ไม่พบผลการค้นหา
เปิดสถิติเด็กหลบหนีออกจากบ้าน พร้อมเผยเหตุผลและแนวทางแก้ไขที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยหรือนิ่งเฉย

ปัญหาครอบครัวมีความซับซ้อนสูงมากและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ 

เมื่อเร็วๆ นี้ กรณีหลบหนีออกจากบ้านของเด็กหญิงวัย 14 ปี กลายเป็นที่พูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ 

คำถามก็คือ บทเรียนอะไรที่สังคมควรเรียนรู้ และที่สำคัญ 'ครอบครัว' ยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอีกต่อไปหรือไม่ ? 


77 % สมัครใจหนีออกจากบ้าน 

มูลนิธิกระจกเงา เผยสถิติรับแจ้งเด็กหาย ปี 2561 พบว่ามีทั้งสิ้น 310 ราย สาเหตุหลักกว่า 77 เปอร์เซ็นต์ คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี โดยเด็กหญิงหายออกจากบ้านมากกว่าเด็กชายเกือบ 3 เท่า

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า เด็กที่หายออกจากบ้านมีปมปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ด่าทอ และการห้ามเด็กทำสิ่งต่างๆ โดยไม่อธิบายเหตุผล

นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่หายออกจากบ้าน มีแนวโน้มถูกชักชวนไปอยู่กับแฟนหรือคนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ และมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือป้องกันไม่ถูกวิธี

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เด็กหาย เอกลักษณ์ เปิดเผยว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งเด็กหายลดลงทุกปี แต่ยังถือว่ามีความรุนแรงของปัญหา เนื่องจากแต่ละปี มีเด็กหายออกจากบ้านเกินกว่า 300 คนทุกปี

ทั้งนี้ ตัวเลขเด็กหายของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้แจ้งมาที่มูลนิธิกระจกเงา อาจมีตัวเลขมากกว่านี้อีกหลายเท่า โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่าคนในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย

แม้ว่าเด็กจะสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้าน มีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคามหรือหาประโยชน์ทางเพศ หรือมีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง

AFP-เด็กมุสลิมนราธิวาสรวมพลังต้านยาเสพติด-วัยรุ่น-มือ-รวมพลัง.jpg

ผู้ใหญ่ต้องหัดรับฟังเด็ก

ในสายตาของ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี อดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว เด็กไม่จำเป็นต้องได้รับความรุนแรงภายในครอบครัว เพียงแค่รู้สึกขาดความอบอุ่น หวังพึ่งอะไรบางอย่างไม่ได้หรือไร้กิจกรรมร่วมกัน แค่นี้ก็อาจเกิดปัญหา และเป็นปัจจัยส่งผลให้เด็กเลือกมองหาความสบายอกสบายใจหรือการยอมรับจากภายนอก 

“ข้างนอกสนุกสนานกว่า มีคนรับฟังมากกว่า ประกอบกับเด็กไม่มีทักษะชีวิตหรือรู้เท่าทันเพียงพอก็อาจหนีออกจากบ้านได้เหมือนกัน”

สิ่งที่ครอบครัวควรปฏิบัติเพื่อให้เกิดความอบอุ่นและป้องกันปัญหาเด็กหลบหนีออกจากบ้าน คือการมอบทักษะชีวิตและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้คำถามปลายเปิดที่มีเจตนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น มิใช่ลักษณะเจตนายียวนหรือต้องการลองภูมิ

“คำถามปลายเปิด ประโยคง่ายๆ ที่พ่อแม่ควรมีติดบ้าน เช่น ลูกเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง มีอะไรให้พ่อแม่ช่วยเหลือได้บ้างไหม ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการงาน”

สุริยเดว ทรีปาตี  ภาพจาก Suriyadeo Tripathi
  • นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ภาพจากเฟซบุ๊ก Suriyadeo Tripathi

ทักษะด้านอารมณ์และความสามารถด้านสังคม (Soft Skills) สามารถช่วยให้ครอบครัวสามารถปรับมุมมอง วิธีคิด และเพิ่มภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือแก้ไขปัญหายากๆ ที่รุมเร้าอยู่รอบๆ ตัวได้ 

“ทุกวันนี้ครอบครัวเราอ่อนแอเรื่องทักษะด้านอารมณ์ ซึ่งหมายรวมไปถึงการใช้ปิยวาจา ไม่เฉพาะแค่พ่อแม่ลูก แต่แม้กระทั่งระหว่างสามีภรรยาก็อ่อนแอลงมาก ถ้าเราเติม Soft Skill ลงไปได้ เชื่อว่าสังคมหน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัวจะกลายเป็นที่ชาร์จแบตชีวิตที่ดีที่สุด”

เขาบอกต่อว่า ผู้ใหญ่ควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้พูดเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อยกระดับความอบอุ่นภายในครอบครัว และเชื่อว่าหากมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันแล้ว ปัญหาของแต่ละฝ่ายก็จะถูกนำมาแลกเปลี่ยนและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ที่ผ่านมาเราเล่นบทพูดเยอะ ถ้าเปลี่ยนเป็นผู้ฟังบ้าง เปิดโอกาสให้เขาได้พูด มีเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง มีอะไรไม่สบายใจมาเล่า แล้วเราฟังอย่างเดียว ไม่ต้องคอมเมนต์ อาจจะเสริมเข้าไปหน่อย เช่น แม่รู้สึกภูมิใจมากเลยไหนลองเล่าหน่อยซิ ประโยคง่ายๆ แค่นี้ก็ได้ใจแล้ว” 


พ่อแม่อย่ารังแกฉัน

จากการทำงานคลุกคลีกับเด็กๆ ที่เคยก่อเหตุอาชญากรรมมาเนิ่นนาน ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก พบว่า ประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้เด็กๆ หลบหนีออกจากบ้าน คือ การเปรียบเทียบ ซึ่งแม้จะเป็นความหวังดีของพ่อแม่ แต่สำหรับเด็กแล้วอาจไม่ใช่เสมอไป 

“พูดถึงแต่ความสำเร็จของตัวเองซ้ำๆ ซากๆ เช่น ตอนเด็กๆ จนมาก กว่าจะมีบ้าน มีรถต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจ แต่เด็กหลายคนบอกว่า ตอนเล็กๆ ผมก็ฟังได้นะครับ แต่พอโตขึ้นมาผมก็เบื่อที่จะฟัง พ่อแม่นั่งอยู่ตรงไหนของบ้าน ผมก็หลบ ไม่อยากฟังอีกแล้ว เมื่อหาทางหลบอยู่เรื่อยๆ ความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เริ่มมีปัญหา 

“หรือบางครอบครัว พูดชัดถึงขนาดว่า ทุกครั้งที่พ่อแม่เปรียบเทียบผมกับคนอื่น ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไรเลย ไม่มีแรงที่จะปีนขึ้นที่สูง มีแต่จะไหลลงสู่ที่ต่ำตลอดเวลา” ป้ามลบอก 

ขณะที่ปัจจัยขับไสไล่ส่งในครอบครัวกำลังทำหน้าที่ของมันอย่างไม่หยุดหย่อน อีกด้านหนึ่งปัจจัยภายนอกอย่างเพื่อนและคนรัก ก็ทำหน้าที่ของมันเช่นกัน 

“เด็กบางคนบอกว่าเพื่อนคือเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่พ่อแม่มีขีดจำกัด หรืออีกปัจจัยหนึ่งคือ การถูกกระตุ้นเร้าทางเพศ ที่เป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น ขณะที่ในบ้านอึดอัด แต่ข้างนอกเต็มไปด้วยสีสัน ถ้าเจอใครสักคนที่ตอบโจทย์ในห้วงเวลานั้นๆ ได้ เขาก็ไขว่คว้า ส่วนอนาคตข้างหน้าจะยับเยินแค่ไหน เขายังไปไม่ถึง” 

ทิชา สรุปว่า สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำคือ ตั้งหลักทบทวนและเรียนรู้ปัจจัยเหล่านี้ เพื่อลดเงื่อนไขในการผลักดันและดึงดูดลูกของตัวเองออกไป 

'ทิชา' เตรียม เปิดใจเหตุผลลาออก
  • ทิชา ณ นคร

เอาชนะปัญหาเด็กกระทำผิดซ้ำซาก 

ตัวอย่างชีวิตเด็กชายรายหนึ่งที่หลบหนีออกจากบ้าน และก่อเหตุปล้นชิงทรัพย์ ถูกจับเข้า-ออกสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน มากถึง 8 ครั้ง เขากลับตัวกลับใจเป็นคนใหม่ได้เพราะท่าทีที่เปลี่ยนไปของครอบครัว โดยเขาประกาศว่าจะไม่มีความผิดครั้งที่ 9 อีกต่อไปแล้ว 

“เมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาหยุดได้ คำตอบคือ การปรับตัวของพ่อแม่ จากที่เคยดุด่าต่อว่าเอาแต่ทะเลาะกัน กลายเป็นรับฟังและแนะนำ มันทำให้ผมสำนึกผิดและมีกำลังใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แคร์ความรู้สึกของแม่ และอยากปรับตัวเพื่อเป็นของขวัญให้กับเขา”

ทิชา บอกว่า สังคมต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนที่หลบหนีออกจากบ้าน ก่อเหตุอาชญากรรมหรือหล่นหายไปจากเส้นแห่งความดีที่สังคมขีดเอาไว้ เกิดจากส่วนผสมของปัจจัยร่วมหลายอย่าง มิใช่เกิดจากตัวเขาเพียงคนเดียว ที่สำคัญโทษหนักทางกฎหมายไม่ได้ทำให้เขาเข็ดหลาบ

“เด็กต้องการความเข้าอกเข้าใจ ต้องการคุณค่าบางอย่างในชีวิตที่มันหล่นหายไประหว่างที่เขากำลังเติบโต การก่ออาชญากรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการส่งเสียงร้องบอกเท่านั้นเอง ว่าตัวตนและคุณค่าของเขามีอยู่หรือเปล่า ดังนั้นการเพิ่มโทษสูงก็เท่ากับว่า เรากำลังเล่นกับด้านมืดของเด็ก และเพิ่มซาตานมากขึ้นในประเทศนี้” 

การแก้ปัญหาในภาพใหญ่ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก แนะว่า รัฐบาลควรส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมให้กับเด็กๆ อย่างเป็นระบบและทั่วถึง โดยมีนโยบายหรือเงินสนับสนุนอย่างจริงจัง 

hiding-1209131_960_720.jpg

10 สัญญาณเตือนภัยเด็กหนีออกจากบ้าน 

มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผย 10 สัญญาณเตือนภัยว่าเด็กคิดหนีออกจากบ้าน 

1. เก็บเนื้อเก็บตัว เข้าห้องปิดเงียบ

2. คุยโทรศัพท์ดึกดื่นในยามวิกาล กระซิบกระซาบ

3. มีซิมโทรศัพท์ไว้หลายเบอร์

4. จดบันทึกเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ ไว้ตามสมุด

5. เริ่มกลับเข้าบ้านผิดเวลา

6. แต่งตัวแต่ไม่เข้าโรงเรียน

7. พ่อแม่ยึดโทรศัพท์ลูก โดยไม่มีเหตุผล

8. เริ่มก้าวร้าวกับพ่อแม่

9. ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้งทำโทษและดุด่าด้วยอารมณ์

10. เด็กมีแฟนและพ่อแม่ไม่รู้ว่าแฟนเด็กเป็นใคร  

ภาพประกอบบางส่วนจาก Peter Hershey on Unsplash

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog