ไม่พบผลการค้นหา
'ไชยันต์-สติธร' เปิดงานวิจัยชี้ไพรมารีโหวต ตามกฎหมายพรรคการเมือง มีความซับซ้อนยังไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย คาดเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองจะเหลือน้อยลง เหตุต้องทำไพรมารีโหวตด้วยข้อจำกัดสมาชิกพรรค - เตือนพรรคอนาคตใหม่อย่าซ้ำรอยระบบพรรคการเมืองแบบเก่าที่ให้หัวหน้าพรรคเป็นใหญ่

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้อง 103A คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นำเสนองานวิจัยเรื่อง ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยภายใต้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ดร.สติธร เล่าว่า ตนและ ศ.ดร.ไชยันต์ เริ่มต้นหัวข้อการศึกษาวิจัยจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งว่าจะปฏิรูปพรรคการเมือง โดยมีการปฏิรูปพรรคที่สำคัญ คือ 1.การกำหนดนโยบาย 2.ไพรมารีโหวต (primary vote) เมื่อพรรคการเมืองเป็นปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในการปกครอง ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ใช้กรอบทฤษฎีการปกครองแบบผสมมาใช้ศึกษาองค์ประกอบและควมสัมพันธ์ภายในพรรคการเมืองระหว่าง The one, The few และ The many

ด้าน ศ.ดร.ไชยันต์ อธิบายว่า ทฤษฎีการปกรองแบบผสมให้ความสำคัญองค์ประกอบ 3 ส่วน ซึ่งเป็นการผสมระหว่าง

1.The one ผู้นำ หรือ หัวหน้าพรรค

2.The few คณะบุคคล ที่จะตรวจสอบกับ The one ทำเพื่อ The many 

3.The many ฐานมวลชน ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความต้องการ มีอำนาจในการลงโทษ ชมเชยการทำงานผ่านการลงคะแนน 

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า รัฐบาลรัฐประหาร 5 ปีผ่านมา บอกว่าได้มีการปฏิรูปแก้ไขกฎหมาย ที่ไม่ให้วงจรอุบาทว์กลับคืนมา จนเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลทำอะไรไว้บ้างกับพรรคการเมืองสะท้อนให้เห็นผ่าน “กฎหมายพรรคการเมือง” (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง)

'ไชยันต์' ชี้พรรคที่ปกครองด้วยคนๆเดียวไม่ต่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ในอดีตก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557 พรรคการเมืองมีลักษณะองค์ประกอบที่มีหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และมีสมาชิพรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคหลายพรรคการเมืองในไทย มีลักษณะเป็นพรรคส่วนตัว personal party ของคนคนเดียว เช่น พรรคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ศ.ดร.ไชยันต์ อธิบายโมเดลนี้ว่า เวลาพรรคจะส่งผู้สมัครคนไหน ผู้สมัครจะต้องเข้าหาหัวหน้าพรรคเท่านั้น (the one) และหัวหน้าพรรคมีสิทธิชี้ขาด

ศ.ดร.ไชยันต์ อธิบายลักษณะการปกครองภายในพรรคด้วยคนๆ เดียวว่า พรรคการเมืองที่มีเกณฑ์อยู่ในมือคนๆ เดียวไม่ต่างอะไร กับระบอบการปกครองแบบ monarchy เข้าข่ายสมบูรณาณาสิทธิราชย์ของพรรค ความเป็นสถาบันมี ตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคมีชีวิตและยังคุมอะไรอยู่ แต่ความไร้เสถียรภาพไม่มี เมื่อหัวหน้าพรรคไปแล้ว

"ในประเด็นของพรรคอนาคตใหม่ ถ้าหัวหน้าพรรคโดนตัดสิทธิทางการเมือง พรรคจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ดังนั้น พรรคไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นคนๆ เดียว"

เขากล่าวต่อถึง โมเดล 2 ที่ปรากฎในการเมืองไทย พรรคการเมืองไม่ได้อยู่ที่คนๆ เดียว แต่อยู่ที่ “คณะบุคคล” (the few) หรือ อาจจะเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่คำว่าคณะบุคคล ต้องจินตาการให้มากกว่าตำแหน่งทางการ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่เป็นคนที่มีอำนาจการเงิน พรรคแบบนี้ คือ ประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเป็นสถาบันมากกว่าแบบแรก ยั่งยืนกว่าแบบแรก หากบุคคลใดหายไป ก็นังสามารถดำเนินกิจการพรรคด้วยคณะบุคคลที่เหลือได้

โมเดล 3 ฐานของพรรคอยู่ที่ประชาชน หรือสมาชิกพรรค (the many) เพราะโอกาสที่จะหายไปพร้อมๆ กัน เป็นไปได้ยาก

ศ.ดร.ไชยันต์ ตั้งคำถามว่า การทำให้พรรคการเมืองเกิดความยั่งยืนได้ ถ้า 3 ส่วนนี้ จะมีเสถียรภาพ พรรคการเมืองควรมีองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ บทบาทการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคเป็นสำคัญ 

คำถามคือ พรรคการเมืองจะจัดความสำคัญของคนๆ เดียว กับคนส่วนใหญ่ให้เหมาะสมได้อย่างไร? ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ยกตัวอย่างของอังกฤษ ที่ชี้ให้เห็นถึงการจัดความสัมพันธ์ประเภทนี้ ก่อนหน้านี้อังกฤษให้นายกฯ มีอำนาจยุบสภา แต่แก้กฎหมายให้การยุบสภาก่อนถึงวาระทำได้ก็ต่อเมื่อได้เสียง 2 ใน 3 ของคณะบุคคล อังกฤษคิดว่า ความสมดุล คือ ถ่ายอำนาจของหัวหน้าพรรคไปสู่คณะบุคคล

ผลวิจัยพรรคการเมืองไปทางไหน


ชี้ เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์ - อนาคตใหม่ มีความเป็นสถาบัน

ขณะที่ ดร.สติธร กล่าวว่า ขอบเขตการวิจัย ในเรื่องเวลาจบอยู่ที่เลือกตั้งซ่อม เชียงใหม่เขต 8 และเก็บข้อมูลจากพรรคการเมือง 27 พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในรอบนี้ โดยแบ่งกลุ่มการวิเคราะห์ออกเป็น พรรคเก่า และ พรรคใหม่เพื่อเปรียบเทียบกัน

ในกลุ่มพรรคเก่า แบ่งเป็น 1.พรรคที่เคยมี ส.ส. ได้แก่ พรรคใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเล็ก เช่น ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย

2.พรรคที่ตั้งแล้วไม่มี ส.ส. เข้าสภา เช่น เสรีรวมไทย และ เพื่อชาติ

ส่วนพรรคเกิดใหม่ ได้แก่ 1.พรรคใหญ่ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ 2.พรรคเล็ก เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป 

โดยเกณฑ์พิจารณาใน 2 เรื่อง คือ 1.การก่อตั้ง 2.การดำรงสถานะของพรรคการเมือง

การก่อตั้งพรรค กฎหมายพรรคการเมืองใหม่กำหนดว่า กำหนดให้การจัดตั้งพรรคให้เสร็จสมบูรณ์จะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน 

คำถามต่อมา คือ พรรคการเมืองให้ความสำคัญของ The many มากน้อยขนาดไหน โดยพิจารณาจากสิทธิที่แต่ละพรรคให้สมาชิกพรรค ในแต่ละพรรค พบว่า พรรคเก่า ที่ให้สิทธิกับ The many มีเพียงพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยขยายข้อบังคับจาก 4 เป็น 8 ข้อ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มี 6 ข้อ และมีเรื่องที่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยคือ สิทธิในการเข้าขื่อกันเพื่อถอดถอนหัวหน้า ไว้ในข้อบังคับของพรรค ส่วนพรรคเล็กให้ตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนพรรคใหม่ พบว่า พรรคใหม่ให้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้สิทธิคล้ายๆ พรรคประชาธิปัตย์ คือ ให้สิทธิในการถอดถอน

นอกจากนี้ ดร.สติธร กล่าวว่า ตามกฎหมายบังคับให้พรรคการเมืองมีประชุมสามัญประจำปี เพื่อบังคับให้พรรคการเมืองทำตามแนวทางสร้างความเป็นสถาบันพรรค คือ ต้องเพิ่มสมาชิกไปประชุมด้วย พบว่า พรรคการเมืองเก่า อย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เกิดพื้นที่มากกว่าพรรคอื่นๆ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมี The few มากกว่า พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคใหม่ กำหนดตามที่กฎหมายกำหนด มีเพียงอนาคตใหม่ที่แตกต่าง และมีคนระดับพื้นที่ร่วมด้วย

ดร.สติธร กล่าวว่า ภาคปฏิบัติจริง ในการให้พื้นที่กับ The many ในกรณีของพรรคเก่า พบว่า ส่วนใหญ่เป็น รูปแบบคล้ายกัน พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างให้พื้นที่กับ The many มากกว่าพรรคระดับรอง เฉพาะในพื้นที่ที่ตัวเองมีผู้แทน คือ พื้นที่ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดในพื้นที่ภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยได้ให้โอกาสอะไร เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงของพรรค ส่วนพรรคใหม่ ก็จะมีพรรคอนาคตใหม่ที่ active คือ The few ระดับภูมิภาค


ผลวิจัยพรรคการเมืองไปทางไหน


เตือน 'ไพรมารีโหวต' ส่อทำพรรคน้อยลงเลือกตั้งครั้งหน้า

ดร.สติธร กล่าวว่า เราทราบกันดีว่า รอบนี้จริงๆ เราต้องทำไพรมารีเต็มรูปแบบ แต่ว่าด้วยระยะเวลา คำสั่ง คสช. ออกมา ช่วยลดขั้นตอนในการทำไพรมารีโหวต ปัญหา คือ จำนวนตัวเลขของผู้สมัครประมาณ 10,800 คน จาก 70 กว่าพรรค สาเหตุที่ส่งได้เยอะ เพราะ คสช. ยกเลิกไพรมารีโหวต แต่หากต้องทำไพรมารีโหวตจริงๆ พรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกจำนวนมาก ถึงจะส่งได้ 350 เขต การเลือกตั้งที่ผ่านมาในการคัดเลือก พรรคการเมืองทำแบบคำสั่ง คสช. หมดเลย มีแค่ 2 พรรคที่ทำไพรมารีในแบบของตัวเอง

ดร.สติธร ยกตัวอย่างของ พรรคอนาคตใหม่ แต่มีข้อแตกต่าง คือ ขั้นกรรมการสรรหา คือคนเสนอตัวเข้ามา ผ่านกรรมการสรรหา กฎหมายปกติดูคุณสมบัติปล่อยผ่าน แต่พรรคอนาคตใหม่เชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ ถึงถูกส่งไปให้สาขา ระดับพื้นที่ของพรรคในแต่ละเขตเลือก แต่เกิดปัญหา ส.ส. ไม่ถูกกับกรรมการในพื้นที่ ไม่ผ่านไปให้ The many โหวต เป็นที่มาของการขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ แต่พรรคก็จะอ้างว่าเป็นการคัดกรองคนที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกับพรรค

