ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยพบไวรัสที่มนุษย์ไม่รู้จักอย่างน้อย 28 ชนิด ในธารน้ำแข็งอายุกว่า 15,000 ปีในทิเบต เชื้อทนทานสภาพอากาศที่โหดร้ายแม้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง

นักจุลวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา (Ohio State University) ค้นพบเชื้อไวรัสอายุกว่า 15,000 ปีจากตัวอย่างน้ำแข็งที่ได้มาจากที่ราบสูงทิเบต ของประเทศจีน โดยพบว่าไวรัสกลุ่มดังกล่าวสามารถอยู่รอดมาได้เนื่องจากอาศัยอยู่ในน้ำแข็ง และเป็นไวรัสที่ไม่เหมือนกับไวรัสชนิดอื่นใดในโลก

การค้นพบครั้งนี้เกิดจาก สี ผิง จง (Zhi-Ping Zhong) นักวิจัยด้านจุลชีววิทยาจากมหาวิทาลัยโอไฮโอและหัวหน้าการวิจัยครั้งนี้ ได้คิดค้นวิธีการใหม่ที่จะศึกษาจุลินทรีย์และไวรัสที่อยู่ในน้ำแข็ง โดยไม่ทำให้ไวรัสเหล่านั้นเกิดการเจือปนได้ เนื่องจากในแกนน้ำแข็งนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นและเป็นที่เกาะของมลพิษ เขาคิดค้นเทคนิคดังกล่าวเนื่องจากการศึกษาไวรัสในแกนน้ำแข็ง จึงทำให้สะท้อนภาพสิ่งแวดล้อมและเชื้อไวรัสที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ ในแกนน้ำแข็งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ศึกษาเนื่องจากเป็นที่ที่น้ำแข็งซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน จุลินทรีย์ ไวรัสหรือก๊าซต่าง ๆ ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้วิธีการนี้ศึกษาธารน้ำแข็งกุลิยา (Guliya) ที่อยู่ด้านตะวันตกของจีนมาตั้งแต่ปี 2558 

จากการศึกษาพบรหัสพันธุ์กรรมของไวรัสกว่า 33 ชนิดอยู่ในแกนน้ำแข็ง ในจำนวนดังกล่าว มีไวรัส 4 ชนิดที่ค้นพบแล้วในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่มีอย่างน้อย 28 ชนิดที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสประเภทใด และจำนวนกว่าครึ่งของจำนวนไวรัสที่ค้นพบสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง แม้ไม่ได้อาศัยอยู่ในน้ำแข็งก็ตาม 

แมธทิว ซัลลิแวน (Matthew Sullivan) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาจากรัฐโอไฮโอ อธิบายการอยู่รอดของไวรัสว่า “ไวรัสเหล่านี้สามารถเติบโตได้แม้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง” เขาระบุเพิ่มเติมว่า “ไวรัสเหล่านี้มีเอกลักษณ์ในยีนส์ของมัน ที่ช่วยให้มันแพร่ระบาดได้แม้สภาพแวดล้อมสุดโหดร้ายอันหนาวเย็น”

ส่วนไวรัส 4 ชนิดที่เคยค้นพบมาแล้ว เป็นเชื้อไวรัสตระกูลใกล้เคียงกับแบคทีเรีย แต่การพบเชื้อไวรัสทั้ง 4 ชนิดในแกนน้ำแข็งครั้งนี้ นักวิจัยพบว่าตัวเชื้อมีความเข้มข้นน้อยกว่าที่

เคยพบในพื้นดินหรือในน้ำทะเล ดังนั้นหากอ้างอิงจากความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในดิน น้ำทะเล ประกอบกับข้อมูลของไวรัสที่มีอยู่ นักวิเคราะห์ได้ชี้ว่าว่า เชื้อไวรัสมักมีที่มาจากดินหรือพืชมากกว่า ไม่ใช่จากมนุษย์หรือสัตว์ การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เชื้อไวรัสและจุลินทรีย์มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์เรากำลังเดินทางไปสู่โลกที่อุณหภูมิสูงขึ้น

ที่มา: The Weather Chanel , OhioStateNews , SCINews