ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ สร้างหลักประกันรายได้คนสูงวัย เปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 650 บาท เป็นบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3 พันบาทต่อราย พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายให้ครบ 1 หมื่นราย ก่อนยื่นสภาฯ 6 พ.ย. นี้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 48 ล้านคนอยู่นอกระบบการจ้างงาน และไม่มีหลักประกันรายได้สำหรับวัยเกษียณใดๆ อีกทั้งในจำนวนนี้ ยังมีคนอีก 21.2 ล้านคนที่ไม่มีการศึกษาสูงนักและเป็นแรงงานในภาคเกษตร ที่ไม่มีรายได้เพียงพอสะสมเพื่อเป็นบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน 

ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ซึ่งตามข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงวัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในปี 2561 ประชากรไทย 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีส่วนน้อยที่มีหลักประกันรายได้หรือระบบบำนาญเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นข้าราชการรที่มีบำนาญจากงบประมาณรัฐ และเป็นลูกจ้างที่จะมีหลักประกันรายได้หลังวัยเกษียณจากเงินสะสมในประกันสังคมก็ตาม แต่การที่รัฐมีเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงวัยเดือนละ 650 บาท นั้นไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้  

รัฐสภา-ประชาชน-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ-บำนาญแห่งชาติรัฐสภา-ประชาชน-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ-บำนาญแห่งชาติ


ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีรายได้หลังวันเกษียณเดือนละ 3,000 บาท หรือเป็นการเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 650 บาท เป็นบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท 

โดยกำหนดนิยามบำนาญแห่งชาติ เพื่อครอบคลุมคนทำงานทุกคนในและนอกระบบประกันสังคมที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป เพื่อเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้จากงบประมาณ เนื่องจากมีบำนาญที่เหมาะสมเพียงพอต้องมาจาก 3 ระบบ ได้แก่ 1) บำนาญพื้นฐานจากรัฐ 2) บำนาญจากการสะสมของคนทำงาน (ประกันสังคม, บำนาญข้าราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ) และ 3) ผู้มีศักยภาพมีรายได้สูงเพียงพอต่อการสะสมหรือลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลเป็นรายได้รายเดือนของตนเองนอกเหนือแบบ 1) และ 2)

"เราอยากเสนอบำนาญถ้วนหน้า เพื่อเป็นปิ่นโตเถาแรก สำหรับระบบประกันรายได้สำหรับประชากรสูงวัยของประเทศ เปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 650 บาท เป็นเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมือง เจตนารมย์ของระบบการเมืองสนับสนุนให้เกิดขึ้น จากเดิมที่ใช้งบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี หากเป็นบำนาญถ้วนหน้าจะใช้งบประมาณอย่างน้อย 3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะจัดสรรงบประมาณมาได้จากงบซื้ออาวุธของกองทัพ งบประมาณด้านสวัสดิการต่างๆ ได้" นายนิมิตร์ กล่าว

รัฐสภา-ประชาชน-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ-บำนาญแห่งชาติ
  • สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากเครือข่ายฯ

ทั้งนี้ ในวันนี้ (16 ต.ค.) เครือข่ายได้รวบรวมรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย 20 ราย ยื่นให้กับประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) และเชิญชวนประชาชนที่สนับสนุนหลักการดังกล่าวร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก 'บำนาญแห่งชาติ' โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสารและกรอกรายละเอียดส่งไปรษณีย์มาตามที่อยู่ที่แจ้งในระบบ เพื่อรวบรวมให้ครบ 10,000 รายชื่อ แล้วนำมาเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย. นี้

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติที่ประชาชนยื่นมานี้ ต้องมีรายชื่อผู้ริเริ่มกฎหมาย 20 คน ซึ่งทางสภาจะนำไปตรวจสอบว่าครบตามคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่ แล้วจึงเสนอประธานรัฐสภาพิจารณาหาผู้สนับสนุนกฎหมายตามกระบวนการต่อไป