ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' ชงโรดแมป 3 ขั้น แนะแก้ รธน.เปิดทางเลือกตั้ง ส.ส.ร. - ตั้งกรรมการหาทางออก- 'ประยุทธ์' เสียสละลาออกเลือกนายกฯใหม่มาจัดทำ รธน.ใหม่แล้วยุบสภาปลายปี64 ด้าน 'อภิสิทธิ์' เตือนเมินแก้ รธน.ไม่เหลือทางปลดล็อกขัดแย้ง แนะนายกฯ สั่ง ส.ส.-ส.ว.ให้รับหลักการร่าง รธน. 7 ฉบับ

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2563 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มสภาที่ 3 ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)​และองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) จัดเวทีสาธารณะ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย"

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุในเวทีดังกล่าวว่า ตนไม่ได้มองวุฒิสภาจะมาลดความขัดแย้ง แต่วุฒิสภาจะเป็นจุดความขัดแย้ง และวุฒิสภาจะถูกมองว่ามีฝักฝ่ายไม่ได้เป็นคนกลาง ตนเคยพูดประเด็นนี้ก่อนจะมีพรรคพลังประชารัฐ และบุคคลใน คสช.จะมาเล่นการเมือง ทั้งนี้ ตอนเลือกตั้งตนไม่ได้สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นจุดของความขัดแย้ง เมื่อปีที่ผ่านมา ตนได้ลาออก จาก ส.ส. ได้ออกรายการกับ สุทธิชัย หยุ่น ก่อนจะมีปัญหาการยุบพรรคอนาคตใหม่และการชุมนุม ตนเป็นห่วงสังคมจะเข้าสู่สังคมแห่งความขัดแย้ง ตนบอกว่ามิติความขัดแย้งสลับซับซ้อนมากขึ้นไม่เหมือนสองขั้วการเมืองใน 10 ปีที่ผ่านมา เพราะมีมิติความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ความเหลื่อมล้ำ และความหวังที่เกี่ยวข้องกับสังคมในอนาคต

อภิสิทธิ์ ระบุว่า ถ้าย้อนไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทุกเวทีที่ดีเบตหาเสียง ทุกพรรคจะถูกสอบถามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนบอกได้ว่าทุกเวที ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐและพรรคของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่มี 2 พรรคบอกว่าจะไม่แก้ไข ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรล้วนมาจากพรรคการเมืองที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทุกพรรคตระหนักดีว่าต่อให้ทุกพรรคเห็นด้วย รัฐธรรมนูญก็ไม่ผ่าน ถ้า ส.ว.ไม่ร่วมมือ กุญแจที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ถ้าทำให้รัฐสภามีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะแก้กติกาให้เป็นประชาธิปไตยแบบสากลที่ทุกคนยอมรับ ให้เป็นกติกาที่ไม่มีการพูดว่าถูกออกแบบมาเพื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเป็นจุดเริ่มต้นสมานฉันท์หรือคลี่คลายความขัดแย้งที่ดีที่สุด ก่อนจะเกิดปัญหายุบพรรคและการชุมนุม และก่อนข้อเรียกร้องจะเพิ่มเติมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จะเป็นอย่างไร ตนเห็นว่าจะออกได้ 3 ทาง ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ไม่พยายามเข้าหากันของฝ่ายต่างๆ วันหนึ่งจะจบลงที่ความรุนแรงและปะทะกันถึงวันนั้นจะตอบยากมากจะเดินไปทิศทางไหน

ทางที่สอง ต้องหาเวทีพื้นที่ให้สองฝ่ายมาพูดจาด้วยเหตุผลสาระที่เป็นประเด็นอยู่ให้ได้ ถ้าทำได้ก็จะคลี่คลายสถานการณ์ได้ดีที่สุด ส่วนทางที่สาม มั่วๆกันไป เอาตัวรอดกันไปตามสถานการณ์ ถามว่าวันนี้เราอยู่ตรงไหน ตนบอกว่า 17-18 พ.ย. นี้จะมีคำตอบชัดเจนขึ้นว่าจะไปทางไหน 

เตือนเมินแก้ รธน.ไม่เหลือหนทางแก้ขัดแย้ง

ถ้าในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้เลือกที่จะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนบอกได้ว่าเส้นทางการคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้วน่าจะไปไม่ได้ ถามในความเห็นตน ถ้าจะหาเส้นทางคลี่คลายได้ต้องมีการรับหลักการรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รัฐธรรมนูญที่เสนอไป 7 ฉบับแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม 1.ปลดล็อกมาตรา 256 ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น และต้องมีกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญแทนฉบับปี 2560 แต่ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ให้แตะหมวด 1และ 2 ส่วนกลุ่มที่สอง ไอลอว์หรือร่างภาคประชาชนไปคาบเกี่ยวกับประเด็นที่ร่างของพรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับเสนอเข้าไป

รัฐธรรมนูญ สุดารัตน์ อภิสิทธิ์ be8a6adb101886545fd505_39062336_201113.jpgอภิสิทธิ์ คำนูณ

อภิสิทธิ์ ระบุว่า ข้อเท็จจริงในกระบวนการผ่านมาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมมติผ่าน 3 วาระยังต้องผ่านด่านการทำประชามติของประชาชน ตนขอพูดถึงคนที่จะตีความถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรอ่านคำวินิจฉัยเสียใหม่ เพราะกรณีนี้เปรียบเทียบไม่ได้กับครั้งนั้น ถ้าครั้งนี้ถ้าเขียนหรือแก้ไขเพิ่มเติมยังไงก็ผ่านประชามติของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องตีความว่าทำประชามติสองรอบ 

ด่านที่สอง ส.ส.จะยื่นตีความให้อีกว่าร่างที่ผ่านไปขัดหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตอนนี้มีด่านพิเศษเกิดมี ส.ส.และส.ว.ไม่รู้อำนาจหน้าที่ตัวเอง จะไปถามศาลรัฐธรรมนูญว่าตัวเองมีอำนาจหรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องแปลก ในอดีตมีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะใช้กระบวนการรัฐธรรมนูญในการเปิดประตูสู่ ส.ส.ร. เมื่อผ่านด่านเหล่านี้เสร็จ มีการเลือก ส.ส.ร. ก็ไม่รู้จะเลือกทั้งสภาหรือไม่ ยังต้องดูว่าการคัดเลือกของ ส.ส.ร. จะมีการใช้อำนาจรัฐในการถือกลไกของรัฐมาเกี่ยวข้องหรือไม่ ยังไม่รู้ ส.ส.ร.จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร อย่างต่ำต้องใช้เวลา 8-9 เดือน เสร็จแล้วก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบรัฐสภาและประชามติ อาจต้องไปถึงกลางปี 2565 ถ้าผ่านกว่าจะไปใช้กติกานี้ได้จริงก็ต้องทำกฎหมายลูกมารองรับอีก ซึ่งอาจมาหลังวัคซีนโควิด และรัฐบาลอาจใกล้ครบเทอมแล้วด้วย 

ดังนั้นการรับร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนนี้จึงไม่อาจเป็นคำตอบได้ในสมมติฐาน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก เพราะความขัดแย้งบนท้องถนนจะเกิดขึ้นต่อไปจากการปฏิเสธภาคประชาชน ทางออกทางการเมืองตามระบบไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือยุบสภา ทำให้ต้องใช้กติกาเดิม และมีโอกาสทำให้สถานการณ์วนอยู่ที่เดิมโดยไม่แก้ไขอะไร 

แนะรับหลักการ 7 ร่าง ให้รัฐสภาถกกับเจ้าของร่าง

"ผมเห็นว่าควรรับหลักการทั้ง 7 ร่าง ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับบทบัญญัติทุกมาตราทั้ง 7 ร่าง แต่ผมเห็นว่าการรับหลักการจะเป็นรูปธรรมเดียวที่แสดงออกให้เห็นว่าผู้มีอำนาจเข้าใจได้ยินสิ่งที่เรียกร้องในวันนี้กติกาที่ไม่เป็นธรรมจะต้องถูกแก้ไข" อภิสิทธิ์ ระบุ

อภิสิทธิ์ ระบุว่า การรับหลักการจะสร้างโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแลกเปลี่ยนกับผู้เสนอ แม้จะไม่เห็นด้วยก็แปรญัตติได้ ส่วนหมวด 1-2 ถูกแปลความว่าเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมดในรัฐธรรมนูญ ถ้าย้อนไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 -2550-2560 หมวด1 และ 2 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ทำให้เข้าใจว่าการแก้ไขหมวด1-2 แปลว่าจะกระทบกระเทือนเรื่องนั้นเรื่องนี้

ย้ำพระราชอำนาจกษัตริย์ไม่ได้มีอยู่แค่หมวด 1-2

"ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะหมวด1-2 อยู่ดี บทบัญญัติในหมวดอื่นๆ ล้วนมีผลผูกพันเกี่ยวข้องโครงสร้างพระราชอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเรากังวลว่าจะมีการใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปล้มล้างหรือเปลี่ยนรูปของรัฐ ก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่บอกห้ามแก้หมวด 1-2 แต่การมาตกลงแปรญัตติกันในกรรมาธิการแล้วเขียนว่ารัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นมาใหม่ ต้องมีลักษณะ 1.ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นรัฐเดี่ยว มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองของประเทศ และเปิดพื้นที่ให้สามารถเอาเรื่องที่มีความยากละเอียดอ่อนคุยกันด้วยเหตุด้วยผล"

อภิสิทธิ์ ระบุว่า เราคงชอบเส้นทางที่ 3 ที่ชอบมั่วๆกันไป ตนคาดการณ์ว่าแนวโน้มจะรับบางร่าง และไม่รับบางร่าง แล้วทำให้เกิดความสับสนว่าจะแก้หรือไม่แก้ ทำไมวันนี้คนถึงยังบอกว่าช่องว่างสองฝ่ายไม่ลดลงเลย ทำไมวันนี้คนยังหวาดระแวงว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ มีความพยายามว่านายกฯ ส่งสัญญาณแล้ว ตนติดตามทุกคำพูดมากกว่าที่นายกฯ พูด คือบอกให้พรรครัฐบาลสนับสนุนร่างรัฐบาล 

อภิสิทธิ์ ระบุว่า ปรากฏการณ์ 1 ในรัฐสภาในระหว่างพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญ มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนลุกขึ้นมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถามว่าตามระบบรัฐสภา รัฐบาลจะต้องดำเนินการกับ ส.ส.เหล่านั้นหรือไม่ เพราะ ส.ส.เหล่านั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐบาล คำตอบคือไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับ ส.ส.เหล่าน้ัน ปรากฏการณ์ มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ตัดสินใจเข้าชื่อกับพรรคก้าวไกลตอนแรกที่จะแก้ไขมาตรา 272 อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเห็นว่าการแก้ไขเรื่องนี้ควรทำและเป็นรูปธรรมของการถอย 1 ก้าว ที่จะไม่เอาเปรียบ แต่รัฐบาลกดดันให้ ส.ส.ที่เข้าชื่อถอนชื่อ 

"แปลกไหม รัฐบาลประกาศมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น แต่ ส.ส.ที่คัดค้านรัฐบาลกลับไม่พูดอะไร ส.ส.ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับถูกกดดันว่าทำไมต้องถอนชื่อ" อภิสิทธิ์ ระบุ

แนะ 'ประยุทธ์' ลุกกลางสภาสั่ง ส.ส.-ส.ว.รับร่าง รธน.

อภิสิทธิ์ ระบุว่า ถามสังคมส่วนใหญ่ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับผ่าน ง่ายนิดเดียว ท่านลุกขึ้นยืนในสภาบอกว่า 7 ฉบับเป็นทางออกของประเทศจะมาพูดคุยกัน เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับทุกมาตรา ไปแปรญัตติกันในชั้นกรรมาธิการเปิดเวทีพูดคุยกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้บ้านเมืองจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ผมจะบริหารประเทศไม่ได้ ยืนขึ้นพูดผมขอท่าน ส.ส. ส.ว. ให้ผมได้ทำงานต่อไปได้ด้วยการผ่าน 7 ฉบับนี้ ผมอยากจะรู้มี ส.ว.ใจร้ายกี่คนไม่อยากให้ท่านอยู่แล้ว ไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่าน นี่คือข้อเสนอชัดเจนที่สุดจะทำให้เป็นโอกาสไม่ให้มีการปิดทางและนำไปสู่ความขัดแย้ง และยื้อเกม ซื้อเวลา ประวิงเวลาความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ เป็นการให้สังคมใช้รัฐสภาแก้ปัญหาด้วยเหตุด้วยผล ถ้าทำได้ดึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ไม่ต้องกระทบกระเทือนและเป็นความมั่นคงของประเทศ

สุดารัตน์ 6adb101886545fd505_39062336_๒๐๑๑๑๓_0.jpg

'สุดารัตน์' ชงโรดแมป 3 ขั้น ตั้ง ส.ส.ร. - กก.หาทางออก-ประยุทธ์ ลาออก

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า แก้ปัญหาได้ง่ายๆ คือความจริงของนายกรัฐมนตรีเปิดรับฟัง ต้องเข้าใจและจะต้องนำไปแก้ไขการเป็นผู้นำไม่ใช่ทำทุกอย่างรักษาอำนาจ การเป็นผู้นำต้องทำให้ประชาชนและประเทศชาติอยู่รอด ซึ่งคนอื่นจะสรรเสริญ ทั้งนี้ 1 ปีก่อนตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นรัฐบาล และ ส.ว.ไม่มีท่าทีจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขู่พรรคฝ่ายค้านจะติดคุก ทั้งนี้ รัฐบาลเขียนนโยบายในรัฐบาลว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบาย แต่ได้แสดงให้เห็นว่าขัดขวางทุกอย่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ส.ส.และ ส.ว.ที่ไปลงชื่อเพื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นคิดอะไรอยู่ ท่านไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้ง ทำไมต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญหรือถูกคำสั่งผู้มีอำนาจให้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดึงอำนาจ แสดงถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"วันที่ 17 -18 พ.ย.นี้จะโหวตอย่างไร ได้ยินข่าวลอยมาตามลมจะรับบางร่าง วันที่ 17 พ.ย.ต้องรวมเป็น 7 ร่างคือร่างภาคประชาชนของไอลอว์ ดิฉันเห็นด้วยกับคุณอภิสิทธิ์ว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เห็นสอดคล้องทุกมาตรา แต่มีกระบวนการในรัฐสภาที่จะแปรญัตติและพูดจาด้วยเหตุผล แน่นอนนักการเมือง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต้องปกป้องประเทศไทยให้เป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ ใครจะเสนอให้แบ่งแยกรัฐ เราต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่สังคมไทย ดังนั้น วันที่ 17 พ.ย. น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายพิสูจน์ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี"

สุดารัตน์ อภิสิทธิ์สุดารัตน์ อภิสิทธิ์

คุณหญิงสุดารัตน์ เสนอโรดแมปในฐานะประชาชนที่อยู่ในการเมืองมา 29 ปี ได้เห็นวิกฤตบ้านเมืองมาหลายครั้ง โดยเสนอ 3 ขั้นตอนสู่ทางออกของประเทศไทย 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้วันที่ 17 พ.ย.นี้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้านับกลางเดือน ธ.ค.นี้ รัฐสภาจะสามารถรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระได้ทัน ถ้าจริงใจนายกฯ พูดกับ ส.ส.และ ส.ว.ก็จะได้ปฏิบัติตาม ส่วนการทำประชามติ คือกฎหมายเดิมยังไม่ได้ยกเลิก ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เร็วที่สุด มาตรา 256 มาตรา 272 และเลือกตั้ง ส.ส.ร.ต้องผ่าน เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้วให้ ส.ส.ร.อยู่ไม่เกิน 8 เดือน ไม่เกินสิ้นปี 2564 จะได้เลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

2.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการหาทางออกประเทศไทยโดยขอให้มีกฎหมายรองรับมีกำหนดเวลาการทำงาน 3-5 เดือน เพื่อสร้างเวทีที่ปลอดภัยนำผู้มีความรู้เป็นกลางจริงๆ และคู่ความเห็นต่าง ต้องตั้งเพราะเราจะปล่อยให้มีการชุมนุม โดยนายกฯ ไม่ฟัง ปล่อยให้ชุมนุมไปเรื่อยๆ และนายกฯ เป็นจ่าเฉยไม่มีผลดีต่อประเทศไทย สิ่งที่ผู้ชุมนุมถูกคดี 70-80 คดีไม่สร้างให้เกิดการเดินหน้าประเทศไทยได้ เพราะมีแต่ควาขัดแย้งล่มสลาย และให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมก่อน เพื่อให้เกิดการพูดคุยภายใน

3.ต้องเป็นความเสียสละของนายกฯ ต้องยอมรับว่านายกฯ คือศูนย์กลางของความขัดแย้ง ลามไปถึง ส.ว.ที่มาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ลามไปถึงองค์กรอื่นๆ ที่ไม่อยากให้ลาม ถ้านายกฯ บอกว่าเหนื่อยมากเสียสละทำงานให้บ้านเมืองมาหลายปี อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข 

"ครั้งนี้จะเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของนายกฯ เมื่อมีการรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างในกลางเดือน ธ.ค. ท่านนายกฯ เสียสละลาออกหลังรับทั้ง 7 ร่าง และให้มีการเลือกนายกฯ ในรัฐสภาจะเป็นใครก็ได้ เมื่อได้รัฐบาลให้มาชั่วคราวในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลา 8 เดือน ไม่เกินสิ้นปี 2564 ยุบสภาใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนคืนอำนาจให้ประชาชน" คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง