ไม่พบผลการค้นหา
ประสบการณ์จากอดีตเอกอัครราชทูต ผู้เชื่อว่าการเจรจาสำคัญกว่าความรุนแรง มอง ‘ราษฎร’ มีเพียงต้นทุนในกระเป๋าแค่พลังบริสุทธิ์ต่อกรกับรัฐบาล ทางออกสำคัญของผู้มีอำนาจคือ 'ลาออก' และ คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ

ไม่บ่อยนัก ที่บุคคลสำคัญระดับอดีตเอกอัครราชทูต ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อนและตรงไปตรงมา ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ ช่องทางที่ ‘รัศม์ ชาลีจันทร์’ ใช้บอกเล่าประสบการณ์ทำงาน และแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ชื่อนี้ได้รับความสนใจจากสังคมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อเขาเลือกสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ 

‘วอยซ์’ พูดคุยกับ อดีตทูตรัศม์ ถึงประสบการณ์ชีวิตตลอดเส้นทางที่สวมหัวโขน ‘ทูต’ งานที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนภาพที่ใครๆ คิด จนถึงมุมมองประชาธิปไตยที่เขาทั้ง ‘ดีใจและเสียใจ’ ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร 


เส้นทางนักการทูต

‘อดีตทูตรัศม์’ เล่าปูมหลังครอบครัวว่า เขาเกิดที่ฝรั่งเศส ในครอบครัวนักการทูตเพราะบิดา (มนตรี ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสวิตเซอร์แลนด์) ได้รับทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศส ขณะมารดาศึกษากฎหมายที่ประเทศเดียวกัน กระทั่งเมื่ออายุได้ 2 ขวบ ครอบครัวทางกลับมาไทย

“ผมเรียนจบรัฐศาสตร์จุฬาฯ เริ่มงานการทูตตั้งแต่เรียนจบ เข้าทำงานในกระทรวงต่างประเทศปี 2527 งานแรกผมรับราชการในกองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง (ปัจจุบันไม่มีกรมนี้แล้ว)”

ทูตรัศม์ เล่าว่า สมัยนั้นเป็นยุคทองด้านการทูตของไทย โดยเฉพาะที่กองเอเชียตะวันออกซึ่งมีบทบาทฮอตที่สุด จากสถานการณ์ที่เวียดนามรุกรานกัมพูชา นับเป็นภัยคุกคามครั้งแรกที่มีกองทัพคอมมิวนิสต์มาประชิดชายแดนไทย “ตอนนั้นมันหน้าสิ่วหน้าขวานมาก” ทูตรัศม์กล่าว

“ผมได้มาอยู่กองนี้ช่วงที่ไทยซึ่งเป็นยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กำลังเผชิญภัยคุกคาม เราใช้การทูตแก้ไขปัญหา ผมโชคดีที่ได้หัวหน้าดี ท่านสุรพงษ์ ชัยนาม เป็น ผอ.กองขณะนั้น ท่านสอนผมให้คิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งผมยึดเป็นหลักในการทำงานมาตลอดชีวิตราชการ”


ผู้แทน ‘พระองค์’ และ ‘รัฐบาล’

อดีตทูตรัศม์ อธิบายว่า ตำแหน่งเอกอัครราชทูตไม่เหมือนกับตำแหน่งอื่นๆ เพราะเป็นทั้งผู้แทนพระองค์ และผู้แทนรัฐบาล “ในแง่หนึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเพราะเท่าที่ผมเข้าใจไม่มีอาชีพอื่นที่เป็นทั้งผู้แทนพระองค์ กับผู้แทนรัฐบาล เวลาไปประจำการก็ต้องมีพระราชสาสน์ไปยื่นต่อประมุขต่างชาติ แม้จะมีเกียรติ แต่ก็เป็นหัวโขนที่หนักเอาการ

“แน่นอนว่าเวลาสวมหัวโขน (ทูต) มันก็ต้องแตกต่าง จะให้มันเหมือน 100% คงเป็นไปไม่ได้”


หน้าที่ : ไม่ใช่แค่จิบไวน์-ไปงานเลี้ยงหรู

เจ้าของเพจทูตนอกแถวอธิบายถึงคำว่า ‘ทูต’ ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “คำว่านักการทูต มันรวมทั้งหมดตั้งแต่เอกอัครราชทูต จนถึง เลขานุการตรี จนถึงตำแหน่งล่างสุด ภาพของนักการทูตจะออกมาแบบ ไปงานเลี้ยง จิบไวน์ ใส่สูทโก้เก๋ ตรงข้ามกับภาพในนิยายอะไรต่างๆ ที่สื่อให้เป็นแบบนั้น โดยทั่วไปนักการทูตมีหลายบทบาท พวกเรา งานแบกหามอะไรก็ทำหมด แบกกระเป๋าไรก็ทำมาแล้ว เวลาไปประจำการเมืองนอกแล้วคณะนายกฯ มาเยือน ก็ต้องช่วยขน งานคลุกฝุ่นก็มี สมัยผมอยู่โมซัมบิก ก็ต้องขับรถเข้าป่าเพื่อช่วยสร้างโรงเรียน อันนี้มันก็ตรงข้ามกับภาพถือแก้วแชมเปญในงานเลี้ยง”

“การไปงานเลี้ยงที่มันดูโก้เก๋เนี่ยมัน ก็เป็นงานนะ มันไม่ใช่เรื่องสนุก”

อดีตทูตไทยอธิบายว่า แม้ภาพการใส่สูทไปงานเลี้ยงหรูจะเป็นภาพลักษณ์ติดตาคนภายนอก แต่การไปงานเลี้ยงถือเป็นการทำงานและส่วนหนึ่งของหน้าที่ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ยิ่งเป็นเอกอัคราชทูตยิ่งต้องไป เพราะถือเป็นผู้แทนรัฐบาลไปปรากฎตัวให้รัฐบาลประเทศนั้นเห็น รวมถึงไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทูตประเทศอื่นๆ เพื่อนำมุมมองเหล่านั้นมารายงานต่อรัฐบาลไทย 

รัศม์ ชาลีจันทร์


'Shining Era' การทูตไทยบนเวทีโลก

อดีตทูตไทยประจำคาซัคสถาน เล่าถึงความภูมิใจสมัยประจำการในต่างแดนว่า ประเทศแรกที่ได้ไปประจำคือแคนาดา ช่วงนั้นอองซานซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (พ.ศ. 2534) แต่ยังคงถูกกักขังภายในบ้าน แคนาดาขณะนั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำคณะผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลหลายคน อาทิ สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู, โอสการ์ อาเรียส ซันเชซ ประธานาธิบดีคอสตาริกา, ไมรีด แมกไกวร์ รวมถึงองค์ดาไลลามะ เดินทางมารวมตัวที่ประเทศไทยเพื่อแสดงพลังให้กำลังใจ ซูจี (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536) 

ทูตรัศม์ในฐานะเลขานุการตรี มีหน้าที่ต้องประเมินอย่างรอบคอบถึงผลกระทบจากการจัดงานใหญ่ระดับชาติ ทั้งในเชิงความพยายามกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ความรู้สึกของจีนหากไทยเชิญองค์ดาไลลามะ เสด็จฯ มาร่วมงาน ทูตรัศม์ มองว่ายุคนั้น (รัฐบาลชวน 1) เป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน หากจัดงานนี้จะถือเป็นการยกระดับโปรไฟล์ประเทศในแง่ของการสนับสนุนประชาธิปไตย

“ผมมองว่าคุ้ม แม้ตอนนั้นเป็นแค่เลขานุการตรี ซึ่งคือเด็กสุด แต่ก็มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ตัดสินใจ ตอนนั้นทูตแคนาดาในไทยก็พบอธิบดีกรมอเมริกาซึ่งดูแลภูมิภาคนี้ ส่วนรัฐบาลแคนาดาก็มาพบทูตไทยในแคนาดา โทรเลขมันสวนกันพอดี ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้จัดกิจกรรมนี้ในไทย แต่ทางสถานทูตไทยในแคนาดายืนยันให้จัดงาน เพราะจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ประเทศ” ทูตรัศม์เล่าด้วยความตื่นเต้นและภูมิใจ  

ท้ายที่สุด รัฐบาลไทยยอมให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในไทย ทว่าไม่อนุญาตให้องค์ดาไลลามะเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรม “ที่ภูมิใจตรงนี้เพราะมันไม่ใช่งานที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่เป็นงานท้าทายที่ต้องอาศัยไหวพริบการตัดสินใจ” 

รัศม์ ชาลีจันทร์


อย่าแก้ปัญหาด้วยรัฐประหาร

เมื่อถามถึงรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดปี 2557 ทูตรัศม์มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า “การรัฐประหารไม่ได้มีผลดีต่อประเทศ การทำรัฐประหารมันเป็นภาพลบทันที ไม่มีหรอกที่ทำแล้วมันเป็นบวก ช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองไทยค่อนข้างสับสน ต่างชาติไม่มีใครชอบให้มีรัฐประหารหรอก ที่เกิดล่าสุดครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะปัญหามันคาราคาซัง ก็คิดว่าครั้งนี้แล้วจะได้จบๆ กันไป แต่พอคุณทำรัฐประหารแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือยกระดับความเจริญได้จริง

“ผมพูดตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารแล้ว คุณแก้ปัญหาด้วยรัฐประหารไม่ได้ เรารัฐประหารมากี่หนแล้ว มันแก้อะไรได้ไหม เราเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากสุดในโลก ถ้ามันดีจริงเราเป็นมหาอำนาจไปแล้ว ”

ทูตรัศม์ เผยความรู้สึกในใจเมื่อต้องชี้แจงต่อนานาชาติหลังเกิดรัฐประหารว่า “ไม่ต่างกับน้ำท่วมปาก” แต่ก็เป็นหน้าที่ เพราะการเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2549 ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปลี่ยนขั้วเร็วมาก สิ่งที่ทำไว้เดิมถูกรื้อเปลี่ยนใหม่หมด เป็นประชาธิปไตยไม่นาน รัฐประหารก็วนเวียนกลับมาอีกรอบ  

“ทูตเนี่ยบางทีประจำการ 4 ปี ใน 4ปี เนี่ยนะ คุณพูดตรงข้ามขาวกับดำหมดเลย ความน่าเชื่อถือมันอยู่ตรงไหน ตรงนี้ทำให้การทูตไทยกระทบหมด ทำเราหมดความน่าเชื่อถือในสายตาต่างชาติไปด้วย ต้นทุนมันก็ต่ำลง พอเกิดรัฐประหาร (พ.ศ.2557) ในฐานะรองอธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงต่างประเทศ (ขณะนั้น) ก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงต่อสถานทูต สถานกงสุลต่างชาติในไทย พอมาทำก็ขัดความรู้สึกผม ก็เลยทำบันทึกเสนอผู้ใหญ่ไปว่า ผมขออนุญาตไม่ทำงานที่เกี่ยวกับด้านการเมือง แต่ไปทำงานด้านอื่นๆ เรื่องการชี้แจง ผมขอไม่ทำ ผมทำเป็นบันทึกลายลักษณ์อักษร แต่ก็ไม่มีการตอบกลับลงมา”

อดีตทูตไทยประจำคาซัคสถาน เปรียบเทียบการยอมรับของนานาชาติ ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้ง กับรัฐบาลจากรัฐประหาร ว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งทำให้มีต้นทุนในกระเป๋ามากกว่า เมื่อต้องไปเจรจาพูดคุยกับประเทศต่างๆ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่เลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของชาติที่ต้องรักษา 

“รัฐประหารในสายตาโลกมันคือความล้าหลัง ไปพูดคุยกับใครก็ไม่มีต้นทุน สิ่งสำคัญคือจะพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติอย่างไร เมื่อประเทศชาติเป็นแบบนี้ เราก็รู้ว่าเราจะสามารถสร้าง หรือพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติได้มากกว่า หากเราเป็นประชาธิปไตย” 
รัศม์ ชาลีจันทร์

ดีใจและเศร้าใจ ต่อการเคลื่อนไหวของ ‘ราษฎร’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร ทำให้ชื่อของ รัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นที่จับตาของสังคม ในฐานะอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้ว ตระกูลของเขาก็เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร 2475 ด้วย (พ.อ.หลวงชาญสงคราม - กฤษณ์ ชาลีจันทร์) โดยเหตุที่เขาเลือกสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ ส่วนนึงเพราะเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่

“ถ้าเราไม่เชื่อไม่ศรัทธาในพลังของคนรุ่นใหม่แล้ว จะให้ศรัทธาของใคร นี่คืออนาคตของประเทศนะ ถ้าเราไม่เชื่ออนาคตของประเทศแล้วเราจะเชื่อใคร...ถ้าคุณไม่สามารถเชื่อในอนาคตของประเทศได้ นั่นคือเรื่องน่าเศร้ามากเลยนะ แสดงว่าประเทศคุณไม่มีอนาคต ผมยอมรับว่าเยาวชนที่ออกมาเนี่ยเก่งมาก การประท้วงของพวกเขาเนี่ยน่าทึ่งมาก ผมไม่เคยเห็นการประท้วงที่ไหนในโลกที่บริหารจัดการดีเท่านี้”

ทูตรัศม์กล่าวต่อด้วยน้ำสั่นเครือว่า เขาเองมีความรู้สึกผสมปนเปทั้งความสุขใจ พร้อมๆ กับเศร้าหมองที่ต้องมองเห็นเยาวชนของชาติต้องมาลงถนนเพื่อต่อสู้ถามหาอนาคตของพวกตัวเอง 

“เด็กตัวนิดเดียว ทำไมมันต้องไปประท้วง เสี่ยงนะ โดนฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา มันเจ็บนะ พิการได้นะ คุณจะไปฉีดน้ำเด็กทำไม แล้วภาพในโลกที่มันออกไป มันดีเหรอ ผมว่าแย่ มันทั้งน่าภูมิใจและน่าเศร้าใจไปพร้อมๆ กัน” 

ข้าราชการทูตผู้เกษียรอายุแล้ว ถ่ายทอดมุมมองและสงสัยว่าเหตุใดประเทศไทยถึงนำพาตัวเองมาอยุ่ในจุดที่เป็นอยู่ 

ในฐานะนักการทูต หากต้องเป็นตัวแทนกลุ่มราษฎรไปเจรจากับรัฐ ‘รัศม์’ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากแม้จะมีประสบการณ์ติดตัวมาไม่น้อยในฐานะผู้แทนรัฐบาลที่ผ่านการเจรจาสำคัญมาแล้วหลายครั้ง เพราะตามหลักการ การเจรจาจำเป็นต้องดูว่าตนเองมีต้นทุนอะไรในกระเป๋าเพื่อไปแลกเปลี่ยนกับอีกฝั่ง สำหรับสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ทูตชี้ว่า กระเป๋าของ ‘ราษฏร’ มีแค่เพียงความเป็นพลเมืองของราชาอาณาจักรไทย ซึ่งยังต้องชั่งใจว่าความเป็นราษฎรนี้เพียงพอจะให้ผู้มีอำนาจมาต่อรองด้วยหรือไม่

“ผมว่าเขาก็มีในระดับนึงนะ แต่มันอาจยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมันมาจากหลายอย่าง ไม่ได้มาจากราษฎรเพียงอย่างเดียว” (คำถาม : แล้วถ้าสลับกัน หากท่านเป็นฝ่ายรัฐ)

“ถ้าผมเป็นฝ่ายรัฐหรอ .. ผมก็ลาออกเลือกตั้งพรุ่งนี้เลย เพื่อประเทศชาติ ทำไม่ได้หรอ”

รัศม์ ชาลีจันทร์

แปลกใจรัฐบาลหวั่นไหวกับความเห็น 

ท่าทีอันเผ็ดร้อนของอดีตข้าราชการระดับสูงท่านนี้ ได้กลายเป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง หลังจากที่มีการเผยแพร่เอกสารลับผลการประชุมของ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ตอนหนึ่งระบุให้ติดตาม อดีตเอกอัครราชทูต รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ โดยระบุว่า เพจดังกล่าว แพร่ข้อมูลเชิงลบต่อรัฐบาล

ทูตรัศม์ บอกว่า สิ่งที่เคลื่อนไหวผ่านเพจ เป็นข้อมูลข้อคิดเห็นทั่วไปที่แสดงโดยสุจริต หากฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าข้อมูลไหนไม่ถูกต้อง หรืออยากชี้แจง ก็มีสิทธิชี้แจง ที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่าจะมีคนสนใจเพจมากขนาดนี้ และไม่คาดฝันว่ารัฐบาลจะต้องมาหวั่นไหว

“มันเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ที่คนเราต้องออกมาแสดงความคิดเห็น จริงๆ แล้ว มันไม่ควรเป็นประเด็นอะไรเลย มันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นว่าผมทำอะไรผิด”

เมื่อถามว่า กลัวรัฐจะมาคุกคามใดๆ หรือไม่ ทูตรัศม์ บอกว่าการทำเช่นนั้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐบาลและเชื่อว่ารัฐบาลจะมีวิจารณญาณดีพอในการตัดสินใจ