อย่างไรก็ดี ดร.สติธร มองว่า สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำ ตามทฤษฎีไพรมารีถือว่าถูกในแง่หนึ่ง วัตถุประสงค์ที่ให้ผู้สมัครมีความเป็นตัวแทนของสมาชิก พรรคสามารถหยั่งเสียงในเบื้องต้นมีโอกาสชนะจริงแค่ไหน ถ้าชนะโหวตได้ เขาน่าจะมีความนิยมระดับหนึ่ง อย่างน้อยมีคะแนนนำไปคิดเป็นคะแนน เพื่อนำไปคิดเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ปัญหาคือ อาจจะไม่สามารถคัดกรองบุคคลที่มีอุดมกาณ์เดียวกับพรรคได้

ดร.สติธร กล่าวว่า ในกรณีที่ต้องใช้ไพรมารีเต็มรูปแบบ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งที่เห็นเป็นประเด็นท้าทายพรรคการเมืองหนึ่งจะมีความสามารถในการทำได้มากน้อยขนาดไหน

สอง ปัญหาในเชิงทฤษฎีของไพรมารีโหวตจะทำให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพ หรือทำให้พรรคเขาแตกกัน ถ้าทำไพรมารีโหวตในแบบแบ่งเขต

ส่วนแบบบัญชีรายชื่อตามกฎหมายปัจจุบัน คือ บัญชีรายชื่อพรรคจะทำรายชื่อมาก่อน เสร็จแล้วเอารายชื่อส่งไปที่สาขาด้วยองค์ประชุมแบบเดียวกัน แต่ว่าเวลาเลือกสมาชิกที่มาประชุมกัน มีสิทธิออกเสียงได้ไม่เกิน 15 รายชื่อ เสร็จแล้วเอาคะแนนของแต่ละเขตมารวมกัน ส่งให้กรรมการบริหารพรรค แล้วจัดอันดับตามคะแนนที่ได้ ยกเว้นคนเดียวคือหัวหน้าพรรค ที่เหลืออันดับ 2 มาจนถึง 150 มาจากพื้นที่ทั้งหมด อันนี้ในทางทฤษฎีของระบบ The many มองว่าดี เพราะต่อจากนี้ The one กับ The few จะไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะจัดใครอยู่ลำดับต้นๆ ในบัญชีรายชื่อ ได้โดยง่ายแบบเมื่อก่อน

"นายทุนพรรคจะมาขอซื้อปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 3 ไม่ได้แล้ว เพราะคุณต้องทำคะแนนให้ได้จากทุกจังหวัดด้วย"

ขณะที่ ศ.ดร.ไชยันต์ เสริมว่า ตัวเลขสมาชิกพรรคก็จะเยอะมาก เราจะเหลือพรรคการเมืองน้อย ในขณะที่ผ่านมีพรรคการเมืองเยอะ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้ไพรมารีโหวตเต็มที่ จะมีปรากฏการณ์เหวี่ยงกลับอย่างรุนแรง คือ ระบบเลือกตั้งก่อให้เกิดพรรคเล็กเป็นจำนวนมาก ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเห็นปรากฏการณ์เหลือพรรคการเมืองน้อยมาก และภูมิทัศน์ในสภาจะเปลี่ยนไป

"ในความเป็นจริงสมาชิกพรรคถูกควบคุมโดยใคร ต้องศึกษาว่าพรรคเป็นของใคร หรือเป็นส่วนผสมสามส่วน รวมถึงวัฒนธรรมไทย คนที่แพ้จะมีน้ำใจนักกีฬาแต่ไหนถ้าไพรมารีแพ้ กลับมาช่วยคนที่ชนะหาเสียงหรือไม่" ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุ

วัฒนธรรมบ้านเราไม่เอื้อทำไพรมารี

ศ.ดร.ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลักการของไพรมารีมีข้อดี แต่เงื่อนไขทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองของไทยยังไม่เอื้อ รวมถึงค่าสมาชิก ต้องจ่ายเงินให้กับพรรค ค่าใช้จ่ายเดินหน้าไปทำไพรมารี และบุคคลที่เป็นข้าราชการจะเปิดหน้าเพื่อไปโหวตผู้สมัคร ส.ส. ในเขตตัวเองหรือไม่

ศ.ดร.ไชยันต์ ย้ำว่า ในระยะยาว การทำไพรมารีที่ให้ The many (ฐานมวลชน)มีบทบาท มันนำมาซึ่งผลดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยไทยต้องรอให้ The many เติบโตมากกว่านี้ เติบโตทั้งความกล้าหาญ วัฒนธรรม มากกว่านี้


ผลวิจัยพรรคการเมืองไปทางไหน


'ไชยันต์' เชื่อกระแส 'ธนาธร' ดึงคนเทเสียงให้ 'อนาคตใหม่'

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุถึงกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ที่ ดร.สติธร พูดว่า มีการทำไพรมารีโหวต แต่พรรคอนาคตใหม่มีเงื่อนไขว่า เวลากรรมการบริหารพรรคพิจารณา ไม่ได้พิจารณาแค่คุณสมบัติ แต่อุดมการณ์ต้องตรงกันไหม แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่า เกิดอะไรขึ้น เขาได้คัดคนที่ลงเขตผ่านอุดมการณ์จริงหรือไม่ พรรคอนาคตใหม่มองระบบเลือกตั้งว่า โอกาสที่เขาจะเข้าสภามีสูง หากเขาสามารถส่งผู้สมัครครบ 350 เขต ถึงแม้ว่าเขาไม่คาดหวังว่าจะชนะทั้ง 350 เขต แต่เขาคิดว่าถึงแม้ไม่ชนะ เอาคะแนนมารวมกัน คือพวกนี้รู้ตัวแล้วว่าลงไปจะไม่ได้ ผมเคยเขียนในบทความว่าเรียกว่าพวก kamikaze

ถึงแม้ kamikaze กรรมการบริหารพรรคจะไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เข้ามาในสภา แต่บังเอิญด้วยกระแส "ฟ้ารักพ่อ" มี ส.ส. เขต อนาคตใหม่หลุดมาประมาณ 30 คน เมื่อต้นสัปดาห์มีการไปลาออกกันเยอะ 30 ผู้สมัครที่แพ้ สมาชิกอีก 90 คน ถ้าคิดในแง่ของพรรคอนาคตใหม่ ควรทำอะไรกับ kamikaze ที่ไม่ได้รับความสนใจ

"ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมก็เชื่อว่าเป็นเพราะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพราะผมนึกไม่ออกว่า คนในพื้นที่เขามีบทบาทอย่างไรบ้าง คือคนเลือก เลือกเพราะกระแสธนาธร ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เพราะฉะนั้นการที่ธนาธรตัดสินใจว่าไม่แคร์คนพวกนี้ คนที่เอาออกไป ภาพที่ออกมาว่าพรรคอนาคตใหม่มีอุดมการณ์ คนที่พิทักษ์อุดมการณ์ คือ The one แต่ปัญหาในการเลือกตั้งคราวหน้าคือ สมมติคุณต้องการส่ง 350 เขตอีก แล้วต้องการสมาชิกพรรคอีกเพื่อทำไพรมารี กลายเป็นว่าก็ต้องมี kamikaze อยู่ดี"

"คนที่จะเป็น kamikaze ให้อนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องคิดว่า kamikaze กลุ่มหนึ่ง มันยอมพลีชีพ แต่ถึงเวลาหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่สนแล้ว จะไปเหรอ"

แต่ถ้าพรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนวิธี คือ พยายามหล่อเลี้ยง 120 คน มีทุนที่จะดูแล มีตำแหน่งแห่งที่ในบริษัทห้างร้านที่จะนำคนพวกนี้ไปทำอะไรหรือเปล่า ถ้าเขาทำแบบนี้จะเกิดภาพของการดูแล The many แต่มันย้อนยุกต์ไปเป็นระบบอุปถัมภ์แบบพรรคเก่าๆ ที่หัวหน้าพรรคยิ่งใหญ่ กรรมการบริหารพรรคยิ่งใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง