ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ เผย หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด แนะปรับโครงสร้างหนี้-แยกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-เน้นช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยเป็นพิเศษ

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสามปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อนหรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นโดยไตรมาสสามปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับ 3.12% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาสสาม ปี 2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Special Mention Loans: SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็นNPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ 

ดนุชา ระบุว่า โดยระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึง แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ รวมถึงการจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว