ไม่พบผลการค้นหา
นักปีนเขาหลายคนต่างมุ่งหน้าสู่ 'เอเวอเรสต์' หลายคนกลับมาเสมือน 'ฮีโร่' แต่สำหรับอีกหลายคน สถานที่นั้นได้กลายเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายของชีวิต แต่ก็ยังมี 'ผู้กล้า' ที่มุ่งไปพิชิตยอดเขาเพิ่มขึ้นทุกปี

นับตั้งแต่บทความเรื่อง 'การปีนภูเขาเอเวอเรสต์ คือ งานของเหล่าบรรดาซูเปอร์แมน' (Climbing Mount Everest is work for supermen) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1923 ดูเหมือนว่าความต้องการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนั้นต่างเพิ่มมากขึ้นทุกปีและเป็นกิจกรรมที่ท้าทายเหล่ามนุษย์ผู้ที่ชื่นชอบความท้าทายและการผจญภัย แต่ใครจะรู้ว่า การขึ้นไปยังเอเวอเรสต์เพื่อเหยียบย่ำพื้นหิมะบนเขานั้นจะกลายเป็นหลุมฝังศพของพวกเขาเองในเวลาต่อมา

และนับตั้งแต่มีการปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งแรกในปี 1922 จำนวนผู้เสียชีวิตบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ก็มีมากกว่า 300 ราย เว็บไซต์ของนักปีนเขาอย่างอลัน อาร์เน็ตต์ระบุว่า กว่า 97 ปีที่ผ่านมา มีนักปีนเขาที่ตั้งใจจะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วกว่า 5,000 คน แต่จำนวนผู้พิชิตจุดที่สูงที่สุดของโลกได้นั้นมีเพียง 825 คนเท่านั้น และในปีนี้รัฐบาลเนปาลได้ออกใบอนุญาตให้นักปีนเขาขึ้นไปท้าทายความสูง พิชิตยอดเขา รวมทั้งสิ้น 381 คน 

ในปี 2019 ถือได้ว่ามีจำนวนนักปีนเขา 'มากที่สุด' ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเนปาลให้ขึ้นไปพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ส่งผลให้เส้นทางในการพิชิตยอดเขาที่เป็นแค่แนวสันเขาแคบๆ นั้นแออัด เต็มไปด้วยผู้ใจกล้าทั้งหลาย และด้วยความแออัดนี้ ส่งผลให้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 11 ราย และมีแนวโน้มว่าสถิติผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

เอเวอร์เรส.jpg

(จำนวนนักปีนเขาที่ขึ้นไปแออัดในเส้นทางพิชิตยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ในปี 2019)

'อลัน อาเน็ตต์' ผู้ปีนเอเวอเรสต์มาแล้ว 4 ครั้งกล่าวว่า นักปีนเขาจำนวนมากส่วนใหญ่จะขึ้นสู่ยอดเขาในเส้นทางที่อยู่ในประเทศเนปาล และปัจจุบันรัฐบาลเนปาลนั้นไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการตรวจหลักฐานหรือประสบการณ์ในการปีนเขา นักปีนเขาส่วนใหญ่ในปัจจุบันต่างจำเป็นต้องจ้างคนนำทางที่เป็นชาวพื้นเมืองของรัฐบาลเนปาลแทน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้

'เอเวอเรสต์' แหล่งสร้างรายได้ให้แก่เนปาล

ค่าใช้จ่ายในการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนั้นถือว่าสูงมาก โดยในเส้นทางการพิชิตยอดเขาจากประเทศเนปาลนั้นต้องใช้เงินประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 930,000 บาทต่อคน ขณะที่เส้นทางการขึ้นสู่ยอดเขาจากฝั่งทิเบตนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 45,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,400,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ ในการขึ้นไปพิชิตยอดเขาแต่ละปีสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเนปาลอย่างมหาศาล โดยรัฐบาลเนปาลจะเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุญาตปีนเขาแก่ผู้ที่แสดงความจำนง คนละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 341,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะสร้างรายได้มากกว่า 3.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลเนปาลในแต่ละปี

การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ในแต่ละครั้งนั้น รัฐบาลเนปาลได้ออกกฎให้นักปีนเขาทุกคนต้องมีผู้นำทางหรือไกด์ที่เป็นชาวพื้นเมืองนำทางขึ้นไป โดยที่ค่าจ้างคนนำทางที่เป็นคนพื้นเมืองนั้นอยู่ที่ระหว่าง 3,500 - 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามแต่ประสบการณ์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัยระหว่างเนปาลและทิเบต ขณะที่ค่าจ้างคนนำทางที่เป็นชาวตะวันตกนั้นอาจจะสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อการปีนขึ้นสูงยอดเขาเอเวอเรสต์ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะพิชิตยอดเขานั้นจะต้องจ่ายเงินอีก 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่ามัดจำในเรื่องความปลอดภัยในการปีนเขา ซึ่งหากนักปีนเขาไม่ได้รับอันตรายและไม่สร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ทางรัฐบาลเนปาลจะคืนเงินมัดจำจำนวนนี้ให้ทั้งหมด 

นอกจากนี้ นักปีนเขายังต้องจ่ายค่าเก็บขยะอีกคนละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาล ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมอยู่ในค่าธรรมเนียมที่นักปีนเขาต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลเนปาลและรัฐบาลจีนที่เป็นผู้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปีนเขาจากฝั่งทิเบต และยังมีค่าประกันภัยการเดินทางที่นักปีนเขาแต่ละคนจะต้องจ่ายอีก 70 -3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จำนวนยอดนักปีนเขาที่สูงขึ้นทุกปีสอดคล้องกับรายได้ที่รัฐบาลเนปาลจะได้รับจากการผจญภัยของนักปีนเขาเหล่านี้ แต่อาจไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่ล้นเกิน ขณะที่สัดส่วนของรายได้ที่รัฐบาลเนปาลจะได้จากความท้าทายของผู้กล้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 8 ของจีดีพีประเทศเนปาล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนประเทศหนึ่งของโลก

ที่มา SCMP / Economic Times /Alanarnette / CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง