ไม่พบผลการค้นหา
ข้อมูลกรมขนส่งทางบกชี้แท็กซี่จดทะเบียน 83,960 คัน มีประกันภัยเพียงร้อยละ 75 คปภ. จับมือ 8 บริษัทประกันภัยเปิดบริการประกันภัยรถแท็กซี่แบบภาคสมัครใจ ประเภท 3 บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการรถแท็กซี่ สร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการ แก้ปัญหาแท็กซี่ถูกบอกเลิกสัญญาประกัน เพราะอัตราร้องเรียกค่าสินไหมสูง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลต้นทุนในการรับประกันภัยรถแท็กซี่ พบว่า มีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงถึงร้อยละ 92 สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 3 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยขาดทุนจากการรับประกันภัยรถแท็กซี่ ประกอบกับเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้รับประกันภัยนั้นไม่สอดคล้องต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จึงทำให้บริษัทประกันภัยหลีกเลี่ยงที่จะรับประกันภัยรถดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเดือนร้อน และประชาชนไม่มั่นใจ เพราะจากตัวเลขรถแท็กซี่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกกว่า 83,960 คัน มีประกันภัยรถยนต์เพียงร้อยละ 75 เท่านั้น

ประกันภัย Taxi

ทั้งนี้ คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัย เห็นว่าควรให้มีการจัดตั้งกองกลางฯ (Pool) สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ คือ รถแท็กซี่

ล่าสุดมีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมรับประกันภัย จำนวน 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมรับประกันภัยต่อ โดยได้มอบหมายให้บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารกองกลางฯ

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถแท็กซี่จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 3 เพื่อรับประกันภัยรถแท็กซี่ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย 500,000 บาทต่อคน เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุด 400,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้าย ไม่เกินคนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวม 5 คน รวมทั้งการประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัย 12,500 บาทต่อคัน