ไม่พบผลการค้นหา
มติ ปชป. แนะรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเปิดประชุมรัฐสภาวิสามัญ เร่งรับหลักการร่างแก้ไข รธน.-เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ย้ำพรรคเทิดทูนชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์

เมื่อเวลา 16.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า ที่ประชุมมีการหารือสองประเด็น คือ 1. การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2.สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน โดยที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ความเห็นชอบส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกจังหวัดใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลาโดยพรรคมีมติส่งว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส่วนจังหวัดสตูล พรรคมีมติส่งนายเกตชาติ เกษา ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดมาโดยลำดับ พรรคมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบัน

พรรคประชาธิปัตย์จึงขอประกาศจุดยืนของพรรคให้ทราบดังต่อไปนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“พรรคประชาธิปัตย์เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาเมื่อปี 2489 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงยึดมั่นไม่มีเปลี่ยนแปลง”

2. พรรคเห็นว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม

3. พรรคเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองควรจะได้มีการใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศ ภายใต้การรับฟังและการแสวงหาความร่วมมือ ร่วมใจ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมที่เป็นรูปธรรมว่า ต่อสถานการณ์ในขณะนี้รัฐบาลควรจะได้เป็นเจ้าภาพในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้สามารถดำเนินสิ่งที่รัฐสภาจะได้เป็นที่หาทางออกให้กับประเทศได้อย่างชัดเจน

หัวหน้า ปชป. ระบุว่า ประการที่หนึ่ง เห็นว่าควรจะใช้เวทีรัฐสภาในการเร่งรัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเห็นควรให้มีการเร่งดำเนินการเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการในทันทีที่สามารถทำได้และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ ที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมเกิดความเข้าใจว่ามีการยื้อเวลาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่จะนำไปสู่การทำประชามติก่อนรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้และจะต้องทำประชามติก็ต่อเมื่อได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่สามไปแล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้นที่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การทำประชามติ

ประการที่สอง พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าควรจะได้มีการใช้มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญเป็นการแสวงหาทางออกให้กับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระบุว่าให้คณะรัฐมนตรีสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติเพื่อหาทางออกให้กับประเทศและหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่จำเป็นได้

ประการที่สาม พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าภายหลังจากการรับฟังความเห็นของของทุกฝ่ายควรจะได้มีการตั้งคณะทำงานหรือตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมารับฟังความเห็นและแสวงหาทางออกร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ต้องการให้ความร่วมมือในการแสวงหาทางออกของประเทศร่วมกัน เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นจริงได้ นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องของพรรคในคณะรัฐบาลจะได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับคณะรัฐมนตรีแล้ว ในส่วนของสภาก็จะได้มอบหมายให้วิปของพรรคไปหารือกับวิปของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีความเห็นร่วมกันในการที่จะดำเนินการตามแนวความคิดนี้ต่อไปเพื่อหาทางออกร่วมกันให้กับสถานการณ์ของบ้านเมืองและสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย