ไม่พบผลการค้นหา
กอนช. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ของประเทศไทยช่วงวันที่ 16-20 ต.ค.นี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังฉบับที่ 11 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์พายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) 'นังกา' บริเวณอ่าวตังเกี๋ยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนิญบิญ ทางตอนใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามในเย็นวันที่ 14 ต.ค.แล้วจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และความกดอากาศต่ำตามลำดับจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นบริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ซึ่งอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ช่วงวันที่ 14-16 ต.ค.รวมถึงได้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนอาจมีผลกระทบส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักต่อเนื่องช่วงวันที่ 16-20 ต.ค.

เบื้องต้นได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงวันที่ 16–20 ต.ค.คือเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังภาคเหนือ บริเวณตาก, พิษณุโลก, และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชัยภูมิ, และอุบลราชธานี ภาคกลาง บริเวณกาญจนบุรี, เพชรบุรี, และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ บริเวณนครศรีธรรมราช, ระนอง, พังงา, กระบี่, และตรัง

เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำมูลและลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา, คลองลำปะเทีย จังหวัดบุรีรัมย์, ห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ, แม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายก, คลองพระสทึง และคลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว, แม่น้ำลำภาชี จังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี, แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี, แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี, แม่น้ำตรัง คลองปะเหลียน คลองชีและคลองนางน้อย จังหวัดตรัง, คลองละงูและคลองดุสน จังหวัดสตูล จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสภาพอากาศและน้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่หรือเคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซากและมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ

ขณะเดียวกันให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมบริหารน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90% หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ

รวมทั้งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลากประกอบด้วยภาคเหนือ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่งคืออ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู, อ่างเก็บน้ำห้วยทา จังหวัดศรีสะเกษ และอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์, ภาคกลาง 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี ภาคตะวันออก 10 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก, อ่างเก็บน้ำคลองพระสทึง จังหวัดสระแก้ว, อ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำดอกกรายและอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง, อ่างเก็บน้ำเขาระกำ, อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง, อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน และอ่างเก็บน้ำคลองโสน จังหวัดตราด ภาคใต้ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ จังหวัดเพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองหยา จังหวัดกระบี่

ทั้งนี้ยังให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำอาคารบังคับน้ำและระบบชลประทานต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมทั้งสำรวจและกำจัดสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือดูแลบำรุงรักษาระบบสื่อสารหลักให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง และจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรองเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที