ไม่พบผลการค้นหา
องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ ม.ขอนแก่น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ให้มีรูปแบบหลากหลาย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับการรักษา แต่ละโรคมากยิ่งขึ้น

​นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการปลูกและสกัดสารสกัดกัญชา อภ.ได้มีการเก็บดอกกัญชาและทำให้แห้งเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการสกัดเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด ซึ่งล่าสุดองค์การฯ ได้กำหนดความเข้มข้นน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นของแต่ละสูตร เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการรักษาโรคชนิดต่างๆ อีกทั้งได้ใช้เทคโนโลยีการสกัดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,500 ขวด เป็นประมาณ 10,000 ขวด โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นในส่วนของสูตร THC สูง 

อีกทั้งภายในปลายเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ จะเริ่มทยอยกระจายผ่านกรมการแพทย์ สู่โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการใช้สารสกัดกัญชารักษาผู้ป่วย ในรูปแบบการวิจัยแบบเฉพาะรายผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS และการรักษาผู้ป่วยแบบวิจัยเชิงลึกครบทุกกระบวนการวิจัย รวมถึงการรักษาในรูปแบบอื่นกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรผู้สั่งจ่ายยา และโรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. โดยขอย้ำว่าการนำสารสกัดกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นจะไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา และใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น

โดยสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น องค์การฯ ทำการผลิตเป็น 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 คือ THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 คือ CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 คือ สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 ผลิตโดยยึดหลักต้องปลอดภัย (Safety) ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด (Consistency) และ ต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) โดยหลังจากทำการเก็บเกี่ยวดอกกัญชา 140 ต้น ล็อตแรกหมดแล้ว องค์การฯ จะทำความสะอาดพื้นที่เพื่อทำการปลูกในล็อตที่ 2 ต่อไปทันที โดยคาดว่าจะได้สารสกัดกัญชาล็อตที่ 2 ประมาณปลายปีนี้

"ส่วนการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบ Indoor และแบบ Greenhouse พร้อมดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสมและสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด คาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2563" นพ.วิฑูรย์ กล่าว 

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการเพื่อวิจัยและพัฒนา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชารูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากชนิดหยดใต้ลิ้น ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพการรักษาและเหมาะสมกับโรคต่างๆ ยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเภสัชกรรม ทั้งนี้จะมีการศึกษาความคงสภาพ การศึกษาพรีคลินิก และการศึกษาคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ ที่องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือวิจัยในผู้ป่วยกับกรมการแพทย์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดจนการบริหารจัดการนำวัตถุดิบส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตในส่วนของต้นกัญชาที่ได้จากการสกัดนำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมการศึกษาวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลพียงพอสำหรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ต่อไป

นอกจากนั้นยังจะมีการการบริหารทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งต่างมีจุดมุ่งหวังเดียวกันที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดที่ดีมีคุณภาพ ราคาที่เข้าถึงได้

​ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้บริการการรักษาพยาบาลและพัฒนายารักษาโรคจากสมุนไพรจัดเป็นเป้าหมายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ซึ่งการที่กฎหมายได้เปิดโอกาสให้นำกัญชามาทำการวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น มหาวิทยาลัยฯ ได้เริ่มโครงการศึกษาวิจัยกัญชาแบบบูรณาการ ได้จัดทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากคณะวิชาต่างๆเป็นแกนนำในการพัฒนายาจากกัญชาเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ

"จะดำเนินการวิจัยตั้งแต่การปลูกเพื่อค้นหาพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูง นำมาเตรียมสารสกัดและสารบริสุทธิ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบยาเตรียมต่างๆ ที่จะนำไปทดสอบในผู้ป่วย เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยในการใช้จริงต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยฯ จะช่วยพัฒนาทรัพยากรสมุนไพรให้มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายด้านยาลงได้ ดังนั้นการร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการขยายขอบข่ายความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนากัญชาและสมุนไพรอื่นๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยต่อไป" รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์กัญชาและสมุนไพรอื่นๆ ที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น ยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งหากได้วัตถุดิบกัญชามาจากองค์การฯแล้ว ก็สามารถทำการวิจัยต่อได้ทันที ซึ่งเป็นการเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น น้ำมัน สเปรย์ และแคปซูลสารสกัดกัญชา และหากมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องก็จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชาในรูปแบบอื่นๆต่อไป และสามารถนำผลิตภัณฑ์กัญชามาทดสอบใช้กับผู้ป่วย Palliative Care หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย ทั้งนี้ประเทศไทยจะได้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่มีคุณภาพที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้ยาในราคาที่ถูกลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง