ไม่พบผลการค้นหา
"เพื่อไทย" ยื่น สภา ตั้ง กมธ.วิสามัญวิสามัญพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกิน ทั้ง ม.112 , ม.116 และกฎหมายอื่นๆ พร้อมเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีขอเสนอยื่นญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกิน และขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้ต้องขังทางการเมือง 

ชลน่าน กล่าวว่า ภายหลังการรับเรื่องจากกลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง ที่มายื่นข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้อง สิทธิในการประกันตัวแก่นักโทษทางการเมือง พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ด้วยการผลักดันเข้าสู่กลไกรัฐสภา ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเองก็ได้มีการเข้าชื่อเสนอญัตติด่วน ให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งต้องขอบคุณทาง นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา ที่ได้มารับหนังสือจากพรรคเพื่อไทย เพื่อดำเนินการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไปโดยเร็วที่สุด

โดยวัตถุประสงค์ของการยื่นเสนอให้เป็นญัตติด่วนในวันนี้ ชลน่าน ระบุว่า มี 3 ประการด้วยกัน คือ 1. ผลการประชุมของกมธ. จะส่งผลต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ถือเป็นการบังคับยับยั้งการจับกุมคุมขังนักโทษทางการเมืองรายใหม่ได้ 2. มติจากที่ประชุมจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้เกิดขึ้น ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมที่มีคำพิพากษาแล้ว และ 3. เรียกร้องถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล ในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี 

ส่วนผลการศึกษานี้จะดำเนินการเอาผิดกับผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างไร ชลน่าน ระบุว่า หากพบผลว่ากระบวนการใช้กฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ว่ากันไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเช่น ม.157 ส่วนจะทันกรณีที่ช่วงบ่ายวันนี้ (10 พ.ย.) ศาล รธน. จะอ่านคำวินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของแกนนำราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครองของหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเสนอนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงกรณีนี้ เพราะไม่น่าจะทัน พร้อมยืนยันว่าญัตติด่วนนี้ไม่ใช่แค่ ม.112 แต่รวมถึงข้อกฎหมายอื่นๆด้วย อาทิ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,ม.116 และ ม.112 บางส่วน ขออย่าไปผูกกับกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังย้ำถึงคำพูดเดิมในการทำงานภายใต้สภาผู้แทนราษฎรว่า จะไม่เป็นองค์ประชุมให้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า ความรับผิดชอบนี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายเสียงข้างมากคือรัฐบาล ฝ่ายค้านจะทำต่อเมื่อฝ่ายเสียงข้างมากมีความพร้อมเท่านั้น และหากตรวจสอบเบื้องต้นว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อม เราก็จะไม่ทำหน้าที่แทนเสียงข้างมากแน่นอน

ส่วนกรณีการตอบกระทู้สดของรัฐมนตรี ที่พบหลายคนไม่มาตอบ ซึ่งปกติแล้วจะยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหากไม่มาตอบจะต้องมีมติ ครม. แจ้งมาว่าตอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอะไร แต่รัฐมนตรีจะแจ้งว่าติดภารกิจแล้วไม่มาตอบ แบบนี้ถือขัดว่า รธน. ดังนั้นหากมีพฤติกรรมเช่นนี้ สุดท้ายอาจจำเป็นจะต้องยื่นศาล รธน. ตีความถึงแนวทางว่าจะควรเป็นอย่างไร รวมถึงยังมองเป็นความบิดเบี้ยวของ รธน. ที่เขียนหวังผล ที่ไม่แจ้งให้เจ้าต้วทราบล่วงหน้า แต่ต้องมาตอบ