ไม่พบผลการค้นหา
ต.ค. 2562 - ก.ค. 2563 แรงงานในระบบ ตกงาน 3.3 ล้านคน สภาอุตฯ คาดตัวเลขจะเพิ่มสูงอีก ชง 7 มาตรการช่วยเหลือประชาชน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศตัวเลขผู้ว่างงานนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 จนถึงเดือน ก.ค. 2563 มีประชาชนไทยที่เป็นลูกจ้างในระบบว่างงานแล้วกว่า 3,397,979 ล้านคน

แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตราที่ 33 ผู้ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ตามข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. ในสัดส่วนร้อยละ 62 ของผู้ว่างงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 1,369,589 คน ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์จากสภาอุตฯ ที่มีต่อการรับสิทธิว่างงานเพิ่ม ประจำเดือน ส.ค.-ต.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีอีกราว 800,000 คน

ตัวเลขผู้ว่างงานอีกเกือบ 896,330 คน อยู่ในฝั่งแรงงานที่ถูกพักงานจากกรณีที่ผู้ประกอบการปิดการกิจการชั่วคราวตามมาตราที่ 75 และแรงงานที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง และสิ้นสุดสัญญาจ้าง ณ เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาอีก 332,060 คน

อย่างไรก็ตามผลประเมินการว่างงานทั้งปีจาก องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) , ธนาคารโลก และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ตัวเลขรวม 7.4 , 8.3 และ 8.4 ล้านคน โดย ILO มองว่าแรงงานในภาคเกษตรกรรม ค้าส่ง-ค้าปลีก และภาคการผลิตมีความเสี่ยงสูงที่สุดตามลำดับ ซึ่งนายสุชาติ ยอมรับว่าเมื่อมองทั้งปีก็มีโอกาสที่ตัวเลขจะขึ้นไปสูงเช่นนั้นได้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ดีขึ้น

ตามสถานการณ์ปกติ รองประธาน สภาอุตฯ ชี้ว่า จากประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน จะแบ่งออกเป็นผู้มีงานทำจำนวน 37.3 ล้านคน โดยแบ่งสัดส่วนร้อยละ 47 ในภาคบริการ ร้อยละ 30 ในภาคเกษตรกรรม และอีกร้อยละ 23 ในภาคการผลิต ทั้งนี้ก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดนั้น ตัวเลขผู้ว่างงานมีราว 390,000 คน และประชาชนผู้รอทำงานตามฤดูกาลอีก 490,000 คน

นายสุชาติ ชี้ว่า ปัญหาการว่างงานยังมีความกังวลที่จะเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมซึ่งทางสภาอุตฯ นำเสนอ 7 มาตรการแนะนำ ได้แก่

(1) ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งจากฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1

(2) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนที่ว่างงาน จาก 90 เป็น 150 วัน

(3) เปลี่ยนการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง โดยคิดค่าจ้างอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท โดยมีระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมง/วัน

(4) เร่งพิจารณาการอบรมออนไลน์

(5) ปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ให้เหลือร้อยละ 0.0.1

(6) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี

(7) จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน