ไม่พบผลการค้นหา
‘ฝ่ายความมั่นคงไทย’ ผลักดันผู้ลี้ภัยสงครามระหว่างกองทัพเมียนมา - กะเหรี่ยง KNU กว่า 3,000 คน ริมแม่น้ำสาละวินใกล้พรมแดนไทย กลับหมู่บ้านอ้าง เศรษฐกิจชายแดนไทยเสียหาย เพราะเหมือนมีสภาวะสงคราม ด้านภาคประชาชนไทยแถลงการณ์ขอให้รัฐไทยช่วยเหลือผู้อพยพเพราะตอนนี้กำลังขาดแคลนอาหาร

หลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 กองทัพเมียนมาของผู้นำรัฐประหาร มิน อ่อง หล่าย ส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ 'กะเหรี่ยงเคเอ็นยู' ใกล้พรมแดนไทย ตรงข้าม ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง โดยยิงและทิ้งระเบิดบริเวณฐาน 'พะแคโจ๊' ถึง 4 ครั้ง

ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุทั้งหญิง ชายอพยพหนีภัยสงครามพักอยู่ริมแม่น้ำสาละวินและพยายามจะข้ามมาฝั่งไทย

สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าวที่ติดตามเรื่องนี้รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ว่า คาดมีผู้อพยพราว 3,000 คน และผู้อพยพเหล่านั้นกำลังเผชิญความลำบากทั้งขาดแคลนอาหารและผู้สูงอายุ เด็ก สตรีก็ประสบปัญหาสุขภาพและป่วยไข้จำนวนมากขึ้นในขณะที่ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทยรายงานว่า มีผู้อพยพทั้งสิ้น 2,159 คน


ไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ อ้างกระทบเศรษฐกิจชายแดน

รายงานข่าวจากสำนักข่าวชายขอบยังระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยบริเวณชายแดนดังกล่าว ขอให้ผู้อพยพเดินทางกลับหมู่บ้าน 

เมียนมา

“หากชาวบ้านอยู่จะทำให้พื้นที่ชายแดนดูเหมือนว่ามีการสู้รบอยู่และกระทบเศรษฐกิจของไทย การค้าชายแดน” รายงานข่าวอ้างเสียงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย

ด้านชาวบ้านกล่าวว่า ตอนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะแต่ละรอบในการข้ามน้ำสาละวิน ต้องขนข้าวของลำบากมาก มีทั้งเด็ก คนแก่ คนป่วย คนพิการ ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เวลานี้เจ้าหน้าที่ไทยกลับบอกว่าต้องกลับหมู่บ้าน


เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินแถลงการณ์ตอบโต้ฝ่ายไทย

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2564 มีรายงานข่าวว่า ‘เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน’ แกลงการณ์ต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า 

ผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-พม่า ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ได้ข้ามมายังฝั่งไทย ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอพักพิงชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยในฝั่งไทย แต่หลายจุดในเวลานี้ชาวบ้านเหล่านี้ได้ถูกทางการไทย พยายามเจรจากดดันให้กลับไป โดยอ้างเหตุผลว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังมีความกังวลและหวาดกลัว เรื่องความปลอดภัย เพราะมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ 

“แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ แจ้งกับชาวบ้านว่าว่าข้างบนสั่งมาให้กลับแล้ว หากยังอยู่ก็จะกระทบต่อไทย กระทบต่อการค้าชายแดน และเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ในเวลานี้ยังมีเครื่องบินรบของพม่า เข้ามาบินยิงทิ้งระบิดโจมตีฐานกองกำลังกะเหรี่ยง ใกล้บริเวณพรมแดนไทยพม่า ใกล้หมู่บ้านของประาชน และหมู่บ้านข้างในกองทัพพม่าก็ใช้โดรนตรวจการณ์ และส่งเครื่งบินรบมาอยู่ตลอดทุกวัน” แถลงการณ์ระบุ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทางการไทย ต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง การข่าวที่เชื่อถือได้ และควรจะมีมาตรการผ่อนปรน ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรมเป็นการด่วน ควบคู่ไปกับการติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง บนหลักการความมั่นคงของชาติ และหลักมนุษยธรรม

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องต่อทางการไทย รัฐบาลไทย และฝ่ายความมั่นคงไทย ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลไทย กระทรวงกลาโหม ในฐานะฝ่ายความมั่นคงไทย ให้ประสานแจ้งเตือนไปยังกองทัพพม่า ให้ยุติการโจมตีทางอากาศ ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทันที กองทัพพม่าต้องยุติการโจมตีบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะปฏิบัติการโจมตีโดยโดยเครื่องบินของทหารพม่าที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนพลเรือนได้รับผลกระทบ เครื่องบินรบทิ้งระเบิด จึงส่งผลให้ประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงต้องลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยตามชายแดนอีกด้วย

2. ขอให้ฝ่ายความมั่นคงไทย ผ่อนปรนให้ที่อาศัยพักพิงชั่วคราวแก่ผู้หนีภัยสงคราม เพื่อความปลอดภัย ตามหลักมนุษยธรรม และเปิดช่องทางในการเข้าให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรม เป็นการด่วน ไม่ควรประวินเวลาปล่อยให้เวลาล่วงเลยกับการประเมินสถานการณ์ช้าไปกว่านี้ เนื่องจากกลุ่มผู้หนีภัยที่พักพิงชั่วคราวเวลานี้ มีทั้งเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก ผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ มีอาการเจ็บป่วย ท้องเสีย มาลาเรีย ฯลฯ

3. ขอให้มีมาตรการผ่อนปรน เปิดพื้นในการบริหารจัดการบูรณาการหลายฝ่าย ในการควบคุม ช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม ให้สาธารณะรับรู้กระบวนการบริหารจัดการแด้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะอย่างถูกต้อง มากกว่าการสกัดกั้น ปิดช่องทางในการสื่อสารแลัความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

4. ขอให้จัดที่พักพิงชั่วคราวที่เหมาะปลอดภัยแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ตามหลักมนุษยธรรม เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบาง เด็ก คนแก่ ฯลฯ

5  ขอให้ยุติการผลักดันกลับไปสู่ความตาย การผลักดันผู้หนีภัยกลับสู่อันตราย ผิดจารีตระหว่างประเทศ หลักการ ไม่ส่งกลับ ถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างปรเเทศ ที่จำเป็นต้องเคารพ และปฏิบัติตาม ควรพิจารณาให้ชาวบ้านตัดสินใจกลับเอง ในห้วงเวลาที่เหมาะสม และปลอดภัย

ขณะที่รายงานข่าว The Reporters เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2564 ซึ่งติดต่อสอบถามไปยัง สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนในกรณีดังกล่าว

สิธิชัยกล่าวว่า การดูแลพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ทั้ง 4 แห่ง ยังเป็นหน้าที่ทหาร ซึ่งนับจากเหตุการณ์ 27 เม.ย. 2564 และผู้อพยพสูงสุดกว่า 3,000 คน ได้ทยอยกลับไปเหลือล่าสุดเมื่อวานนี้ 2,159 คน ซึ่งการส่งกลับต้องมาจากความสมัครใจ ที่ต้องคลายใจในสถานการณ์ว่าไม่รุนแรงแล้ว

"ทราบว่ามีผู้อพยพกลับไปส่วนหนึ่ง เพราะสถานการณ์ เริ่มดีขึ้น ซึ่งการส่งสิ่งของต้องรอทางทหารแจ้งมาว่ารับมือไม่ไหว ทางจังหวัดก็จะดำเนินการ ซึ่งมีการหารือกับกลุ่มภาคประชาสังคม ในการตั้งคณะทำงาน เตรียมความพร้อมกันแล้ว" ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวชายขอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ว่า ความดูแลในเรื่องนี้เป็นของฝ่ายความมั่นคง ภายใต้การดูแลของกองกำลังนเรศวร 

ทางจังหวัดก็ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือหากทางฝ่ายความมั่นคงได้ร้องขอมาจังหวัดยังไม่ได้รับการส่งมอบจากฝ่ายความมั่นคง จึงยังไม่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ หากฝ่ายทหารมอบหมายมา ก็พร้อมจะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยยึดหลักสำคัญ

1.เอกราช อธิปไตย ใครจะล่วงละเมิดมิได้ 

2.เราจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายฝ่ายหนึ่งไม่ได้

3.จะช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมทุกกลุ่ม ทุกคน เท่าเทียมกัน