ไม่พบผลการค้นหา
นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิวเผย รมว.ดีอีเอสของไทย สั่งปิดเว็บไซต์-เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์รวมกว่า 2,000 ยูอาร์แอล อ้าง 'ละเมิดกฎหมาย-ความมั่นคง' แต่สื่อญี่ปุ่นชี้ ปิดสื่อโซเชียลไม่น่ากระทบผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลวันที่ 19 ก.ย. ด้าน 'วอชิงตันโพสต์' เผยแพร่บทความนักวิจัยองค์กรสิทธิฯ HRW ชี้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

บทความ Thailand to block 2,000 websites ahead of pro-democracy protests เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิวเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2563 ระบุว่า 'พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์'รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยันว่ารัฐบาลได้สั่งปิดเว็บไซต์ เฟซบุุ๊ก และทวิตเตอร์กว่า 2,200 ยูอาร์แอล เพราะสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเผยแพร่ข้อความละเมิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

นิกเคอิฯ ระบุว่า เฟซบุ๊กเพจและเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงไปแล้วช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 1,276 ยูอาร์แอล และอีก 1,024 ยูอาร์แอลจะถูกปิดกั้นในเร็วๆ นี้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลพุฒิพงษ์และแหล่งข่าวซึ่งอยู่ในกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยพุฒิพงษ์ยืนยัน การปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของไทย และไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

การปิดกั้นข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ของรัฐบาลไทยเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนจะถึงการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.2563 ซึ่งกลุ่มเยาวชนที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนัดหมายกันล่วงหน้า และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำรัฐบาลคณะรัฐประหาร ได้กล่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวันที่ 17 ก.ย. เตือนว่าการชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองไทยมองว่าการแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีนัยของการห้ามปรามผู้ชุมนุมไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

ปวิน แฟลชม็อบ ธรรมศาสตร์ dkdkdkqq 00810.jpg
  • ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส

นิกเคอิฯ ได้สัมภาษณ์ 'บุณยเกียรติ การะเวกพันธุ์' นักวิชาการและอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ที่รัฐบาลไทยสั่งปิดกั้น มีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาล รวมถึงการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันหลักของไทย และเป็นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่เป็นประจำ

ทั้งนี้ การสั่งปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ของกระทรวงดีอีเอสไม่น่าจะมีผลระงับยับยั้งหรือลดทอนแรงจูงใจในการออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงของเยาวชนรุ่นใหม่แต่อย่างใด และการปิดกั้นสื่อในโลกยุคใหม่ไม่สามารถทำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะปิดไป ก็สามารถเปิดเว็บใหม่ เพจใหม่ หรือแอคเคาต์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

นิกเคอิฯ ยกตัวอย่างกรณีเฟซบุ๊กเพจ 'รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลง' ที่ดูแลโดย 'ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์' นักวิชาการชาวไทยที่ลี้ภัยการเมืองในญี่ปุ่น แม้จะถูกปิดเพจเก่า ก็มีการเปิดเพจใหม่ทันที และมีผู้กดติดตามเพจใหม่กว่า 500,000 รายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง


เหตุผลของ 'เยาวชนรุ่นใหม่' ทำไมต้องออกมาไล่รัฐบาล

นอกเหนือจากสื่อญี่ปุ่น ยังมีสื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่บทความเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยอีกแหล่งหนึ่ง คือ The Washington Post ที่เผยแพร่บทความแสดงความเห็นของ 'สุนัย ผาสุก' นักวิจัยขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) โดยพูดถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 'นักเรียนเลว' (Thailand’s ‘Bad Students’ are rising up for democracy and change) ซึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตย

นักเรียนเลว เผด็จการ แฟลชม็อบ กระทรวงศึกษาธิการ _200819_0.jpg

สุนัยอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่พูดคุยกับนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวในนามนักเรียนเลว ส่วนใหญ่มองว่า 'โรงเรียน' คือสถานที่แห่งความเผด็จการแห่งแรกในชีวิตเด็กไทย เพราะโครงสร้างของระบบในโรงเรียนเป็นการบริหารจากบนลงล่าง

ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมอำนาจนิยมในกลุ่มครูบาอาจารย์และผู้บริหารทำให้ยังคงมีการบังคับใช้กฎระเบียบที่ล้าหลัง เพื่อควบคุมทุกสิ่งอย่างตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงความยาวของเส้นผม มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนวิธีสอนแบบท่องจำก็ไม่สร้างแรงจูงใจในการเรียนให้แก่เยาวชน และกลุ่มนักเรียนเลวมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมืองเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักเรียนเลวและเยาวชนทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายจึงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปสภาพทางการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การชุมนุมของเยาวชนเหล่านี้จึงเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรร ขณะที่ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มีตั้งแต่ ยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความเป็นธรรมมากกว่าเดิม และยุติการคุกคามสิทธิประชาชน โดยต้องเคารพสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย

สุนัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่จำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนทั่วไปเคยบอกกับสุนัยว่า เด็กๆ คืออนาคตของประเทศไทย และนี่คือการต่อสู้ของพวกเขา สิ่งที่พวกผู้ใหญ่จะพอสนับสนุนได้ก็คือการสร้างความเชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ของเยาวชนจะต้องปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดอยู่บ่อยๆ ว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของเยาวชน แต่จนถึงขณะนี้มีการออกหมายเรียกและหมายจับเยาวชนที่ออกมาร่วมกิจกรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา โดยมีการตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: