ไม่พบผลการค้นหา
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เคาะ 'โคทม' นั่งปธ. เตรียมชงประธานรัฐสภา ยกร่าง รธน. ยึดฉบับปี 40 ด้าน 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' หลั่งน้ำตาอึดอัด รธน.ถูกฉีกตกอยู่ภายใต้กลุ่มผู้มีอำนาจ วอนรัฐสภาเจ้าภาพหลัก ดันตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่

ภาคีเพื่ิอรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์, รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ,นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พร้อมด้วย น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ประธานคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา คณะทำงาน 30 องค์กรประชาธิปไตย และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนอีกหลายองค์กรร่วมหารือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแถลงข่าว

โดยมีฝ่ายการเมืองร่วมหารือครั้งนี้ ที่สำคัญ ประกอบด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, นายนิกร จำนง ส.ส.และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา, พลโทพงศกร รอดชมภู ส.ส.และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ

รองศาสตราจารย์ โคทม แถลงข่าวในฐานะประธานอำนวยการภาคีฯ ซึ่งได้รับเลือกในการประชุมวันนี้ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นและยึดราชการเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจจน เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวางจึงจำเป็นต้องผลักดันที่เกิดรัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดมาเป็นเครื่องมือ พร้อมเสนอหลักการ 4 ข้อ ของภาคี คือ

1.)​ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการและนำเสนอข่าวสารอย่างเต็มที่ 

2.)​ ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับความคุ้มครองและยุติรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน 

3.)​ ต้องทำให้เกิดมติร่วมกันในสังคม เพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 

4.)​ ต้องทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้น พร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปประธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ทุกปรึกษาหารือกัน 

รองศาสตราจารย์ โคทม ประกาศด้วยว่า เพื่อดำเนินการตามหลักการทั้ง 4 ข้อ ภาคีฯจะจัดเวทีถกเเถลงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ร่วมกันว่า ทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดรับราชการและการเป็นศูนย์กลาง จึงไม่อาจแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ และชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางจะเป็นทางออกของประเทศชาติและประชาชนที่ดีกว่า นอกจากนี้จะจัดงานเดินวิ่งเพื่อรัฐธรรมนูญของประชาชนในวันที่ 10 พ.ย.และ จากนี้ จะมีผู้แทนของภาคีฯเข้าหารือแนวทาง การสร้างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เคยทำมาในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาด้วย

อนุสรณ์ ธรรมใจ ร่ำไห้ปล่อยให้ รธน.ถูกผูกขาดไม่ได้

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ ในฐานะประธานภาคีฯและเลขาธิการคณะอำนวยการภาคีฯ ระบุหลังการแถลงข่าวด้วยความอัดอั้น ว่าการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเป็นไปเพื่อประชาชนทุกคนรวมถึงลูกหลานในอนาคตด้วย

เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่และให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงจุกอก ว่า "เราจะยอมปล่อยให้ประเทศชาติตกอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีการผูกขาดอำนาจเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ " และ " ประเทศไทยควรจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มีอุปสรรคจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหารและวิกฤติการเมืองหลายครั้ง" ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มาจากการมีส่วนร่วมมาจากประชาชนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะทำให้ประเทศไทยที่ต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม เจริญก้าวหน้าต่อไปได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่าทางภาคีฯ จะมีเวทีถกแถลงรัฐธรรมนูญ ของประชาชนในทุกจังหวัด โดยหวังให้รัฐสภาให้การสนับสนุนหรือเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อสร้างฉันทามติร่วมกัน โดยกระบวนการ จะให้มีเสนอตัวและเลือกตั้งกันเองของบุคคลในแต่ละจังหวัด ก่อนให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจังหวัดละ 1 คนรวมเป็น 77 คน, ให้สภาฯเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 15-20 คน, มีสัดส่วน ส.ส. 10 -15 คนและสัดส่วน ส.ว. 5 คนในการเป็นคณะกรรมการที่จะจัดเวทีถกแถลงฯ ซึ่งกระบวนการนี้จะนำสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ในที่สุด พร้อมกับการรณรงค์คู่ขนาน ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่จะยกร่างขึ้นใหม่จะมีการทำประชามติ ซึ่งจะต้องเป็นการประชามติอย่างแท้จริง ต่างจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านมา และเชื่อว่า กระบวนการนี้จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่บางฝ่ายกล่าวอ้างหรือกังวล แต่จะเกิดความปรองดองและสมานฉันท์ เอื้อต่อการลงทุน เพราะเป็นเวทีที่เปิดให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุและผล ไม่ได้มีความวุ่นวาย นอกเหนือจากการได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง