ไม่พบผลการค้นหา
22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องสิ้นสุดลง หลังถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลในคดีฉ้อโกงเมื่อ 26 ปีก่อน เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติห้ามบุคคล 18 ประเภทสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หนึ่งในนั้นคือ “เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย มีข่าวว่าสำนักการคลังได้ตรวจสอบเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของนายสิระที่ต้องจ่ายคืนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ถึง 22 ธันวาคม 2564 รวมเกือบ 3 ปี พบว่ามีเงินที่นายสิระต้องจ่ายคืนสภาฯ เบื้องต้น 8,490,000 บาท แต่ยังตรวจสอบไม่เสร็จทั้งหมด

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากจะมีการเรียกเงินคืนต้องปรากฏว่าเป็นความผิดทางอาญาก่อน ตามมาตรา 151 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หมายความว่าจะต้องมีการฟ้องคดีอาญาต่อ โดยจะมีปัญหาที่ต้องตัดสินว่าสิระ ‘รู้อยู่แล้ว’ ว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครส.ส. หรือไม่ 

“คนก็เชียร์กันว่าเขารู้อยู่แล้ว เอาเข้าจริง ตัวบทแบบนี้เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน มันเปิดช่องให้ศาลตีความได้กว้างถึงผลสืบเนื่องตามมา ตอนนี้คนปรบมืออยากเรียกคืนเงินให้หมด อาจเป็นความสะใจที่เข้าใจได้ในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ในทางหลักกฎหมายเราต้องพิจารณาเรื่องนี้กันให้ดีว่าจะวางมาตรฐานกันแบบนี้จริงๆ หรือ” วรเจตน์กล่าว

นักกฎหมายมหาชนแสดงเหตุผลในการเห็นแย้งคดีนี้ว่า ตั้งแต่สมัยยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญคนดี’ เขาไม่เคยเห็นด้วยเลยกับการตัดสิทธิทางการเมืองคนด้วยฐานคิด ‘คนดี’ เช่นนี้

อาจาร์ย วรเจตน์

“สำหรับหลักของผม ซึ่งผมถือหลักแบบนี้มาตลอดเวลา ตั้งแต่คดีคุณสมัคร (สุนทรเวช) เรื่อยมา ถึงธรรมนัส (พรหมเผ่า) ถาวร (เสนเนียม) แม้ว่าทัศนะทางการเมืองผมจะเป็นอีกอย่างหนึ่งเลยโดยสิ้นเชิงจากพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม หลักของผมคือ เวลาคุณจะตัดสิทธิบุคคล จะตัดสิทธิแรงแค่ไหนอย่างไร คุณควรให้ความหมายตัวบทกฎหมายนั้นอย่างไร เพราะมันจะใช้เป็นการทั่วไปกับอันอื่นๆ แน่นอน อาจมีคนบอกว่าอันนี้รัฐธรรมนูญ 'คนดี' นี่ ต้องการกำจัด 'คนไม่ดี' แต่เราต้องไม่ลืมว่า ไอเดียเรื่อง 'คนดี' ที่เราเข้าใจกันมันถูกประกอบสร้างขึ้นภายใต้การเคลื่อนไหวทางการเมือง โจมตีกันตั้งแต่ปี 2548-49 เรื่อยมา คุณจะตัดใครสักคนออกจากการเมือง ถามว่าชีวิตของคนคนหนึ่งมันผิดพลาดได้ไหมสำหรับคนธรรมดา แล้วเขารับโทษหรือยัง แล้วเขามามาโดยมีคนตั้งเขามาหรือสมัครมา ถ้าแต่งตั้งมาผมก็ยังรับได้ว่าตั้งคนแบบนี้เข้ามา แต่อันนี้มันผ่านกระบวนการเลือกโดยประชาชน เว้นแต่คุณจะบอกว่าไม่ยอมรับระบบเลือกตั้ง ถ้าตั้งฐานแบบนี้ก็จบไม่ต้องพูดอะไรกันอีก”

วรเจตน์ระบุว่า คดีของสิระเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ด้วยเหตุนี้จึงมีความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากข้างน้อย 7:2 เพราะมองข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน เนื่องเอกสารไม่บ่งชี้ ไม่สมบูรณ์ มีแต่พยานบุคคลยันกันไปมา อย่างไรก็ดีเรารู้ว่า คุณสิระมีคดีแน่ๆ แต่คดีจบแบบไหน ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาล หรือจบไปเพราะสุดท้ายมีถอนคำร้องทุกข์แล้วก็จ่ายชดใช้กัน อันนี้เป็นปัญหาซึ่งตุลาการเสียงข้างมากเชื่อว่าไม่มีการถอดนคำร้องทุกข์ อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดียอมความได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นฝ่ายข้างน้อยที่มองว่าโทษถึงขนาดลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ มันควรต้องเป็นความผิดที่ทำต่อประชาชน ต่อแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ แต่คดีนี้เป็นความผิดต่อบุคคล นี่เป็นปัญหาของการให้ความหมายฐานความผิด

“อย่างคดีคุณสมัคร ตีความลูกจ้างกว้างเป็นทะเลก็ไม่ได้ คดีธรรมนัส ผมบอกว่าถ้ามันไม่บ่งชี้ถึงศาลต่างประเทศมันก็ต้องหมายความถึงตัวบทในระบบกฎหมายไทย หรือกรณีติดคุกอยู่ 2 คืนระหว่างรอปล่อยก็เหมือนกัน นี่เป็นคดีที่จะไปตัดสิทธิคนทางการเมือง โดยสภาพไม่ควรเป็นแบบนั้นในเชิงการตีความ ความผิดเรื่องทรัพย์ก็เหมือนกัน จะตัดสิทธิเขาขนาดนี้มันควรเป็นแค่ไหนอย่างไร ถ้าเราไม่ระวัง ระยะยาวมันจะกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ซัพพอร์ตวิธีคิดแบบ 'คนดี' ในที่สุด ผมคิดว่าไม่ใช่ เราเอาหลักไว้ก่อน”

วรเจตน์กล่าวว่า เรื่องนี้อาจต้องไปเปลี่ยนที่รัฐธรรมนูญด้วย แต่ถ้าสังคมคิดว่าบทบัญญัติแบบนี้ดีแล้ว เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เราก็จะเขียนแบบนี้อีก ถามว่ามันดีแล้วจริงๆ ไหม ไม่อยากให้นึกถึงหน้าคุณสิระ แต่อยากคิดถึงหลักทั่วๆ ไป ถามว่าคนเขียนเขียนว่า 'ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนเองมีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ' แล้วมาสมัครส.ส.มีโทษจำคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถ้าได้เป็น ส.ส.ยังให้เรียกเงินต่างๆ กลับคืนทั้งหมด

“ขนาดคนที่เชี่ยวชาญในทางกฎหมายเวลามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติยังเถียงกันเลย เจ้าตัวจะรู้ไหมว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เขาสมัครเพราะเขาคิดว่าเขามีสิทธิสมัคร มันอาจมีบางเคสที่ชัดแจ้งว่าตั้งใจ แต่หลายเคสล้วนเป็นการตีความ ไม่อย่างนั้นจะต้องมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือ และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังไม่เอกฉันท์ ยังเถียง ยังมองไม่เหมือนกันเลย ประเด็นก็คือ ถ้าเราเอาคดีคุณสิระเป็นฐาน คุณธนาธรก็เหมือนกัน คุณธนาธรเขาจะรู้ไหมว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ ไม่รู้ เขาคิดว่าเขามีคุณสมบัติ เรื่องหุ้นเขาโอนแล้วไง แต่พอศาลบอกว่าขาด ก็โอเค พ้นตำแหน่งไป คำวินิจฉัยจะถูกหรือไม่ถูกก็ตาม แต่มันก็มีผลให้พ้นไป เคสคุณธนาธรบังเอิญไม่มีประเด็นว่าเป็น ส.ส.หลายปีเหมือนคุณสิระ ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องเรียกเงินคืน ผมไม่แน่ใจว่าในคดีอาญาตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว แต่ขอให้เราย้อนกลับไปที่วิธีคิดนิดหนึ่งว่าเราควรตั้งจากฐานแบบไหน เราต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่ายังไงก็ตาม เขาทำงานไปแล้ว จะดีหรือไม่ดี จะชอบหรือไม่ชอบ ผมก็ไม่ได้ชอบอะไรคุณสิระโดยส่วนตัวเลย แต่เวลาที่เราจะชี้เกณฑ์พวกนี้มันต้องเอากลับมาที่หลักการซึ่งจะเป็นฐานของประเทศไปยาวๆ ผมคิดว่าเราเอาความรู้สึกเฉพาะหน้าเป็นฐานไม่ได้”

“ยอมรับว่านี่เป็นปัญหาของฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน ทำให้เสียเปรียบฝ่ายเผด็จการเสมอมาและเสมอไป คือ ฝ่ายประชาธิปไตยมักถูกเรียกร้องให้มีหลักการ เพราะถ้าไม่มีหลักการ คุณก็ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ สุดท้ายคุณก็ไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์ในการยึดเหมือนกัน ถ้าอยากจะต่าง ต้องมีหลักบางอย่างอยู่”

“คนดีหรือคนไม่ดี ไม่ควรดูที่ตัวกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว คนไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเลย ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนดีใช่ไหม แล้วคนทำผิดกฎหมายอาจเคยไม่ดีแล้วเขาก็อาจเป็นคนดีแล้ว มันเป็นไปได้หมด” วรเจตน์กล่าวและสรุปว่า ดังนั้น ในทางกฎหมายจึงต้องคิดถึงหลักทั่วไป การตัดคนออกจากสังคมการเมืองตลอดชีวิต ตนเองไม่เห็นด้วยมานานแล้ว เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสินเขาเอง ยิ่งในสภาวะการตัดสินคดีหรือคำพิพากษาต่างๆ ออกมาในสภาวะที่ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด บทบัญญัติแบบนี้จึงยิ่งอันตราย