ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าไทย ระบุดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากปัจจัยการเมือง เชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์' นั่งนายกฯ ต่อ จับตารัฐบาลใหม่ต้องมีเสถียรภาพ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ความเชื่อมั่นจะเป็นขาขึ้น ดันเศรษฐกิจโตร้อยละ 3.8-4.0

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2562 พบว่าความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 79.2 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากปัจจัยการเมือง และเมื่อมีการสำรวจดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองก็ได้ผลทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 75.6 ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ระดับ 80.5

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองในอนาคตเป็นสำคัญ อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่าง ต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาผลการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่มีต่อความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภค หากหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วมีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นและ ไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.5

 "จากการประเมินสถานการณ์ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่น่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีทั้งเสียงของพรรคการเมือง และทั้งเสียงจาก ส.ว.ที่จะสนับสนุน  แต่การทำงานหลังจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหนคงต้องจับตาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มีมาก เชื่อว่านโยบายต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ต่อเนื่อง ทั้งการลงทุน การดูแลราคาสินค้าเกษตร  และการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น"

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีโอกาสที่จะขยายตัวในระดับร้อยละ 3.8-4 ได้หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในเดือน พ.ค. เพื่อที่จะนำมาสู่การสรรหานายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่ตามกรอบเวลา เมื่อรวมกัน นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลดหย่อนภาษีและการโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม ๆ กันกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ให้ขยายตัวเพิ่มอีกร้อยละ 0.3 ที่สำคัญหากการเมืองอยู่ในกรอบและไม่มีการประท้วงก็จะดึงให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางขาขึ้นทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :