ไม่พบผลการค้นหา
ทนายเกิดผล ยกคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตเทียบการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.กรณี 'นาฬิกายืมเพื่อนประวิตร' ชี้ทำลายระบบตีความ คุ้มครองบุคคลมากกว่าธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. อธิบายเรื่องการครอบครองนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การยืมเพื่อน หรือยืม 'นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์' เจ้าของนาฬิกา มาครอบครอง ไม่จำเป็นต้องรายงานในแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเป็นการ "ยืมใช้คงรูป" 

นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ ยกแนวคิด ข้อกฎหมายและผลการพิพากษาของศาลฎีกาในอดีตเทียบเคียงกรณีดังกล่าว โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า แนวคิดทฤษฎีการตีความว่า "การยืมนาฬิกา" เป็นการยืมใช้คงรูป เป็นการตีความในลักษณะยกเว้นความผิด และคุ้มครองเอกชน แต่ทำลายระบบการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่ควรคุ้มครองรัฐ และมหาชน

ในอดีตมีคดีลักกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น จำเลยถูกฟ้องข้อหาลักทรัพย์

แต่ประเด็น คือ กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์หรือไม่ ⁉

เพราะคำว่า ทรัพย์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 บัญญัติว่า

"ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง" แต่กระแสไฟฟ้า ไม่มีรูปร่าง กระแสไฟฟ้าไม่ใช่ทรัพย์ ตามนัยยะของกฎหมาย

แต่ศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่ คงพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าตีความว่า กระแสไฟฟ้า ไม่ใช่ทรัพย์ เพราะกระแสไฟฟ้าไม่มีรูปร่าง ก็ต้องยกฟ้องจำเลย

แต่การยกฟ้องจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมส่วนใหญ่ เพราะใครๆ ก็จะลักกระแสไฟฟ้าได้ เนื่องจากขณะนั้น กระแสไฟฟ้า ในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องใหม่ และสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ

ศาลฎีกาจึงพิจารณาว่า การลักกระแสไฟฟ้า "เป็นการลักทรัพย์" เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ มากกว่าตัวบุคคล

ตามนัยแห่งฎีกาที่ 877/2501 (ประชุมใหญ่ 8/2501)

ด้วยเหตุดังกล่าวศาลจึงพิพากษาให้จำเลยมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ และแนวคำพิพากษาฎีกานี้ก็เป็นแนวในการพิจารณาให้การลักสัญญาณโทรศัพท์ที่ลักเอาผ่านสายโทรศัพท์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตลอดมา

การวินิจฉัยของ ป.ป.ช. จึงเป็นคำวินิจฉัย คุ้มครองบุคคล มากกว่าธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และประเทศชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :