้เห็นว่า 'รศ.ดร.กุลลดา' ก็เพียงทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทเข้าไปมีบทบาทเนื้อหาของวิิทยานิพนธ์เลย อีกประเด็นที่ทนายวิญญัติตั้งข้อสังเกตคือ ก่อนหน้าที่จะเป็นคดีความ งานชิ้นนี้ก็ไม่ถูกทักท้วงอย่างใด แต่หลังจากที่มีนักวิชาการชื่อดัง ได้ออกมาทักท้วงว่ามีเนื้อหาที่ผิดจากข้อเท็จจริง กระทั่งจุฬาฯตั้งคณะกรรมการสอบ และไม่ได้ลงคำสั่งให้แก้ในส่วนสาระสำคัญ ที่โจทย์อ้างว่าเกี่ยวข้องกับปู่เขาเลย