ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรเสรีภาพสื่อชี้ รัฐบาลของประเทศในเอเชียขัดขวางและจับกุมผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 และยังพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าภูมิภาคอื่น

International Press Institute (IPI) องค์กรทำงานด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนนานาชาติ ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียนำหน้าภูมิภาคอื่นใดของโลกในแง่การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวโควิด-19 โดยมีการออกมาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสื่อมวลชนในเอเชีย

IPI ชี้ว่า มาตรการของประเทศต่างๆ นั้นมีตั้งแต่การถูกตั้งข้อหาและการจับกุม การจำกัดการเข้าถึงข้อมูล การเซ็นเซอร์ข่าว การออกกฎระเบียบที่อ้างว่าใช้เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งการทำร้ายสื่อมวลชนทั้งทางร่างกายและการโจมตีด้วยวาจา เป็นต้น

โดย IPI ระบุว่าที่ผ่านมา มีการตั้งข้อหา หรือ จับกุมผู้สื่อข่าวแล้วถึง 102 ครั้ง และในแง่ของการเซ็นเซอร์ข่าวเรื่องโควิด-19 นั้นภูมิภาคเอเชียก็มาเป็นที่สองรองจากยุโรปด้วย

'ราวี ปราสาด' เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน IPI อธิบายว่า โดยพื้นฐานภูมิหลังแล้วรัฐบาลของประเทศในเอเชียไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นทุนเดิม และปัญหานี้จะยิ่งแย่ลงโดยเฉพาะในประเทศซึ่งมีรัฐบาลหรือผู้นำที่เป็นเผด็จการ หรือใช้นโยบายแนวประชานิยม ทั้งนี้ในแง่เสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชนในภาพรวมของเอเชียก็มาเป็นที่สองรองจากภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ

นอกจากรายงานของ IPI แล้ว ตัวเลขจากหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนของฝรั่งเศสและคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าวหรือ CPJ ในสหรัฐฯ ก็ชี้ว่า รัฐบาลของประเทศในเอเชียใช้ความพยายามมากกว่าในทวีปอื่นเพื่อทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด เซ็นเซอร์เนื้อหาการรายงานข่าว หรือก่อกวนรังควานผู้สื่อข่าวที่รายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน 

รายงานของ IPI และ CPJ ระบุว่า อินเดีย ซึ่งขณะนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน ซึ่งได้รับการยืนยันสูงที่สุดในโลก และมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมเป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกานั้นมีการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชนมากกว่าประเทศใดในเอเชีย โดยวิธีที่รัฐบาลอินเดียใช้เช่น การตั้งข้อหาอาญากับบรรณาธิการบริหารของเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง ซึ่งรายงานว่าประชาชนในหมู่บ้านตัวอย่างที่ตั้งขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดินั้นมีปัญหายากจนและทุกข์ยากจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล และนอกจากการตั้งข้อหาและจับกุมผู้สื่อข่าวแล้ว รัฐบาลอินเดียยังพยายามขออำนาจจากศาลฎีกาเพื่อตรวจเซ็นเซอร์เนื้อหาข่าวของสื่อมวลชนก่อนออกเผยแพร่ด้วย อย่างไรก็ตามศาลฎีกาของอินเดียได้บอกปัดคำร้องของรัฐบาล

'อลิยา อีฟติการ์' นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียของ CPJ กล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียและโดยเฉพาะในอินเดียมีการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นทุนเดิม การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเหตุผลข้ออ้างที่สนับสนุนให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้นำมาใช้เพื่อควบคุมการรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผล เรื่องการควบคุมข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 นั้นมักถูกใช้เป็นข้ออ้างมากกว่าที่จะมีเจตนาใช้เพื่อจำกัดข่าวปลอม

ด้านราวี ปราสาด เสริมว่า ข่าวปลอมกับข้อมูลที่ถูกบิดเบือนนั้นมักจะถูกเผยแพร่ไปไกลและตรวจสอบควบคุมได้ยากกว่าถ้าปราศจากการรายงานข่าวที่ถูกต้องตามเนื้อหาข้อเท็จจริงโดยสื่อมวลชน

ที่มา VOA