ไม่พบผลการค้นหา
'ชูศักดิ์' ชี้ กกต. ยึดหลักตาม รธน. คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่กลับยึดตามสำนักงาน กกต. - กรธ.เป็นหลัก ติงไม่ใช้อำนาจตัวเอง ถามชี้นำศาล ค้านส่งเรื่อง ศาล รธน.

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกต้ัง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าวว่า กกต. มีมติเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ให้เสนอเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย นั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีข้อที่ต้องพิจารณาสองประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก เหตุผลที่ กกต.อ้างเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เมื่อพิจารณาข้ออ้างของ กกต.ที่ว่ามีพรรคหลายพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีได้ต่ำกว่า 1 คนแต่เมื่อคำนวณตามมาตรา 128(5) แล้วทำให้พรรคเหล่านั้นได้ ส.ส.1 คน จึงอาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91(2)และ(4)ที่ห้ามจัดสรรที่มีผลให้พรรคการเมืองได้ส.ส.มากกว่าจำนวนที่พึงมี นั้น ประเด็นนี้เห็นว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อย่างเป็นขั้นตอนจะไม่มีข้อความส่วนใดขัดหรือแย้งกันเลย 

แต่ที่ กกต.เห็นว่ามีปัญหานั้นเป็นเพราะ กกต.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเป็นหลัก แต่ไปเอาตามวิธีการที่สำนักงาน กกต.เสนอ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามความเห็นของ กรธ.เมื่อ กกต.ตั้งโจทก์แบบนี้ การคำนวณจึงผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปโทษว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรงนี้อธิบายได้ง่ายๆว่า เมื่อกฎหมายให้ยึดจำนวนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนเป็นหลักแล้วนำไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ตามมาตรา 128(2)แล้วเอาจำนวนสส.พึงมีนั้นไปลบ สส.เขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา 128(3) 

เมื่อถึงตรงนี้ ต้องเข้าใจว่า หากพรรคใดมีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อสส.หนึ่งคน(ต่ำกว่า 71,065 คะแนน) พรรคนั้นก็ไม่มีจำนวน สส.พึงมีมาตั้งแต่ต้น จึงถูกตัดตอนตั้งแต่ม.128(2)แล้ว หลังจากนั้นการคำนวณต่อไปจะคิดเฉพาะพรรคที่มีจำนวน สส.พึงมีเท่านั้น โดยม.128(4)ให้จัดสรรสส.บัญชีรายชื่อตามผลลัพธ์ตามม.128(3) หมายถึงจัดสรรให้พรรคที่มีสิทธิจะได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มีส.ส.พึงมีและไม่ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามม.128(4) ทั้งนี้ในการจัดสรรนั้นถ้าพรรคใดมีส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าส.ส.ที่พึงมีก็จะไม่ได้รับจัดสรรสส.บัญชีรายชื่ออีกคือส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ แล้วเอาส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคที่มีส.ส.เขตต่ำกว่า ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี 

เมื่อพรรคเหล่านั้นไม่มีทั้งส.ส.เขตและส.ส.พึงมี ก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าจะทำให้พรรคนั้นมีส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีหรือไม่ เพราะเขาไม่มีส.ส.พึงมีมาแต่แรก ส่วนการจัดสรรตามม.128(7)กรณีจัดสรรแล้วมีสส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 คนกฎหมายให้คำนวณปรับส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ตามวิธีการที่กำหนดและในกรณีนี้กฎหมายก็เขียนชัดว่าเมื่อคำนวณตาม(5)แล้วมีส.ส.เกิน ให้ทำอย่างไร

เพื่อไทย บัญชีรายชื่อ __48709636.jpg

ส่วนพรรคที่คะแนนต่ำกว่า71,065 คะแนนไม่อยู่ในข่ายได้รับจัดสรรตาม(5)และไม่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับจึงไม่อาจนำมาคำนวณตาม(7)ได้เช่นกัน ดังนั้นหากตีความกฎหมายตรงไปตรงมาจึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตรงไหน และเมื่อคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคทีมีส.ส.พึงมีและจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับตาม128(7) โดยผลคำนวณก็ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ กกต.อ้างเลย  

ประเด็นที่สอง เรื่องที่ กกต.จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าปัญหาที่ กกต.อ้างดูเหมือนกับการจะขอคำอธิบายข้อกฎหมายกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ กกต.มีอำนาจในส่วนนี้อยู่แล้วแต่ กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจของตนเอง หากใช้อำนาจตามที่มีอยู่และพิจารณาไปตามกฎหมายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าอาจยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าศาลเคยวางหลักว่าไม่มีหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูจากคำแถลงดูเหมือน กกต.จะตั้งประเด็นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญด้วย

แต่ก็ไม่เห็นประเด็นว่ามาตราไหนขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูคำร้องอย่างละเอียดกันอีกที นอกจากนี้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรที่ กกต.จะปล่อยให้ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ กกต.เป็นผู้ใช้กฎหมายเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจึงมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยตีความกฎหมาย และการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ควรชี้นำโดยอ้างสูตรคำนวณที่มีการเสนอต่อ กกต.แต่ควรอ้างวิธีการคำนวณตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นสำคัญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง