ไม่พบผลการค้นหา
ยังไม่มีข้อตกลงจากการประชุมโอเปกหลังเม็กซิโกไม่รับข้อเสนอ ลดกำลังการผลิตน้ำมันอีก 4 แสนบาร์เรล/วัน ส่งผลราคาน้ำมันดิบ WIT-น้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 700-1,000 บาท/บาร์เรล ด้านเลขาธิการโอเปกชี้โควิด-19 คืออสูรกายที่ทำลายตลาดน้ำมัน

ความพยายามบรรลุข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย หรือในอีกมิติหนึ่งคือประเทศในกลุ่มโอเปกและพันธมิตรซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ‘โอเปกพลัส’ ยังไม่มีผลลัพธ์ในเชิงบวกนัก เนื่องจากมีการรายงานว่าเม็กซิโกปฏิเสธที่จะลดกำลังการผลิตลงมา ภายในการประชุมที่กินเวลานานกว่า 9 ชั่วโมง

ก่อนหน้าที่เม็กซิโกจะถอนตัว สมาชิกอื่นๆ ของโอเปกพลัส ซึ่งนำโดยซาอุฯ และรัสเซีย ตกลงในช่วงก่อนหน้าของวันนั้นที่จะร่วมกันลดปริมาณน้ำมันราว 10 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อมีการถอนตัวเกิดขึ้น จึงยังไม่มีการสรุปข้อตกลงที่ชัดเจนออกมา และจะมีการเจรจาอีกครั้งในวันศุกร์ (10 เม.ย.) นี้

ด้าน ‘โรซิโอ นาเฮล’ เลขาธิการพลังงานของเม็กซิโกทวีตข้อความในทวิตเตอร์แสดงท่าทีชัดเจนว่า เม็กซิโกพร้อมปรับลดกำลังการผลิตราว 100,000 บาร์เรล/วัน ในช่วงเวลา 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์สชี้ว่าที่ประชุมโอเปกพลัสเรียกร้องให้ลดกำลังการผลิตมากถึง 400,000 บาร์เรล/วัน 

ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามอย่างหนักในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกลงอย่างมหาศาล แต่ดูเหมือนนักลงทุนจะยังไม่เชื่อมั่นว่าจำนวนเหล่านั้นเพียงพอที่จะชดเชยกับความต้องการน้ำมันที่หายไปจากตลาดระหว่างเกิดโรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอีกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 

น้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ หรือ WTI ( West Texas Intermediate) ตกลงร้อยละ 9.29 หรือประมาณ 2.33 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (76.09 บาท) ลงมาอยู่ในระดับ 22.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือประมาณ 743.28 บาท ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ลดลงราวร้อยละ 4.14 จากที่เคยพุ่งไปสูงถึง 36.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ( 1,188 บาท) ตกมาเหลือเพียง 31.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (1,028 บาท)

นายโมฮามัด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปกกล่าวว่า “โควิด-19 เหมือนอสูรกายที่ไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนที่สร้างผลกระทบให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในทางของมัน” และสำหรับตลาดน้ำมันโลก คือการทำลายพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานตลาดไปทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา ราคาพลังงานตกต่ำลงไปอย่างต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบของโลกเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงักลง

ขณะที่ความขัดแย้งในฝั่งอุปทานการผลิตก็สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งมีแสดงผลอย่างชัดเจนเมื่อซาอุฯ พยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อช่วงชิงตลาดเอเชีย ขณะที่รัสเซียก็ไม่ยอม จึงส่งผลให้เกิดการผลิตแข่งกันและทำให้มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีของหสรัฐฯ ออกมาทวีตข้อความที่แสดงว่าตนกำลังมีส่วนในการร่วมการเจรจาลดกำลังการผลิตลงประมาณ 10 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออาจมากกว่านั้นระหว่างซาอุฯ และรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้มีผลลัพธ์ใดๆ ตามมา อีกทั้งรัสเซียยังออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการพูดคุยเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ความพยายามในการบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ของโอเปกพลัสช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันดูจะยังไม่พร้อมลงไปสู้ราคาในแดน 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ( 320 บาท) ผ่านการผลิตน้ำมันจนล้นตลาดเท่าไหร่นัก

อ้างอิง; CNBC, Bloomberg, WO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: