ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' วิเคราะห์มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เปรียบเป็นคนป่วยเป็นมะเร็งแต่เอายาแก้หวัดมาฉีดให้ สุดท้ายประโยชน์ตกอยู่เฉพาะคนที่รายได้สูง สอดคล้อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกระตุ้นใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว ภาคค้าปลีกได้ผลประโยชน์มากสุด

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นถึงมาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' ลดหย่อนภาษีสำหรับการใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. มีมติเห็นชอบเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายประเทศ 

เศรษฐา ทวีต 5 ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @Thavisin ว่า

“#ช็อปดีมีคืน เห็นด้วยกับคอลัมน์ไทยรัฐเมื่อเช้าเรื่องมาตรการฝาแฝดของชิมช็อปใช้ที่คลอดออกมาไม่ต่างจากที่ผมให้ความเห็นมาตลอดว่า คนป่วยเป็นมะเร็งจะเอายาแก้หวัดมาฉีดให้ ก็ยาตัวเดิมแค่เปลี่ยนเข็ม”

“#ช็อปดีมีคืน เหมือนที่พูดเมื่อวานเรื่องข้อมูล big data ต่างๆ ว่ามีให้วิเคราะห์ได้หลายแง่มุมเพราะสมัยนี้เค้าวิเคราะห์ประเมินกันได้หลายมิติแบบยาวๆ กันแล้ว อย่าไปเอาแค่ผลระยะสั้นมาเป็นเหตุผล”

“#ช็อปดีมีคืน ประชาชนส่วนมากจะมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อมาเอาภาษีคืนสักแค่ไหนในช่วงนี้ครับ สุดท้ายผมว่าประโยชน์ตกอยู่ที่ผู้มีรายได้สูง ยิ่งกลายเป็นซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก”

“#ช็อปดีมีคืน ไทยรัฐคอลัมน์หน้า 2 ยังบอกอีกว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากรายการนี้ต้องมีรายได้ 300,000 up มีเท่าไหร่ครับประชากรที่มีรายได้เท่านั้น?”

“#ช็อปดีมีคืน แต่ก็เอาหละครับ มีโครงการออกมายังดีกว่าไม่มี ขอให้ทยอยออกมาเร็วหน่อยให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เอาใจช่วยครับ”

Fullscreen capture 10-Oct-20 21159 PM.jpg

ค้าปลีกรายใหญ่ได้ประโยชน์มากสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการดังกล่าว น่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4/2563 ได้ หากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 1.85-4.0 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 55,500-120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง และมาตรการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้น และหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่สูง อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการ "ช้อปดีมีคืน" จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าอาจจะยังไม่พิจารณาการกลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก และเมื่อการฟื้นตัวของการบริโภค หลังจากที่มาตรการหมดลงไปแล้ว คงกลับมาขึ้นอยู่กับ แรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ


คาดเงินเข้าระบบ 5.5 หมื่นล้าน

ศบศ. ระบุว่า มาตรการช้อปดีมีคืน จะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท 

กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน

คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเนื่องจากการดำเนินมาตรการทั้งหมด 55,500 ล้านบาท ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้