ไม่พบผลการค้นหา
กรมทางหลวง สั่งปรับปรุงด่วนศาลาริมทางจุดจอดรถโดยสารทางหลวงศรีสะเกษ-อ.วังหิน หลังหลังโซเชียลมีเดียตำหนิใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง ด้านอธิบดีกรมทางหลวง แจงให้ทำกันสาดเพิ่มเติม เพื่อกันแดดกันฝน พร้อมปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ร่มรื่นขึ้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า หลังมีการเผยแพร่ข่าวจากสื่อมวลชน ที่อ้างถึงข้อมูลที่มีการแชร์จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นภาพงานก่อสร้างศาลาริมทาง จุดจอดรถโดยสาร (Bus Stop) ทางหลวงหมายเลข 220 ตอน ศรีษะเกษ - อ.วังหิน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ทราบว่า ศาลาริมทางดังกล่าว อยู่ในโครงการก่อสร้างขยายทางเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 220 จริง ซึ่งงานก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่ 12 ก.พ.2562 งานแล้วเสร็จ 12 มิ.ย.2563 (เสร็จก่อนสัญญา) และได้ส่งมอบพื้นที่ให้แขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 ดูแลรักษาต่อไป

ส่วนสาเหตุที่มีการก่อสร้างศาลาริมทางในลักษณะดังกล่าว มีการชี้แจงว่า ถนนสายดังกล่าว แบ่งรูปแบบการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่มีเขตทาง 30 เมตร และ 40 เมตร โดยช่วงเขตทาง 30 เมตร เมื่อก่อสร้างเป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3.00 เมตร แล้วจะเหลือพื้นที่จากไหล่ทางจนถึงเขตทางหลวงเพียง 4.00 เมตร ซึ่งไม่สามารถก่อสร้างช่องจอดรถ และศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 เมตร ได้ จึงจำเป็นต้องก่อสร้างที่พักผู้โดยสารเป็นรูปแบบตามที่ปรากฏอยู่ โดยมีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร เท่านั้น เพื่อให้ไม่เลยออกนอกเขตทาง

104218164_2984380211637499_5401052844309299412_n.jpg

ส่วนช่วงเขตทาง 40 เมตร เมื่อขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 4.20 เมตร พร้อมช่องจอดรถโดยสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการจอดรับผู้โดยสารแล้ว จะเหลือพื้นที่ก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร กว้างประมาณ 4.40 ม. ซึ่งก็ไม่สามารถก่อสร้างศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 ม. ได้เช่นกัน

"อย่างไรก็ตาม ได้สั่งแก้ไขปรับปรุงแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยให้มีการทำกันสาดเพิ่มเติมทั้งด้านหน้า ด้านหลัง เพื่อกันแดดกันฝน รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดูร่มรื่นขึ้น" นายสราวุธกล่าว

ส่วนประเด็นที่มีการแชร์ภาพศาลา จุดรอรถโดยสารของหมู่บ้าน ที่มีการก่อสร้างใหม่นั้น จุดดังกล่าวเดิมมีศาลาที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี แต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลาหลังเดิมของชาวบ้านโดนลมพายุพัดพังลงมา ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลาขึ้นมาใหม่แทนหลังเดิมที่พังลง