ไม่พบผลการค้นหา
สารคดีชนโรงเรื่องใหม่ พาไปรู้จักคุณป้าลายจุด ศิลปินผู้เช็คอินตัวเองเข้าคลินิกจิตเวช และอุทิศตัวให้กับการสร้างผลงานอลังการจนกลายเป็นจักรวาลใหม่ที่ไม่หยุดนิ่ง

ถ้าพูดถึง ยาโยอิ คุซามะ หรือ ‘คุณป้าลายจุด’ หลายคนคงนึกถึงฟักทองลาย polka dots ทั้งสีเหลืองดำบ้าง ขาวแดงบ้าง ทั้งในรูปแบบของงานประติมากรรม/จัดวาง (มาแสดงในงาน Bangkok Art Biennale 2018 ด้วย) หรือไม่ก็โปรดักต์ต่างๆ ไล่ตั้งแต่เสื้อยืด พวงกุญแจ จิ๊กซอว์ โคมไฟ ฯลฯ

ด้วยลักษณะงานลายจุดสีสันสดใส บวกกับลุคของคุซามะในแบบคุณป้าแต่งตัวเปรี้ยวๆ ใส่วิกสีแดงสีชมพู ผู้คนบางส่วนเลยคิดไปว่าเธอจะเป็นคุณป้าขี้เล่นอารมณ์ดีผู้มีชีวิตสดใส แต่ถ้าเคยศึกษาประวัติของเธอก็จะพบว่าชีวิตของคุซามะนั้นเต็มไปด้วยความหนักหน่วง ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นถูกบอกเล่าในสารคดี Kusama: Infinity ที่เข้าฉายในบ้านเราด้วย

คุซามะเติบโตในครอบครัวการเกษตร เธอมีใจรักในศิลปะตั้งแต่เด็ก หากแต่แม่ของเธอไม่เห็นด้วยชนิดหัวชนฝา ครอบครัวอยากให้เธอแต่งงานออกเรือนตามวิถีดั้งเดิม แต่คุซามะก็มุ่งมั่นทำงานศิลปะของเธอไป งานช่วงแรกมักจะเป็นภาพดอกไม้ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ทว่าเธอก็เริ่มมีอาการเห็นภาพหลอนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น งานของเธอเริ่มหมกมุ่นกับแพทเทิร์นซ้ำๆ โดยเฉพาะลายตารางหรือร่างแห


03.jpg

เมื่อตระหนักได้ว่าญี่ปุ่นไม่มีพื้นที่สำหรับเธอ ช่วงยุค 60 คุซามะทำการบ้าบิ่นลัดฟ้าไปมหานครนิวยอร์กโดยแทบไม่รู้จักใครที่นั่น เธอยังคงทำงานศิลปะเกี่ยวกับการ ‘เล่นซ้ำ’ หากแต่พัฒนาให้มีสเกลใหญ่ขึ้น เช่น ภาพวาดร่างแหขนาดใหญ่ที่ใครเห็นก็ต้องอึ้ง หรืองานประติมากรรมอ่อนนุ่มที่ใช้ผ้ามาทำตุ๊กตารูปองคชาติหลายร้อยอัน

ด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์ ทำให้คุซามะเริ่มเป็นที่สนใจและมีนิทรรศการของตัวเอง แต่สารคดีชี้ให้เห็นว่าแม้ยุค 60 จะเป็นยุคเบ่งบานทางศิลปะ แต่มันก็มีพื้นที่ให้เฉพาะ ‘ผู้ชายผิวขาว’ เท่านั้น (เช่น แอนดี้ วอร์ฮอล ที่เป็นซูเปอร์สตาร์ของยุคนั้น) คุซามะผู้เป็นทั้งผู้หญิงและชาวญี่ปุ่นจึงถูกกีดกันจากโลกศิลปะ เธอต้องดิ้นรนเอางานไปเสนอตามแกลเลอรี่ต่างๆ และพยายามสร้างคอนเน็คชั่นกับผู้คนให้มากที่สุด

คุซามะมีปรัชญาการทำงานที่เรียกว่า Self-Obliteration อันสามารถตีความในหลายแบบ ทั้ง ‘การทำลายล้างตนเอง’ จากการทำงานร่างแหหรือลายจุดแบบซ้ำๆ จนแทบจะเป็นทุกรกิริยา หรืออาจเป็น ‘การลบเลือนตนเอง’ เพราะคุซามะไม่เคยหยุดนิ่งแค่การเป็นจิตรกรหรืิอประติมากร เธอยังทำหนังสั้นทดลองและงาน happening art อีกหลายชิ้น งานที่โด่งดังคือ Narcisuss Garden (1966) ที่เธอไปยืนขายลูกบอลสีเงินที่หน้างาน Venice Biennale ทั้งที่ไม่ได้รับเชิญ


02.jpg

อย่างไรก็ดี ช่วงยุค 70 คุซามะเริ่มเข้าร่วมขบวนประท้วงสงครามเวียดนามจนถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ประกอบกับอาการทางจิตเริ่มทรุดหนักขึ้น เธอจึงตัดสินใจกลับมายังญี่ปุ่นและเช็คอินตัวเองเข้าคลินิกจิตเวช แม้จะยังไปทำงานที่สตูดิโอใกล้ๆ คลินิกอยู่เสมอ แต่ยุค 70 แทบจะกลายเป็นทศวรรษที่สูญหายของคุซามะ เธอไม่เป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่น ส่วนวงการศิลปะอเมริกาก็ลืมชื่อเธอไปเสียแล้ว

จนกระทั่งปลายยุค 80 ถึง 90 ที่ชื่อของคุซามะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ด้วยบรรดาภัณฑารักษ์ที่ช่วยกันจัดนิทรรศการของเธอที่นิวยอร์ก หรือการเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นไปแสดงงานที่ Venice Biennale เมื่อปี 1993 และตั้งแต่ยุค 90 นี่เองที่งานประเภทฟักทอง, ลายจุด หรือห้องกระจกอนันต์ (Infinity Mirror Room) โด่งดังขึ้นมา เรียกได้ว่าคุซามะถูกจดจำในระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในประเทศตัวเองก็ตอนวัยเกษียณแล้ว


04.jpg

เมื่อย้อนกลับมามองสารคดี Kusama: Infinity ก็ถือว่าตัวหนังทำหน้าที่ได้ดีในการบอกเล่าและเรียบเรียงเรื่องราว ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตของคุซามะมีความเข้มข้นในตัวเองอยู่แล้ว แต่อาจพูดได้ว่าหนังมีลักษณะแบบวิกิพิเดียไปสักหน่อย ใครที่ไม่รู้จักคุซามะก็น่าจะตื่นเต้นไปกับหนัง แต่ใครที่เป็นแฟนเธออยู่แล้วอาจไม่ได้อะไรใหม่นัก จุดด้อยอย่างหนึ่งของหนังคือเราได้รู้จักคุซามะผ่านบทสัมภาษณ์ของคนอื่นและฟุตเทจของเธอในอดีต แต่อาจมาจากข้อจำกัดว่าคุซามะในปัจจุบันไม่เอื้อกับการสัมภาษณ์ (ทั้งเรื่องอายุและอาการป่วยของเธอ)

ทั้งนี้ผู้เขียนเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานของคุซามะ แต่ในฐานะที่ติดตามผลงานของเธอพอควรก็ขอแสดงความเห็นต่อยอดจากหนังว่า ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคุซามะคือเธอทำงานมายาวนานหลายทศวรรษและมีงานหลากหลายประเภท ดังนั้นไม่ว่าจะไปดูนิทรรศการของเธอที่ประเทศใด เรามักจะพบผลงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเสมอ อย่างที่กล่าวกันว่าผลงานทั้งชีวิตของคุซามะคือจักรวาลที่ไม่สิ้นสุด


05.jpg

ส่วนการที่เธอโด่งดังตั้งแต่ยุค 90 มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเพราะผลงานของเธอมันป๊อปหรือน่าตื่นตาตื่นใจ (Spectacle) แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะอินสตาแกรม) มีผลมาก ผลงานของเธอมันช่างเย้ายวนทางสายตาและเหมาะกับการเซลฟี่อวดเพื่อนอย่างยิ่ง

ถึงกระนั้นมีเรื่องน่าสนใจว่าคุซามะเปิดมิวเซียมของตัวเอง Yayoi Kusama Museum ที่โตเกียวในปี 2017 หลายคนไปมาแล้วก็ผิดหวัง เพราะมิวเซียมมีขนาดเล็กมาก เน้นงานจิตรกรรม ไม่ค่อยมีงานอินสตอลเลชั่นอลังการสักเท่าไร แต่หากพิจารณาให้ดีที่นี่คือพื้นที่แสดง ‘อีกด้านหนึ่ง’ ของคุซามะที่เราไม่คุ้นชิน ไม่ว่าจะผลงานช่วงต้นอาชีพในยุค 40-50 หรือภาพวาดสุดดาร์คช่วงยุค 70 ที่เธอกลับมาญี่ปุ่นใหม่ๆ และจิตตกอย่างหนัก

ปีนี้คุซามะจะมีอายุครบ 90 ปี ทุกวันนี้เธอยังอยู่ในคลินิกจิตเวชและวาดรูปทุกวัน (!!) ผลงานชุดล่าสุดของเธอมีชื่อว่า My Eternal Soul เป็นภาพวาดนามธรรมสีสันสดใสขนาดใหญ่ เธอวาดภาพซีรีส์นี้มาตั้งแต่ปี 2009 และมีข่าวว่าเธอวาดไปหลายร้อยรูปแล้ว นี่ก็คงเป็นวิถี Self-Obliteration เช่นเดิม เป็นการทำลายตัวเองแบบเป็นระบบ เป็นกิจวัตร และเป็นนิรันดร์ เพราะเธอน่าจะวาดภาพไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เช่นนั้นแล้วไม่ว่าจะชมนิทรรศการของคุซามะหรือดูสารคดี Kusama: Infinity สิ่งที่เราเรียนรู้คือจักรวาลอันยิ่งใหญ่ของเธอนั้นไม่ได้สร้างขึ้นด้วยพรสวรรค์เท่านั้น แต่มันเกิดจากการที่เธอต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองมาทั้งชีวิต